posttoday

แนะไทยปัดฝุ่นโครงสร้างภาษีรับเปิดเสรี

29 ตุลาคม 2556

PwC แนะไทยปัดฝุ่นโครงสร้างภาษี รับเปิดเสรี เพิ่มศักยภาพแข่งขัน หลังรูปแบบการค้าการลงทุนเปลี่ยนแปลง

PwC แนะไทยปัดฝุ่นโครงสร้างภาษี รับเปิดเสรี เพิ่มศักยภาพแข่งขัน หลังรูปแบบการค้าการลงทุนเปลี่ยนแปลง

นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) กล่าวในงานสัมมนากฎหมายและภาษีประจำปีครั้งที่ 15 MSV: Equipping yourself with the right tools for a world of changes (ติดอาวุธความรู้ด้านภาษี มุ่งสู่วิถีการเปลี่ยนแปลงของโลก) ว่า แนวโน้มการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกจะยังคงมีทิศทางที่อ่อนแอในระยะข้างหน้าเนื่องจากผลกระทบจากความผันผวนของวิกฤตทางการเงินในตลาดพัฒนาแล้ว อย่าง สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (อียู) จะยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีความไม่ชัดเจนเรื่องงบประมาณปี 57 และการขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯที่ฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภค ซึ่งต้องติดตามดูข้อสรุปกันในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.ปีหน้า อีกทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวลง

“ภาพรวมที่เกิดขึ้นในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมาคือ ประเด็นในเรื่องของการวางแผนภาษี (Tax planning) เราจะเห็นได้ว่า การวางแผนภาษีโดยเฉพาะอย่างยิ่งของบรรดาบริษัทข้ามชาติหรือ MNC ทั่วโลก ได้กลายมาเป็นประเด็นที่ถูกตรวจสอบและมีการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลในหลายๆประเทศก็ได้มีความพยายามที่จะหาวิธีการจัดเก็บรายได้เพิ่มเติม รวมทั้งอุดช่องโหว่ของการกระทำใดๆที่อาจเข้าข่ายว่ามีการหลบเลี่ยงภาษี” นายศิระ กล่าว

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจโลก รวมทั้งวิธีการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ ๆ ยังจะส่งผลให้แนวโน้มของการวางแผนภาษีต้องเผชิญกับความท้าทายเพิ่มมากขึ้นในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ฉะนั้น การเตรียมการล่วงหน้าและเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการทำธุรกิจนั้นเบาบางลง

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมของไทยเพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเออีซีในต้นปี 59 นายศิระ เชื่อว่า ระบบของไทย พร้อมสำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพราะเห็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับกับวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม ไทยต้องเร่งปรับปรุงกฎระเบียบ ข้อกำหนดนโยบายต่างๆ ในเรื่องของการจัดการโครงสร้างภาษีเพราะยังมีช่องว่างระหว่างกันมาก และควรทำให้ระบบเหล่านี้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกรรมของภาคธุรกิจ

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องเตรียมตัวควบคู่กันไป เช่น การวางแผนโครงสร้างทางภาษีของบริษัท โครงสร้างการเก็บอัตราภาษีที่ต่างกัน บริษัทควรถือหุ้นตรง หรือตั้งบริษัทโฮลดิ้งที่ประเทศใด เพราะเมื่อมีธุรกรรมข้ามประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินปันผลหรือกำไรกลับประเทศ การคิดอัตราภาษีและเงื่อนไขข้อบังคับที่ต่างกันของแต่ละประเทศ ล้วนมีผลต่อผลประกอบการของบริษัททั้งสิ้น

ด้าน นายถาวร รุจิวนารมย์ หัวหน้าหุ้นส่วนกรรมการอาวุโส และกรรมการบริหาร สายงานภาษีและกฎหมาย กล่าวว่า กรมสรรพากรไทยกำลังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างภาษีของประเทศใหม่ทั้งหมดเพื่อเตรียมตัวก้าวเข้าสู่เออีซี และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งช่วยเสริมสร้างบรรยากาศในการลงทุนจากต่างชาติ แต่การมุ่งที่จะปรับลดอัตราภาษีเพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอ โดยมองว่าจะต้องมีการพิจารณาปรับใช้ระบบภาษีและกฏระเบียบใหม่ๆ ที่ไม่ซับซ้อน และเป็นไปในทิศทางเดียวกันควบคู่ไปด้วย

“การเปลี่ยนแปลงหลักๆ ที่เราเห็นในช่วงที่ผ่านมา คือการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้จัดเก็บที่ 20% เพื่อส่งเสริมการลงทุน   นอกจากนี้ รัฐบาลยังปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเพิ่มขั้นอัตราในการคำนวณเงินได้สุทธิจาก 5 ขั้น เป็น 7 ขั้น และลดอัตราภาษีเงินได้ขั้นสูงสุดจาก 37% เป็น 35% เพื่อสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและลดภาระให้แก่ผู้เสียภาษีโดยรวม ในขณะที่อัตราเฉลี่ยของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอาเซียนอยู่ที่ราว 31%” นายถาวร กล่าว

ทั้งนี้ ร่างการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผ่านการเห็นชอบจากครม.ตั้งแต่เดือนก.ค. ที่ผ่านมา และน่าจะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปี 57 การลดภาษีนี้ จึงจะมีผลบังคับใช้ย้อนหลังครอบคลุมเงินได้ทั้งปี 56 ทำให้ผู้เสียภาษีได้รับการคืนภาษีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า เพราะ การหักภาษี ณ ที่จ่ายในปี 56 ยังไม่ได้สะท้อนอัตราภาษีใหม่ที่ลดลง

“การปรับลดอัตราภาษีดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเงินได้นิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดานั้น ย่อมส่งผลให้รัฐฯสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก แต่ในทางกลับกันก็จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยได้อีกทาง อย่างไรก็ดี ผมมองว่า โครงสร้างภาษีของเราในปัจจุบันยังมีจุดอ่อน ภาษีจากฐานรายได้มีการเปลี่ยนแปลงลดลง สวนทางกับที่รัฐบาลต้องใช้จ่ายสูง ซึ่งหากการเก็บรายได้ ไม่พอ จะทำให้ประเทศเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้นและอาจทำให้งบประมาณสมดุลไม่เป็นไปตามเป้าที่กำหนดได้” เขากล่าว

นายถาวรยังกล่าวต่อว่า ยังมีอีกหลายแง่มุมที่กรมสรรพากรควรพิจารณาในการวางแผนการปฏิรูปภาษี เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่องรวมทั้งหาแนวทางในการรักษากระแสเงินสดไว้ให้อยู่ภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลดอุปสรรคทางการค้า หรือสนับสนุนผู้ประกอบการชาวไทยที่ต้องการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ (เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการลงทุนในต่างประเทศ การส่งสินค้าออกตามมาตรา 70 ตรี ฯลฯ)

“นอกเหนือไปจากการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น ประเด็นการตั้งทุนต่ำ (Thin Capitalisation) การกักเก็บกำไรไว้ในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Controlled Foreign Corporation) และมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีเป็นการทั่วไป (General Anti-Avoidance Rules) เพื่อป้องกันไม่ให้เราสูญเสียรายได้จากการวางแผนภาษีที่มิชอบ” นายถาวรกล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่รัฐฯต้องตระหนักคือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อทั้งภาคการคลัง ความพอเพียงของรายได้ การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ในมุมมองของผม รัฐบาลมาถูกทางในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจด้วยการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เนื่องจากภาษีทั้งสองประเภทเป็นภาษีที่จัดเก็บจากรายได้ของทั้งครัวเรือนและธุรกิจต่างๆ แต่คำถามที่ผู้วางนโยบายต้องตอบโจทย์ให้ได้ก็คือ จะมีวิธีการอย่างไรในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้เสียภาษีเสียภาษีครบถ้วน และให้มาตรการลดหย่อนภาษีประเภทต่างๆเหล่านี้ ไม่ก่อภาระให้ภาคธุรกิจในภายหลัง รวมทั้งคุ้มค่ากับรายได้ภาษีที่สูญเสียไป