posttoday

มีหนี้เท่าไร ถึงเรียกว่ามากเกินไป

07 ตุลาคม 2556

โดย...ธีระ ภู่ตระกูล CFP นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย / [email protected]

โดย...ธีระ ภู่ตระกูล CFP นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย / [email protected] 

ในยามที่หนี้ครัวเรือนในประเทศอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างในปัจจุบันที่ 80% ของ GDP ประเด็นที่หลายคนกังวล คือ มีหนี้สักเท่าไร จึงจะเรียกว่ามากเกินไปหรือมากเกินตัว หนี้ประเภทไหน ที่น่าจะจัดการด้วยการใช้เครดิต แทนที่จะจ่ายเงินสด เพื่อช่วยให้ท่านตัดสินใจได้ถูกต้องในเรื่องการก่อหนี้ส่วนบุคคล หรือ Personal Debt บทความนี้จะแสดงให้เห็นว่าระดับของการผ่อนหนี้บ้าน รถยนต์ บัตรเครดิต และการเรียนควรอยู่ในอัตราเท่าใด จึงจะเรียกว่าเหมาะสม รวมทั้งจะอธิบายวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการหนี้ส่วนตัวของท่านด้วย

ในโลกแห่งการบริโภคนิยมนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ทีเดียวที่คนเราจะดำรงชีวิตในสังคมเมืองโดยไม่มีการก่อหนี้ คนส่วนใหญ่ของสังคมไม่สามารถจ่ายค่าซื้อบ้านเป็นเงินสด หรือซื้อรถด้วยเงินสด จ่ายค่าเล่าเรียนบุตรหลานเป็นเงินสด (ยกเว้นกรณีส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อต่างประเทศ ซึ่งจะต้องชำระเงินสดในสกุลเงินต่างประเทศ) แต่พวกเราส่วนใหญ่ก็มักจะปล่อยให้มีหนี้สินบานตะไท จนไม่สามารถจัดการได้ตามหลักของการบริหารการเงินที่ดีนั้น ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าภาระหนี้ที่เป็นระยะยาวต่อเดือนควรมีไม่เกิน 36 เปอร์เซ็นต์ ของรายรับต่อเดือน ตัวเลขนี้เป็นสิ่งที่นายธนาคารจะให้ความสำคัญ เมื่อพิจารณาความน่าเชื่อถือทางการเงินของลูกหนี้

อย่างไรก็ดี หากมองในอีกขั้วหนึ่ง การไม่มีหนี้สินเลยก็ถือเป็นวิธีบริหารการเงินที่ไม่ชาญฉลาดเท่าใดนัก แม้เป็นเรื่องฉุกเฉินก็เถอะ เพราะคุณจะต้องจ่ายเงินสดสำรองของคุณออกไปแทนที่จะใช้เครดิตได้ ความท้าทายตรงนี้อยู่ที่ว่า การเรียนรู้ที่จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้องว่าค่าใช้จ่ายประเภทใดที่ควรจะชำระด้วยการก่อหนี้ และประเภทใดที่ไม่ควร จากนั้นก็บริหารเงินที่คุณกู้ยืมมาให้ถูกต้องเหมาะสม ก่อนไปดูรายละเอียดเรื่องนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านลองทำแบบสอบถาม 8 ข้อนี้ เพื่อดูว่ามีปัญหาเรื่องการบริหารหนี้ส่วนตัวหรือไม่?

1.เงินค่างวดต่างๆ เช่น สินเชื่อบ้านของคุณ รวมเบี้ยประกันด้วยนั้น มากกว่า 28 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ขั้นต้นประจำแต่ละเดือนของคุณหรือไม่?
 (ก) ใช่ (5 คะแนน)
 (ข) ไม่ใช่ (0 คะแนน)

2.เงินค่าผ่อนรถยนต์ของคุณมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้สุทธิประจำเดือนหรือไม่?
 (ก) ใช่ (5 คะแนน)
 (ข) ไม่ใช่ (0 คะแนน)

3.เทียบยอดหนี้ในบัตรเครดิตแต่ละใบกับเพดานวงเงินที่ได้รับอนุมัติ เสร็จแล้วเทียบยอดหนี้รวมของบัตรเครดิตกับเพดานวงเงินรวมที่ได้รับอนุมัติให้ใช้
 (ก) แต่ละบัญชีมียอดหนี้ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ (0 คะแนน)? (ข) แต่ละบัญชีมียอดหนี้เกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ (5 คะแนน)? (ค) ยอดหนี้รวมทุกบัตรเครดิตมีมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของเพดานวงเงินที่ได้รับอนุมัติ (15 คะแนน)

4.รวมตัวเลขการจ่ายค่างวดและค่าผ่อนชำระต่างๆ ประจำเดือนทั้งหมดเข้าด้วยกัน แล้วหารด้วยรายรับขั้นต้นในแต่ละเดือนของคุณ เพื่อที่จะดูว่าคุณมีหนี้อยู่กี่เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นร้อยละเท่าไร?
 (ก) น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ (0 คะแนน)? (ข) 30-35 เปอร์เซ็นต์ (5 คะแนน)? (ค) 36-40 เปอร์เซ็นต์ (10 คะแนน)? (ง) มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ (20 คะแนน)

5.คุณมีเงินสำรองฉุกเฉินในวงเงินที่มีค่าเท่ากับยอดชำระหนี้เป็นเวลา 3 เดือนหรือไม่ ซึ่งต้องรวมตัวเลขค่าใช้จ่ายของคุณด้วยนะ
 (ก) ไม่มี (10 คะแนน)? (ข) มีพอชำระแค่ 1-2 เดือนเท่านั้น (5 คะแนน)? (ค) ใช่ (0 คะแนน)

6.คุณเคยชำระหนี้ช้ากว่าปกติหรือไม่ช่วง 6 เดือนก่อน?
 (ก) เคย (10 คะแนน)
 (ข) ไม่เคย (0 คะแนน)

7.ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คุณเคยมองคิดทำรีไฟแนนซ์และคำนวณว่าจะประหยัดเงินได้สักเท่าไร หรือไม่?
 (ก) ไม่เคย (10 คะแนน)
 (ข) เคย (0 คะแนน)

8.เคยตรวจสอบรายงานเครดิตของตัวเองหรือไม่ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา?
 (ก) ไม่เคย (10 คะแนน)
 (ข) เคย (0 คะแนน)
คุณได้คะแนน = ?

ถ้าได้ต่ำกว่า 10 ก็ไม่ต้องอ่านตอนต่อไป เพราะสามารถบริหารหนี้ของคุณได้ยอดเยี่ยมแล้ว ถ้าคะแนนออกมา 15-30 คะแนน ยังถือว่าบริหารหนี้ส่วนตัวได้ดี แต่ต้องระมัดระวังรอบคอบสักหน่อย? ส่วนคนที่ได้มากกว่า 30 ขึ้นไป แนะนำว่าคุณควรจะอ่านข้อเขียนของผมต่อ เพราะแววว่ากำลังเผชิญหน้าปัญหาหนี้แบบแก้ไม่ตกเสียแล้ว

โดยทั่วไปการตัดสินใจที่จะก่อหนี้ยืมสินมักไม่ได้มีเหตุมาจากประเด็นที่ว่าคุณมีเงินสดมากน้อยเท่าไร แต่จะมาจากเหตุผลที่ว่ามันมีลู่ทางอะไรไหมที่จะทำให้เงินงอกเงยขึ้นมาได้อีกบ้างในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมากอย่างตอนนี้ คุณลองคำนวณเล่นๆ ดูซิว่าคุณมีค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยเงินกู้สักเท่าไร เทียบกับว่าคุณจะได้ดอกผลเท่าไร หากเอาเงินจำนวนเดียวกันนี้ไปลงทุน ถ้าคุณคิดว่าคุณสามารถสร้างผลตอบแทนจากการนำเงินสดของคุณเองไปลงทุนให้งอกเงยขึ้นมามากกว่าที่คุณจะต้องจ่ายดอกเบี้ยและก็กู้มาลงทุนดูจะคุ้มมากกว่านะ ต่อไปนี้คือเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ในการสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดจากการมีหนี้ส่วนตัว

หนี้สินรวม

ผู้ปล่อยกู้โดยทั่วไปมักจะมีธรรมเนียมปฏิบัติ ว่าจะอนุมัติวงเงินสินเชื่อโดยไม่ให้ลูกหนี้ต้องมีภาระการส่งค่างวดมากเกินกว่า 28 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ขั้นต้น และภาระการชำระหนี้ต่อเดือนก็ต้องไม่ให้เกินกว่าอัตรา 36 เปอร์เซ็นต์ของรายได้สุทธิ อย่างไรก็ดี ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมากเป็นประวัติการณ์อย่างในเวลานี้ ผู้ให้กู้ก็ยอมที่จะปล่อยวงเงิน ซึ่งก็ทำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้รวมอยู่ระหว่าง 40-50 เปอร์เซ็นต์ แต่คำถามใหญ่ก็คือ คุณยินดีที่จะก่อหนี้มากขนาดนั้นหรือไม่? วิธีที่จะมองว่าคุณควรจะมีหนี้สักเท่าใด ก็คือพิจารณาการบริหารรายได้ของคุณ หากคุณจ่ายค่าภาษีเงินได้ 28 เปอร์เซ็นต์ คุณก็มีเงินออมในระดับที่แข็งแรงพอ คือ 15 เปอร์เซ็นต์ และคุณมีการผ่อนชำระหนี้รายเดือนอีก 40 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นคุณก็จะมีเงินติดมือสำหรับจับจ่ายใช้สอยในอัตรา 20 เปอร์เซ็นต์ คุณคิดว่านี่เป็นการแบ่งสันปันส่วนที่ทำให้คุณดำรงชีวิตอยู่ได้หรือไม่ ขอบอกตามตรงว่า โดยหลักการที่เป็นที่ยึดถือกันโดยทั่วไปแล้ว ภาระหนี้ที่มีมากกว่าอัตรา 40 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ขั้นต้นของแต่ละเดือน ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าคุณกำลังเข้าสู่สถานการณ์วิกฤตในการบริหารเงินแล้ว

ผ่อนหนี้บ้าน

การที่คนเราจะจ่ายเงินค่าซื้อบ้านเป็นเงินสดนั้น ถือว่ามีความเป็นไปได้หรือมีโอกาสน้อยมาก เว้นเสียแต่ว่าคุณเป็นมหาเศรษฐี ดังนั้นเมื่อคุณจะไปขอสินเชื่อซื้อบ้าน มันก็มีเหตุผลอยู่หากคุณต้องการวางเงินดาวน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่ว่าคุณจะได้จ่ายดอกเบี้ยน้อย แต่การทำแบบนี้ก็ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดเสมอไป คุณควรจะพิจารณาแง่มุมอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น คุณจำเป็นต้องมีการสำรองเงินสดไว้เท่าไร หรือเงินที่คุณเอาไปลงทุนไว้ได้ดอกผลเท่าไร แม้โดยทั่วไปสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านจะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อประเภทอื่นๆ และคุณยังเอาไปคำนวณลดภาษีได้ด้วย แต่การเอาเงินสดทั้งหมดไปวางดาวน์บ้านก็ไม่ถือว่าเป็นวิธีที่ฉลาดนัก และคุณยังมีภาระหนี้ด้านอื่นๆ อีก อัตราการวางเงินดาวน์ที่เหมาะสมอยู่ที่ 20-30 เปอร์เซ็นต์ของราคาบ้าน และก็ถือเป็นหลักปฏิบัติทั่วไปของการขอสินเชื่อซื้อบ้านด้วย

เงินกู้เพื่อการศึกษา

เมื่อถึงเวลาที่คุณต้องจ่ายค่าเล่าเรียนบุตรหลานในระดับอุดมศึกษา การอนุญาตให้พวกเขากู้เงินมาเรียนก็เป็นวิธีคิดที่น่าสนใจ น่าจะดีกว่าที่คุณต้องขายสินทรัพย์หรือกู้จากกองทุนบำนาญของคุณ เหตุผลที่น่าจะทำอย่างนั้นก็คือมีแหล่งเงินกู้เพื่อการศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก แต่จะไม่มีใครยอมปล่อยกู้เพื่อให้คุณเอาเงินไปใช้ยามเกษียณอายุเป็นแน่ จริงๆ แล้ววิธีจัดการที่ดีที่สุดก็คือ การเก็บหอมรอมริบให้ได้มากที่สุด เพื่อเอาไว้ใช้เป็นทุนการศึกษาให้ลูกเก็บได้เท่าไรก็เท่านั้น ส่วนที่ขาดก็ให้ลูกๆ ไปกู้ยืมเอาได้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีเงินกู้สำหรับนักเรียนนักศึกษาหรือมีทุนการศึกษา โดยทั่วไปผู้กู้ที่เป็นนักศึกษาสามารถส่งค่างวดได้ในอัตรา 12 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ แต่หากคุณเป็นผู้ปกครองจะต้องกู้เพื่อจ่ายค่าเล่าเรียนลูกเท่าไร เป็นเรื่องยากที่จะบอกอัตราส่วนได้ชัดเจน มันเป็นเรื่องที่จะต้องทำให้เกิดสมดุล แต่หลักใหญ่ใจความก็อยู่ที่ว่าคุณต้องชำระหนี้เงินกู้ประเภทนี้ให้หมดก่อนที่คุณจะถึงเวลาเกษียณอายุ

ผู้อ่านสามารถส่งคำถามเกี่ยวกับการเงินส่วนบุคคลให้ผมได้ที่ [email protected]