posttoday

คาดที่ประชุมเฟดลดขนาดคิวอีหลังศก.ฟื้น

13 กันยายน 2556

การประชุมเฟด 17-18 ก.ย. 2556 คาดเฟดจะเริ่มปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้นต่อเนื่อง

การประชุมเฟด 17-18 ก.ย. 2556 คาดเฟดจะเริ่มปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้นต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในการประชุม ณ วันที่ 17-18 กันยายน 2556 นี้ คงจะเป็นการประชุมเฟดที่ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมาก โดยตลาดคาดว่าเฟดอาจจะเริ่มทำการปรับลดขนาดการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ลงในการประชุมครั้งนี้ หลังจากที่ได้มีการส่งสัญญาณมาระยะเวลาหนึ่ง อันส่งผลให้ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกมีการปรับตัว โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศในตลาดเกิดใหม่เองก็ต้องเผชิญกับภาวะการไหลออกของเงินทุน

พัฒนาการทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวฟื้นขึ้นต่อเนื่อง คงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดตัดสินใจเริ่มปรับลดขนาดการซื้อพันธบัตร ในจังหวะที่เริ่มมีความกังวลถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจ หากเฟดยังคงรักษาขนาดการซื้อสินทรัพย์ในระดับปัจจุบัน

พัฒนาการทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ยังคงให้ภาพการทยอยฟื้นตัวที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ และที่สำคัญคือ เป็นการฟื้นตัวพร้อมกันในหลายๆ ภาคส่วนเศรษฐกิจ (Broad-Based Recovery) โดยเครื่องชี้ภาคการผลิต ภาคบริการ และยอดสั่งซื้อใหม่ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องและอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี อันบ่งชี้ถึงสัญญาณเชิงบวกของภาคการผลิต ซึ่งก็ส่งผลให้ตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวต่อเนื่องเช่นกัน สะท้อนผ่านตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 180,000 ตำแหน่ง/เดือน นอกจากนี้ หากพิจารณาทางฝั่งผู้บริโภค จะพบว่ายอดค้าปลีกสหรัฐฯ ยังคงขยายตัว สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ แม้ว่าครัวเรือนอเมริกันต้องเผชิญกับการการสิ้นสุดมาตรการปรับลดของภาษีการจ้างงาน (Payroll Tax Cut) ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ขณะที่ยอดการซื้อรถยนต์ก็ปรับตัวสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี อันบ่งชี้ว่าการบริโภคภาคครัวเรือน ซึ่งมีสัดส่วนราว 70% ของ    จีดีพีสหรัฐฯ น่าจะช่วยนำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้าให้มีความต่อเนื่อง และมีทิศทางที่แข็งแกร่งขึ้น 

คาดที่ประชุมเฟดลดขนาดคิวอีหลังศก.ฟื้น

 

คาดที่ประชุมเฟดลดขนาดคิวอีหลังศก.ฟื้น

ทั้งนี้ จากพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังกล่าว ส่งผลให้มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่เฟดจะเริ่มปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ลงในการประชุมครั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงอันเกิดจากการขยายตัวอย่างไม่สมดุลของขนาดงบดุลของเฟด อันจะจำกัดทางเลือกเชิงนโยบายของเฟดต่อไปในอนาคต นอกเหนือไปจากความเสี่ยงในการเกิดภาวะฟองสบู่ราคาสินทรัพย์และเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ของเฟดในช่วงระยะแรกนี้ คงเป็นการปรับลดในปริมาณที่ไม่มาก ท่ามกลางความเปราะบางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่รออยู่ ขณะที่จังหวะในการปรับเปลี่ยนขนาดการซื้อพันธบัตรครั้งถัดๆ ไป ก็คงจะสอดคล้องกับพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า เป็นสำคัญ 

คาดที่ประชุมเฟดลดขนาดคิวอีหลังศก.ฟื้น

 

คาดที่ประชุมเฟดลดขนาดคิวอีหลังศก.ฟื้น

แม้คาดว่าเฟดน่าจะเริ่มปรับลดขนาดการซื้อพันธบัตรในการประชุมรอบนี้ แต่ก็เป็นไปแบบระมัดระวังในปริมาณที่ไม่มาก ท่ามกลางความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงมีอยู่

ด้วยความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประเด็นด้านการคลัง รวมทั้งความเสี่ยงจากวิกฤตการเมืองในตะวันออกกลาง ที่ยังคงมีความยืดเยื้อ คงทำให้ เฟดค่อนข้างให้ความระมัดระวังต่อจังหวะและปริมาณการปรับลดขนาดการซื้อพันธบัตรในช่วงแรก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การปรับลดอาจจะอยู่ในช่วงประมาณ 10-15 พันล้านดอลลาร์ฯ/เดือน ซึ่งคงมีผลกระทบต่อตลาดในระดับที่จำกัด เนื่องจากตลาดได้มีการปรับตัวในช่วงก่อนหน้าสอดรับความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะปรับลดขนาดการซื้อพันธบัตร นอกจากนี้ ท่ามกลางความกังวลว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้คาดว่าการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ของเฟดน่าจะเป็นในส่วนของการซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยยังคงขนาดการซื้อหลักทรัพย์ที่ถูกค้ำประกันด้วยลูกหนี้จดจำนอง(Mortgage-Backed Securities: MBS) ที่ระดับ 40 พันล้านดอลลาร์ฯ/เดือน เช่นเดิม เพื่อรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดมากนัก

ขณะที่ต้องยอมรับว่ามีโอกาสเช่นเดียวกัน แม้ไม่มากนัก ที่เฟดจะยังคงขนาดการซื้อพันธบัตรในระดับ 85 พันล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อเป็นหลักประกันในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้มีเสถียรภาพ ท่ามกลางความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม หากเฟดเลือกที่จะคงขนาดการซื้อสินทรัพย์ในระดับปัจจุบันต่อไปอีกระยะหนึ่ง ก็คงจะส่งผลให้ตลาดเงินตลาดทุนโลกยังคงมีความผันผวนต่อเนื่อง จนกว่าการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์จะมีความชัดเจน และก็อาจจะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณของเฟดปรับลดลงได้

อย่างไรก็ดี การปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ของเฟด ไม่ได้หมายความว่า เฟดจะปรับเปลี่ยนท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินให้เป็นแบบเข้มงวดขึ้น (Tightening Monetary Policy) เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คงอยู่ในระดับต่ำ น่าจะยังคงมีความจำเป็นในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เพื่อให้มั่นใจว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีเสถียรภาพอย่างแท้จริง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากความเปราะบางของเศรษฐกิจแกนหลักอื่นๆ ของโลก ทั้งนี้ คาดว่าเฟดน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อเนื่อง จนกว่าระดับการว่างงานจะปรับลดลงเหลือ 6.5% หรือเงินเฟ้อปรับตัวเร่งขึ้นเกิน 2.5% ซึ่งยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้

คาดที่ประชุมเฟดลดขนาดคิวอีหลังศก.ฟื้น

 

คาดที่ประชุมเฟดลดขนาดคิวอีหลังศก.ฟื้น

การคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ของเฟดที่ผ่านมา ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นประมาณ 0.9% จากระดับในช่วงกลางเดือน พ.ค. 2556 ขณะที่เส้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต (Implied Forward Curve) ก็สะท้อนว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยมีโอกาสทยอยปรับตัวขึ้นได้อีก ตามจังหวะและปริมาณการลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ของเฟดในระยะข้างหน้า สอดล้อไปกับทิศทางการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ แต่คงจะไม่เป็นไปในลักษณะผันผวนรุนแรงดังช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยและพันธบัตรสหรัฐฯ คงทยอยปรับตัวแคบลง อันส่งผลถึงกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายในอนาคต

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากปัจจัยภายนอกประเทศดังกล่าวแล้ว ทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยก็คงได้รับอิทธิพลจากตัวแปรภายในประเทศด้วย อาทิ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ มุมมองเงินเฟ้อในประเทศ ความต้องการระดมเงินทุนจากภาครัฐ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ท้ายที่สุดแล้ว จะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยต่อไป ในจังหวะที่สภาพแวดล้อมทางการเงินโลกปรับเข้าสู่สภาวะปกติ