posttoday

ชี้การส่งออกตลาด RCEP สดใส

12 ตุลาคม 2556

กรอบความตกลง RCEP เพิ่มโอกาสการส่งออกไทย คาดปีนี้ส่งออกไปตลาดนี้ไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

กรอบความตกลง RCEP เพิ่มโอกาสการส่งออกไทย คาดปีนี้ส่งออกไปตลาดนี้ไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง ASEAN Summit 2013: เกาะติดความคืบหน้า RCEP โดยระบุว่า ในปี 2556 นับเป็นปีแรกของการเจรจา “กรอบความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP” (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งล่าสุดในวาระการประชุม ASEAN Summit 2013 ระหว่างวันที่ 9-10 ตุลาคม ณ ประเทศบรูไน จะมีการประชุม RCEP Summit เพื่อติดตามความคืบหน้าของการประชุมกรรมการเจรจา RCEP ที่จัดขึ้นไปแล้ว 2 ครั้งในปีนี้  โดยจากผลการประชุมความคืบหน้าล่าสุด สรุปได้ว่า กรอบ RCEP จะมุ่งไปสู่การเปิดตลาดในขอบข่ายและเงื่อนไขเดียวกันแก่สมาชิกทุกประเทศ เน้นหนักการเปิดตลาดการค้าที่กว้างขึ้นกว่าระดับการเปิดตลาดระดับ ASEAN +1 ของทั้ง 6 คู่เจรจา (ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) โดยจะเร่งสรุปผลการเจรจาภายในปี 2558 เพื่อก้าวสู่การเปิดเสรีในปี 2559  แม้ก้าวย่างการเจรจายังอยู่ในระยะเริ่มแรก แต่ตลาด RCEP ในขณะนี้ นับเป็นตลาดมีบทบาทต่อไทยอย่างมาก ทั้งในแง่ของการเป็นตลาดและแหล่งลงทุนที่สำคัญ และทวีความสำคัญมากขึ้นนับจากนี้ ด้วยศักยภาพด้านขนาดเศรษฐกิจใหญ่ถึงร้อยละ 28 ของ GDP โลก เพิ่มน้ำหนักความน่าสนใจให้แก่ซีกโลกฝั่งตะวันออกมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นตลาดที่มีจำนวนประชากรราวครึ่งโลกด้วยจำนวนสูงถึง 3,300 ล้านคน ซึ่งความคืบหน้าในการโยงใยเศรษฐกิจระหว่างกันของ 16 ประเทศสมาชิก นับเป็นโอกาสที่ไทยควรติดตามต่อเนื่องเพื่อสร้างประโยชน์จากกรอบการรวมกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่อันดับต้นๆ ของโลกนี้

RCEP…ปลายทางการส่งออกครองส่วนแบ่งสูงถึงร้อยละ 57 ของการส่งออกรวมของไทย

ชี้การส่งออกตลาด RCEP สดใส

หากเปรียบเทียบกรอบการค้าเสรีของไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะพบว่ากรอบการค้าเสรีอาเซียนที่จะเข้าสู่  AEC เป็นการเปิดตลาดครอบคลุมที่สุดของไทย ขณะที่กรอบการค้าเสรีอาเซียน – จีน ก็เป็นอีกด้านที่ช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างเวทีอาเซียนกับคู่ภาคีทั้ง 6 ได้แนบแน่นที่สุดเช่นกัน โดยมีการเปิดตลาดสินค้าได้ครอบคลุมมากกว่ากรอบอาเซียนกับคู่เจรจาทั้ง 6 ประเทศ โดยต่อยอดเป็น RCEP ได้ผสานหลายมิติในการเข้าถึงตลาดเข้าร่วมเป็นประเด็นการเจรจา อาทิ การลดอุปสรรคทางการค้า การบริการ การลงทุน รวมถึงนโยบายการแข่งขัน และประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญา จึงทำให้ RCEP มีนวัตกรรมการเปิดเสรีการค้าที่น่าสนใจ

สมาชิกทั้ง 16 ประเทศที่ร่วมเจรจา RCEP มีบทบาทช่วยเกื้อกูลภาคการส่งออกของไทยมาโดยตลอด ซึ่งค่อยๆ ขยับน้ำหนักความสำคัญขึ้นมาจนสูงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกไทยที่ไปยังตลาดโลกตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา และได้แรงหนุนการทยอยเปิดเสรีระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาแต่ละประเทศเป็นนับตั้งแต่ปี 2553  ผลักดันสัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นสูงแตะร้อยละ 57 ในปัจจุบัน ซึ่งการกระชับความสัมพันธ์ในกรอบการค้า RCEP ร่วมกันอย่างเป็นทางการในระยะข้างหน้า น่าจะยิ่งเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทยอย่างน่าจับตาโดยในภาพรวมการส่งออกของไทยไป RCEP ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2556 มีมูลค่า 87,312 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ยังคงเติบโตค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับภาพรวมของไทยเติบโตเพียงร้อยละ 1.0 (YoY) เน้นย้ำการเป็นตลาดที่สำคัญยิ่งของไทยสำหรับสินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งออกไป RCEP โดยเฉพาะรถยนต์/ส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก คอมพิวเตอร์/ส่วนประกอบ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก เครื่องจักรกล และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

และ แน่นอนว่า “อาเซียน” และ “จีน” ซึ่งเป็นสมาชิกในกลุ่ม RCEP ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อไทยอย่างมาก ด้วยศักยภาพการเป็นทั้งกลุ่มเศรษฐกิจและตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของไทยในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับมาจะพบว่ากุญแจสำคัญที่ช่วยหนุนนำการขยายการค้าในตลาดอาเซียนและจีน ล้วนมาจากการเปิดเสรีภายใต้กรอบการค้าอาเซียนและกรอบการค้าเสรีอาเซียน – จีน เสริมให้ทั้งสองตลาดมีความโดดเด่นมากขึ้นเรื่อยมา ดังนั้น เมื่อกรอบ RCEP บรรลุเป้าหมายในการเปิดตลาดระหว่างกัน ก็น่าจะเอื้ออานิสงส์ต่อการค้าของไทยกับประเทศเหล่านี้เหนียวแน่นยิ่งขึ้นด้วย

                           การส่งออกของไทยไป RCEP ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2556
                           และบทบาทของแต่ละประเทศในฐานะตลาดที่สำคัญ

ชี้การส่งออกตลาด RCEP สดใส

 

ชี้การส่งออกตลาด RCEP สดใส

แม้จะยังไม่ถึงปี 2559 ที่เป็นปีเป้าหมายของการเปิดตลาด RCEP แต่ในปัจจุบันสินค้าไทยหลายรายการก็พึ่งพา RCEP เป็นตลาดส่งออกหลักที่สำคัญด้วยสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 80 ของการส่งออกในแต่ละรายการ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องปรับอากาศ/ส่วนประกอบ เครื่องดื่ม ทองแดง ปูนซิเมนต์ เนื้อปลาสดแช่เย็น/แช่แข็ง แร่ยิปซั่ม นม/ผลิตภัณฑ์ เป็นต้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการเติบโตขององค์ประกอบเศรษฐกิจภายในของแต่ละประเทศ ทั้งจากการขยายตัวของบริโภคและการลงทุนของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่เป็นแรงดึงหลักในขณะนี้ รวมถึงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ที่ยังคงขยายตัวอยู่ แม้ว่าบางประเทศจะชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลกก็ตาม

หากมองไปในระยะข้างหน้าเมื่อรวมตัวกันเปิดตลาดกว้างขึ้นในปี 2559 นอกจากประเด็นด้านการค้าแล้ว ประเด็นด้านอื่นๆ น่าจะได้รับอานิสงส์จากการเปิดตลาดลดอุปสรรคทั้งด้านการลงทุน การค้าสินค้าบริการต่างๆ ตามมา อันจะช่วยขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกในกลุ่มได้สูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ RCEP นับว่าเป็นที่มาของเม็ดเงินลงทุนมหาศาลของไทย อีกทั้งยังสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวแก่ไทยไม่น้อย

เม็ดเงินจาก RCEP สร้างทั้งการจ้างงาน และหนุนนำรายได้สู่ท้องถิ่น

การเปิดตลาด RCEP ในระยะข้างหน้าจะเอื้อประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติสามารถเดินหน้าขยายการลงทุนในประเทศสมาชิก เคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตระหว่างสมาชิกในกลุ่มได้โดยสะดวก ผลักดันเครือข่ายการผลิตในภูมิภาคมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นจากปัจจุบันที่ประเทศในกลุ่ม RCEP ก็มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในฐานะนักลงทุนและแหล่งรายได้จากการท่องเที่ยวที่สำคัญไม่น้อย

--> การเจรจา RCEP มีแนวทางครอบคลุมการลงทุน อันจะช่วยเสริมความสัมพันธ์กับไทยชัดเจนมากขึ้น จากที่สมาชิก RCEP มีบทบาทการลงทุนในไทยสูงถึงร้อยละ 66.8 ของการลงทุนจากต่างประเทศในไทย มีมูลค่าสูงถึง 3.49 แสนล้านบาท (จากยอดอนุมัติการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2556) โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่เป็นนักลงทุนรายสำคัญมาช้านานครองสัดส่วนถึงร้อยละ 55 จ้างแรงงานไทยกว่า 6 หมื่นคน ตามมาด้วยนักลงทุนอาเซียนครองส่วนแบ่งถึงร้อยละ 9.3 (มาเลเซียและสิงคโปร์ ตามลำดับ) สำหรับนักลงทุนจีนแม้ว่าจะมีสัดส่วนไม่สูงนักเพียงร้อยละ 1.1 แต่ยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องสะท้อนความสนใจของนักลงทุนจีนในไทยที่มีแนวโน้มขาขึ้น

ชี้การส่งออกตลาด RCEP สดใส

--> การเดินทางท่องเที่ยวมายังไทยคึกคัก สร้างรายได้กว่า 3.8 แสนล้านบาท ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 28 (YoY) สอดคล้องกับมียอดนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27 (YoY) จำนวนนักท่องเที่ยวแตะกว่า 11.7 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 63.5 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งในระยะข้างหน้านักท่องเที่ยวจาก RCEP มีแนวโน้มเติบโตตามภาพการค้าและการลงทุน ส่วนหนึ่งเป็นการเดินทางมาติดต่อธุรกิจในไทยด้วย

ในระยะข้างหน้ากลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวน่าจะมีบทบาทต่อการท่องเที่ยวของไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ขณะนี้คึกคักอย่างน่าจับตา ซึ่งได้อิทธิพลจากกระแสวัฒนธรรมไทยผ่านทางละครและภาพยนตร์ นอกจากนี้ ทางการไทยอนุญาตให้ 10 ประเทศในกลุ่ม RCEP เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยโดยไม่ต้องขอวีซ่า (Visa) ก็อาจมีส่วนช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม เป็นต้น

โดยสรุป การเจรจาการค้า RCEP แม้จะยังไม่เปิดเสรีอย่างเป็นทางการแต่ในความเป็นจริงแล้วกรอบดังกล่าวที่ต่อยอดจากอาเซียนกับคู่เจรจาก็ได้เปิดเสรีในด้านการค้าไปแล้ว จึงช่วยเสริมภาพความสำคัญด้านการค้าของไทยกับประเทศในกลุ่มประจักษ์ชัดเจนเรื่อยมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะนับจากนี้ไปประเทศกลุ่ม RCEP จะทวีความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจกับไทยในลักษณะเกื้อกูลกันโดยเฉพาะในด้านการค้าคาดว่าในปี 2556 น่าจะเติบโตที่ร้อยละ 2.5 แตะมูลค่ากว่า 1.31 แสนล้านดอลลาร์ฯ โดยมีกรอบประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 1.7-3.2 มูลค่าการส่งออก 1.30 – 1.32 แสนล้านดอลลาร์ฯ

นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้าการขยายการเปิดตลาดไปในส่วนของการลงทุน การบริการ และด้านอื่นๆ จะเปิดกว้างขึ้นตามมาในปี 2559  เป็นที่แน่นอนว่ากรอบการค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้นย่อมช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของไทยกับประเทศสมาชิกในหลายแง่มุมที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยมีญี่ปุ่นคงบทบาทด้านการลงทุนชัดเจนสร้างเม็ดเงินอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จีนนอกจากจะมีความสำคัญด้านการค้าแล้วยังเร่งเครื่องการลงทุนอย่างน่าจับตา ผลักดันความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยกับสมาชิก RCEP เพิ่มสูงขึ้น