posttoday

ตลาดรถชะลอแต่สินเชื่อรถกสิกรไทยยังโต

29 ตุลาคม 2556

ลีสซิ่งกสิกรไทย โชว์ผลงาน 9 เดือน ปล่อยสินเชื่อกว่า 5.5 หมื่นล้าน บุกตลาดบิ๊กไบค์ฉีกตลาดรถชะลอ ชี้ไม่มีแนวโน้มลดดอกเบี้ย

ลีสซิ่งกสิกรไทย โชว์ผลงาน 9 เดือน ปล่อยสินเชื่อกว่า 5.5 หมื่นล้าน บุกตลาดบิ๊กไบค์ฉีกตลาดรถชะลอ ชี้ไม่มีแนวโน้มลดดอกเบี้ย

นายอัครนันท์ ฐิตสิริวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกปี 2556 บริษัทฯ ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์ใหม่ได้ 55,732 ล้านบาท ทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 86,809 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 96,794 ล้านบาท หรือคิดเป็น 89.68% ของเป้าหมาย และมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 0.83% มีกำไร 274 ล้านบาท และเมื่อตั้งสำรองพิเศษเพื่อรองรับความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ 9 เดือนบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 115 ล้านบาท

สำหรับแผนการดำเนินงานในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2556 ตลาดรถยนต์ยังคงอยู่ในช่วงชะลอตัวจากผลกระทบด้านการส่งมอบรถในโครงการรถยนต์คันแรกสิ้นสุดลง อีกทั้งแรงกดดันด้านราคาในตลาดรถยนต์มือสองที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ลีสซิ่งกสิกรไทย จึงเน้นทำการตลาดในกลุ่มรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ (Big Bike) ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมาก จากการที่ค่ายรถจักรยานยนต์ต่างประเทศทยอยมาตั้งโรงงานผลิตในไทยเพื่อรองรับเออีซี ส่งผลให้ราคาขายบิ๊กไบค์ถูกลง รวมทั้งมีกลุ่มเป้าหมายที่นิยมบิ๊กไบค์มากขึ้น ส่วนใหญ่มีรายได้สูง ชอบการเดินทางท่องเที่ยว โดยคาดว่าตลาดรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ปีนี้น่าจะมีไม่ต่ำกว่า 70,000 คัน เติบโตจากปีที่แล้วประมาณ 45%

ด้านนายอิสระ วงศ์รุ่ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มสินเชื่อเช่าซื้อในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2556 จะเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงและคาดว่าจะต่อเนื่องถึงครึ่งแรกปี 2557 การส่งเสริมการขายของค่ายรถยนต์ อาทิ ดอกเบี้ย 0% ผ่อนนาน ดาวน์ต่ำ จะเป็นส่วนช่วยประคองตัวเลขยอดขายรถยนต์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้ แต่สถาบันการเงินยังระมัดระวังในการพิจารณาเครดิตของลูกค้าเพื่อควบคุมความเสี่ยงในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและภาระหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น คาดว่า ยอดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ตลอดปี 2556 จะเติบโต 18% จากปีก่อน เทียบกับการเติบโตถึง 34% ในปี 2555

อย่างไรก็ตาม ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสสุดท้าย แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงทรงตัวที่ระดับ 2.5%  แต่สภาพคล่องทางการเงินที่ทยอยตึงตัวขึ้น ขณะที่ การแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อที่ดำเนินมาติดต่อกันนานกว่า 5 ปี ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อจัดเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุด โดยผู้ประกอบการมีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่น้อยมากอยู่แล้ว ทำให้โอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อเป็นการทั่วไปจะยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้