posttoday

คาดเงินสะพัดกรุงช่วงกินเจ3,200ล้านบาท

01 ตุลาคม 2556

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินกินเจปี’ 56 เม็ดเงินใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่มเจสะพัดทั่วกรุงเทพฯ กว่า 3,200 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินกินเจปี’ 56 เม็ดเงินใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่มเจสะพัดทั่วกรุงเทพฯ กว่า 3,200 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานบรรยากาศช่วง “เทศกาลกินเจ” ซึ่งปีนี้ ตรงกับวันที่ 5-13 ตุลาคม 2556 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่สนใจจะกินเจน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคยังคงให้ความสำคัญกับการใส่ใจในสุขภาพ รวมถึงหันมาเลือกบริโภคอาหารเจแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในช่วงเทศกาลกินเจกันมากขึ้น เช่น กินเจในวันพระหรือวันเกิด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยกดดันทางด้านค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ก็อาจจะส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจของผู้บริโภคบ้างในบางกลุ่ม ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเจอาจจะต้องปรับกลยุทธ์ต่างๆ หรือเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภค

หลากปัจจัยหนุนคนกรุงฯ หันมากินเจมากขึ้น ... แต่เลือกกินเป็น “บางวันหรือบางมื้อ”

จากการสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในช่วงเทศกาลกินเจของปี 2556 นี้ คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ยังคงเลือกบริโภคอาหารเจ แต่ส่วนใหญ่เลือกที่จะบริโภคอาหารเจเป็นบางวันหรือบางมื้อตามความสะดวก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 44 ของผู้ที่ตอบแบบสอบถาม แต่เป็นที่สังเกตว่า สัดส่วนของคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่เลือกบริโภคอาหารเจบางมื้อมีสัดส่วนน้อยลง และหันไปกินเจทุกมื้อเพิ่มมากขึ้น (จากร้อยละ 20 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 27 ของผู้ที่ตอบแบบสอบถาม)

คาดเงินสะพัดกรุงช่วงกินเจ3,200ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ หันมาบริโภคอาหารเจมากขึ้น ได้แก่

กระแสรักสุขภาพ/ศรัทธาและรักษาศีล ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับเทศกาลกินเจมากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลากหลายทั้งเพื่อการทำตามประเพณี เพื่อรักษาสุขภาพ และตั้งใจทำบุญเพื่อชำระล้างกายใจ ส่งผลให้ผู้ถือศีลกินเจในแต่ละปีมีอัตราเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจลด ละ เลิกบริโภคเนื้อสัตว์ในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับแรงหนุนจากคนใกล้ตัว ครอบครัวและเพื่อนฝูง

การบริโภคอาหารเจสะดวก/เข้าถึงได้ง่ายขึ้น จากผู้ประกอบการที่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น ปัจจุบันการบริโภคอาหารเจมีความสะดวกมากขึ้น จากการเข้ามารุกตลาดของกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลกินเจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอาหารแปรรูป (อาหารเจสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป ทั้งในแบบแช่เย็น/แช่แข็ง) ผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร ทั้งที่เป็นภัตตาคาร โรงแรมและร้านอาหารตามสั่งทั่วไป ที่ในช่วงเทศกาลกินเจได้มีการเพิ่มจุดจำหน่ายและปรับเปลี่ยนการจำหน่ายอาหารให้เป็นเมนูอาหารเจมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะปัจจุบัน คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มีวิถีชีวิตแบบเร่งรีบ และกำลังเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น อาหารเจปรุงสำเร็จ/สำเร็จรูปก็จะตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากกว่าการซื้อมาประกอบอาหารเองที่บ้าน เพราะจะช่วยในเรื่องของความสะดวก หาซื้อได้ง่าย อีกทั้งยังประหยัดกว่า

จากปัจจัยหนุนดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจปี 2556 ได้แก่

- ธุรกิจจำหน่ายวัตถุดิบอาหารเจ ไม่ว่าจะเป็นผัก โปรตีนเกษตรและอาหารเจแห้งประเภทต่างๆ รวมไปถึงน้ำมันพืช ซึ่งจัดเป็นวัตถุดิบหลักที่มีความสำคัญในการประกอบอาหารเจ น่าจะมียอดขายที่เพิ่มขึ้น โดยลูกค้าหลักของธุรกิจนี้ ได้แก่ กลุ่มร้านอาหารต่างๆ ที่จำหน่ายอาหารเจ รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อไปประกอบอาหารเจรับประทานเองที่บ้าน

- ธุรกิจร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นภัตตาคาร โรงแรม ร้านอาหารตามสั่งทั่วไป รวมถึงร้านค้าแผงลอยที่มีอาหารเจปรุงสำเร็จขายน่าจะได้รับอานิสงส์ในช่วงเทศกาลกินเจเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจร้านอาหารดังกล่าว ก็อาจจะเผชิญกับคู่แข่งในกลุ่มธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ อาทิ ร้านค้าสะดวกซื้อที่มีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดกันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการออกเมนูอาหารเจที่หลากหลาย ในราคาประหยัดมาให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อรับประทานกันอย่างสะดวก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อยอดขายของธุรกิจร้านอาหารได้

- ธุรกิจร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม (อาหารเจสำเร็จรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว นมถั่วเหลือง เป็นต้น) ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ตหรือดิสเคาน์สโตร์ ซึ่งคาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้น และน่าจะตอบโจทย์ได้ดีกับพฤติกรรมของคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ใช้ชีวิตแบบเร่งรีบและไม่ค่อยมีเวลา เนื่องจาก ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงร้านค้าได้ง่าย โดยเฉพาะร้านค้าสะดวกซื้อที่มีสาขากระจายทั่วทุกพื้นที่ อีกทั้งยังมีสินค้าให้เลือกหลากหลายเมนู ทั้งที่เป็นอาหารเจสำเร็จรูปสำหรับมื้อหลักหรือของทานเล่น เช่น ขนม เครื่องดื่ม สำหรับมื้อรองระหว่างวัน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัจจัยหนุนโอกาสทางธุรกิจ ก็ยังมี ปัจจัยเสี่ยง อีกหลายประการที่อาจจะกดดันต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ รวมถึงการตัดสินใจที่จะเลือกบริโภคอาหารเจในช่วงเทศกาลกินเจ และอาจส่งผลกระทบต่อยอดขายของผู้ประกอบการในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ ไม่ว่าจะเป็น

ราคาสินค้าและวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ราคาสินค้าและวัตถุดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะพืชผัก เพราะนอกจากจะปรับสูงขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา ยังเป็นผลมาจากภาวะน้ำท่วมและฝนตกหนักที่ทำให้ในหลายพื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตรได้รับความเสียหาย และทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ในขณะที่สินค้าอื่นๆ อาทิ โปรตีนเกษตรและอาหารเจแห้งประเภทต่างๆ (เห็ดหอม ฟองเต้าหู้ เนื้อสัตว์เจ) ก็มีแนวโน้มปรับราคาขึ้นเช่นกันเฉลี่ยร้อยละ 15-20 จากราคาในช่วงนอกเทศกาลกินเจ

กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัว ผู้บริโภคมีความระมัดระวังการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากภาวะค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ตามค่าบริการสาธารณูปโภค อาทิ ค่าทางด่วน ค่าโดยสารรถไฟฟ้า ค่าไฟฟ้า รวมทั้งหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ปัจจัยด้านราคาเข้ามามีส่วนสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าเพื่อบริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภคในระดับกลาง-ล่าง ส่วนผู้บริโภคในระดับกลาง-บน ก็หันมาพิจารณาเลือกซื้อสินค้าที่มีความคุ้มค่าเพิ่มมากขึ้น

ความกังวลในเรื่องคุณค่าทางสารอาหารที่ไม่ครบถ้วน และน้ำหนักตัวที่อาจเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคบางกลุ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงอาจจะมีความกังวลในเรื่องของคุณค่าทางสารอาหารที่อาจไม่ครบถ้วน รวมถึงน้ำหนักตัวที่อาจจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากอาหารเจส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยแป้งและเป็นอาหารที่มีไขมันมาก อีกทั้งยังทำให้หิวเร็วขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกบริโภคอาหารเจได้

ธุรกิจเร่งทำกลยุทธ์ ... รับมือผู้บริโภค “เน้นประหยัด เลือกทาน”

จากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้บริโภคน่าจะระมัดระวังการใช้จ่าย “เน้นประหยัด และเลือกรับประทานอาหารมากขึ้น” ดังนั้น การทำกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องน่าจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างบรรยากาศในช่วงเทศกาลกินเจให้มีความคึกคัก และดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารเจเพิ่มมากขึ้น โดยกลยุทธ์การตลาดที่สำคัญสามารถสรุปได้ ดังนี้

คาดเงินสะพัดกรุงช่วงกินเจ3,200ล้านบาท

กล่าวโดยสรุปแล้ว บรรยากาศในช่วงเทศกาลกินเจของคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ปีนี้ แม้ว่าจะถูกกดดันจากปัจจัยทางด้านค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ถึงกระนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเจอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเป็นสินค้าที่มีความจำเป็น ประกอบกับคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ตั้งใจที่จะบริโภคอาหารเจในปีนี้ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้ภาพรวมของตลาดเจในปีนี้ยังคงเติบโต โดยธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์ในช่วงเทศกาลกินเจ ได้แก่ ธุรกิจจำหน่ายวัตถุดิบอาหารเจ ธุรกิจร้านค้าปลีก และธุรกิจร้านอาหาร เป็นต้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ตลอดช่วงเทศกาลกินเจในปี 2556 ของคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จะมีเม็ดเงินใช้จ่ายทางด้านอาหารและเครื่องดื่มเจสะพัดกว่า 3,200 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 (YoY) หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 200 บาทต่อคนต่อวัน โดยเหตุผลหลักมาจากจำนวนคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่กินเจในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนที่หันมากินเจทุกมื้อ (9 วัน) นอกจากนี้ อาจจะเป็นผลมาจากราคาวัตถุดิบที่สำคัญบางชนิด เช่น ผักสด เต้าหู้ หรือโปรตีนเกษตร ที่ส่วนใหญ่จะปรับราคาสูงขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งคนที่ซื้ออาหารสดมาประกอบอาหารเองอาจจะได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่คนที่ซื้ออาหารปรุงสำเร็จหรืออาหารสำเร็จรูปรับประทานอาจจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการได้มีการปรับกลยุทธ์ โดยเฉพาะร้านอาหารเจตักขายแบบจานเดียวหรือตามสั่ง รวมไปถึงร้านค้าปลีกที่จำหน่ายอาหารสำเร็จรูปเจแช่แข็ง ที่พยายามควบคุมราคาจำหน่ายอาหารไม่ให้แตกต่างไปจากอาหารคาวที่จำหน่ายนอกช่วงเทศกาลกินเจมากนัก ซึ่งถือเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคได้บ้าง อย่างไรก็ดี อาหารเจส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยแป้ง จึงอาจทำให้ผู้บริโภครู้สึกหิวเร็วขึ้น ดังนั้น ก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารเจทานเล่นในระหว่างมื้อที่เพิ่มขึ้น