posttoday

โทรคมนาคมหลังหมดสัมปทาน1800

12 กันยายน 2556

จับตาทิศทางโทรคมนาคมไทย หลังหมดอายุสัมปทานคลื่น 1800 MHz สู่ระบบใบอนุญาต แย่งชิงฐานลูกค้าเดือด

จับตาทิศทางโทรคมนาคมไทย หลังหมดอายุสัมปทานคลื่น 1800 MHz สู่ระบบใบอนุญาต แย่งชิงฐานลูกค้าเดือด

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินทิศทาง สัมปทานคลื่น 1800 MHz ที่จะหมดอายุลงในวันที่ 15 กันยายน 2013 นำมาสู่การออกมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในระยะเวลา 1 ปี ถือเป็นครั้งแรกของการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบแก่ผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการ และรัฐวิสาหกิจเจ้าของสัมปทานเดิม การปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพการแข่งขันภายใต้ระบบใบอนุญาตแบบใหม่จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขของ กสทช. ที่เน้นไปที่การคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นหลัก True Move และ DPC จะต้องให้บริการต่อเนื่องไปอีก 1ปี โดยไม่ได้รับผลตอบแทนจากการให้บริการ หลังจากสัมปทานคลื่น 1800 MHz หมดอายุลงแล้ว ตามกฎหมายผู้ประกอบการทั้งสองรายจะไม่สามารถให้บริการต่อได้ เนื่องจากคลื่นที่หมดสัมปทานจะต้องถูกนำกลับมาจัดสรรใหม่โดย กสทช. จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้บริการในปัจจุบันกว่า 18.3 ล้านราย โดยเป็นลูกค้าของ True Move 18.2 ล้านราย และ DPC ภายใต้แบรนด์ Digital GSM 1800 อีกกว่า 8 หมื่นราย กสทช.จึงเลือกออกประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการให้บริการในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตด้วยคุณภาพการให้บริการและราคาคงเดิม อย่างไรก็ตาม ประกาศฯ ดังกล่าว ไม่อนุญาตให้ True Move และ DPC รับลูกค้ารายใหม่บนคลื่น 1800 MHz ตลอดช่วงระยะเวลาคุ้มครอง และต้องเร่งโอนย้ายผู้ใช้บริการไปยังเครือข่ายอื่นที่ยังไม่สิ้นสุดสัมปทาน ทั้งนี้ True Move และ DPC จะต้องส่งรายได้ที่เกิดขึ้นหลังจากหักค่าใช้จ่ายให้แก่ กสทช.และจะไม่ได้รับการชดเชยหากขาดทุนจากการให้บริการ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงเนื่องจากต้นทุนในการให้บริการต่อหน่วยจะสูงขึ้นหลังจากที่ลูกค้าเริ่มมีการย้ายไปใช้งานเครือข่ายอื่น สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า กสทช. มุ่งเน้นไปที่การคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นหลักไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ True Move และ DPC แต่อย่างใด

EIC มองว่า True ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่ได้รับผลกระทบจะไม่เร่งย้ายลูกค้าทั้งหมดในทันทีแต่จะทยอยโอนย้ายลูกค้าไปยังเครือข่าย True Move-H ตามความพร้อมของการใช้งาน 3G ของผู้บริโภค True เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับผลกระทบมากสุดเนื่องจากลูกค้าของ True Move กว่า 18.2 ล้านราย สร้างรายได้ให้กับกลุ่ม True Mobile ถึง 38% แต่เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าแบบเติมเงิน (Pre-paid) ที่มีการใช้งานน้อยและยังเน้นการใช้งาน 2G เป็นหลัก ซึ่งมีเพียง 3 – 4 ล้านเลขหมายที่มีความพร้อมทางด้านอุปกรณ์ที่รองรับการใช้งานเครือข่าย 3G  โดย EIC คาดว่า True จะเน้นโอนย้ายลูกค้ากลุ่มที่มีความพร้อมในการใช้งาน 3G ก่อน ควบคู่ไปกับการให้ส่วนลดในการซื้อเครื่องใหม่แก่กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อแต่ยังไม่เคยทดลองใช้งาน 3G เพื่อเร่งให้เกิดการโอนย้ายไปยังเครือข่าย True Move-H ได้โดยเร็ว ส่วน DPC ที่มีลูกค้าประมาณ 8 หมื่นราย ซึ่งเป็นลูกค้าแบบรายเดือนและส่วนใหญ่เป็นลูกค้าขององค์กรขนาดเล็ก (SME) จะถูกโอนย้ายไปใช้งานเครือข่ายของ AIS ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ DPC ทั้งหมด เนื่องจาก AIS ยังมีสัมปทานที่ให้บริการ 2G บนคลื่นความถี่ 900 MHz ได้จนถึงปี 2015 นอกจากนี้ ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวของ DPC ยังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ไปใช้งาน 3G บนคลื่น 2100 MHz ของ AIS ได้เช่นกัน

โทรคมนาคมหลังหมดสัมปทาน1800

ด้านผู้ใช้บริการบนคลื่น 1800 MHz แม้จะมีระยะเวลาคุ้มครองนาน 1 ปี แต่ควรเร่งโอนย้ายเครือข่ายให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และควรศึกษาว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนพร้อมรองรับการใช้งานของเครือข่ายระบบใดบ้าง มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคฉบับนี้มีระยะเวลาคุ้มครองเพียงแค่ 1 ปี หากพ้นกำหนดแล้ว ผู้ใช้บริการคลื่น 1800 MHz จะไม่สามารถใช้งานเลขหมายเดิมได้อีกต่อไป (ซิมดับ) จึงต้องมีการปรับตัวเพื่อโอนย้ายไปใช้งานเครือข่ายอื่นโดยมีทางเลือกทั้งหมด 3 ทาง ได้แก่ 1) ใช้เลขหมายเดิมจนครบระยะเวลาคุ้มครอง ก่อนการย้ายไปเครือข่ายด้วยการเปิดเลขหมายใหม่ 2) รอให้ True และ DPC ดำเนินการโอนย้ายแบบกลุ่มใหญ่ไปอยู่บนเครือข่ายใหม่ที่ยังไม่หมดสัมปทาน 3) ทำการโอนย้ายไปยังผู้ให้บริการรายอื่นด้วยบริการคงสิทธิ์เลขหมายเดิม (Mobile Number Portability หรือ MNP)  ซึ่งทั้ง 3 ทางเลือกนี้ ผู้ใช้บริการจำเป็นต้องศึกษาอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนว่าพร้อมรองรับการใช้งานเครือข่ายใดบ้าง หากเป็นเครื่องรุ่นเก่าที่รองรับการใช้งาน 2G ผู้ใช้บริการจะสามารถโอนย้ายไปยังเครือข่าย AIS  900 MHz และ DTAC 1800 MHz ได้เท่านั้น ส่วนการย้ายไปใช้งาน 3G ผู้ใช้บริการจะต้องมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สามารถรองรับการใช้งาน 3G ได้ และต้องรองรับการใช้งานบนคลื่นความถี่ที่เครือข่ายนั้นให้บริการ  สำหรับการย้ายเครือข่ายแบบบริการคงสิทธิ์เลขหมาย ผู้ใช้บริการควรระวังปัญหาคอขวดในการโอนย้ายช่วงใกล้หมดระยะเวลาคุ้มครอง เนื่องจากปัจจุบันศักยภาพการโอนย้ายยังมีข้อจำกัดประมาณ 60,000 เลขหมายต่อวันต่อผู้ให้บริการหนึ่งรายเท่านั้น

ในขณะที่ CAT สูญเสียรายได้จากสัมปทานแต่อาจสร้างรายได้จากการให้เช่าอุปกรณ์โครงข่าย และการบริหารจัดการคลื่นที่ยังถือครองอยู่ สำหรับ CAT ต้องปรับตัวเพื่อสร้างรายได้จากช่องทางอื่น เช่น การปล่อยให้เช่าอุปกรณ์โครงข่ายที่ได้รับโอนจากสัญญาสัมปทาน โดยอาจร่วมกับ TOT ในการจัดตั้งเป็นบริษัท Tower Co. เพื่อให้บริการประเภทสาธารณูปโภคพื้นฐาน (Infrastructure Provider)  นอกจากนี้ CAT จะต้องเร่งสร้างรายได้จากคลื่นความถี่ที่ยังถือครองอยู่ ทั้งคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz ที่จะเน้นให้บริการ 3G ภายใต้แบรนด์ My by CAT และการหาพันธมิตรผู้ให้บริการเสมือน (Mobile Virtual Network Operator หรือ MVNO) มาร่วมให้บริการเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz CAT อาจเปิดเจรจากับ DTAC และ กสทช. เพื่อหาวิธีนำคลื่นอีกส่วนหนึ่งที่ DTAC ยังไม่ได้ใช้งานมาบริหารจัดการเพื่อสร้างรายได้ต่อไปจนกว่าจะหมดอายุสัมปทานในปี 2018

อย่างไรก็ตาม สำหรับการประมูลคลื่น 1800 MHz ภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองนั้น มีความเป็นไปได้เช่นกันที่จะจัดประมูลพร้อมกับคลื่นอีกส่วนของ DTAC ที่ยังไม่สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน หลังสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครอง กสทช. จะนำคลื่น 1800 MHz จำนวน 25 MHz ของ True Move และ DPC ที่หมดอายุสัมปทานออกมาประมูลใหม่ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2014 โดยอาจจัดแบ่งประมูลแยกเป็นช่วงความถี่ (slot) ละ 5 MHz หรือแยกเป็นชุดละ 10 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต แต่คลื่นชุดดังกล่าวมีลักษณะสลับฟันปลาที่ถูกแทรกด้วยคลื่นที่ DTAC ถือครองอยู่และมีอายุสัมปทานนานถึงปี 2018 ทำให้การประมูลด้วยวิธีข้างต้นไม่เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคลื่นอย่างเต็มที่ จึงอาจมีการเจรจาระหว่าง กสทช. DTAC และ CAT ซึ่งเป็นเจ้าของสัญญาสัมปทาน ในการนำคลื่นที่ยังไม่หมดอายุสัมปทานออกมาประมูลพร้อมกัน หรืออาจเลือกเฉพาะส่วนที่ DTAC ยังไม่เคยนำมาใช้งานจำนวน 25 MHz ออกมาประมูลร่วมก่อน

โทรคมนาคมหลังหมดสัมปทาน1800

แม้ว่าคลื่น 1800 MHz จะสามารถใช้ทำ 4G ได้ในอนาคต แต่สภาพตลาดของไทยยังมีขีดจำกัดอีกหลายประการ จึงควรมีการศึกษาวิธีการจัดสรรคลื่นอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้งานสูงสุด คลื่น 1800 MHz ที่ใช้งาน 2G ในปัจจุบันสามารถใช้ทำ 4G ได้ในอนาคต โดยตามทฤษฎีแล้วต้องใช้งานคลื่นจำนวน 20 MHz จึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดแม้ว่าจะสามารถใช้งานทั่วไปได้ที่ 10 – 15 MHz แต่จากปัญหาคลื่นที่ว่างลงแบบฟันปลาของไทย รวมไปถึงจำนวนอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สามารถใช้งาน 4G ได้ยังมีน้อย ต้องใช้เงินลงทุนที่สูง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองเพิ่งจะมีการลงทุนโครงข่าย 3G ไปไม่นาน ประกอบกับประมาณการของสหภาพโทรคมนาคมโลก (ITU) ที่พบว่าทั่วโลกยังต้องให้บริการ 2G ต่อไปอีก 5-7 ปี และไทยยังมีผู้ใช้บริการที่ต้องการใช้งาน 2G อยู่อีกมาก อาจเป็นการเร็วเกินไปที่กสทช.จะเร่งประมูลคลื่นเพื่อทำ 4G  จึงควรมีการวางแผนเพื่อจัดสรรคลื่นอย่างรอบคอบ อาจต้องพิจารณาแบ่งคลื่น 1800 MHz บางส่วนหรือคลื่นความถี่ในย่านอื่นในการให้บริการ 2G ต่อไปอีกสักระยะ ก่อนจัดประมูลคลื่นในเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้งานคลื่นสูงสุด

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้มุมมองการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานคลื่น 1800 ไปสู่ระบบใบอนุญาต ดังนี้

*   แนวโน้มการแข่งขันในช่วงเปลี่ยนผ่านจะไม่รุนแรงนักแต่ DTAC จะเป็นผู้ให้บริการที่มีความได้เปรียบมากสุดในตลาดบริการ 2G ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตใน 1 – 2 ปีนี้ ผู้ประกอบการแต่ละรายทั้ง AIS และ TRUE จะเน้นไปที่การเร่งโอนย้ายลูกค้าในเครือข่ายที่ใกล้หมดสัญญาสัมปทานไปอยู่บนเครือข่ายใหม่ในระบบใบอนุญาตเป็นหลัก ทำให้การแข่งขันเพื่อแย่งชิงฐานลูกค้าจะไม่มีความรุนแรงมากนัก แต่ในขณะเดียวกันถ้าการประมูลคลื่น 900 และ 1800 MHz มีความล่าช้าออกไป  DTAC จะกลายเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่ยังคงมีคลื่นให้บริการ 2G จนถึงปี 2018 จึงมีโอกาสที่จะแย่งชิงฐานลูกค้าทั้งจาก True, DPC และ AIS ที่ยังต้องการใช้งาน 2G ต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องใหม่

*   การประมูลคลื่น 1800 MHz ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้ามีความเป็นไปได้สูงที่จะมีแต่ผู้ประกอบการรายเดิมเท่านั้นที่เข้าร่วมประมูล  EIC มองว่าการประมูลคลื่น 1800 MHz บางส่วนที่จะเกิดขึ้นในช่วงปีหน้าอาจไม่ดึงดูดใจให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาลงทุน ทำให้ยังคงเป็นผู้ประกอบการ 5 รายหลักเดิม ได้แก่ AIS, DTAC, TRUE, CAT และ TOT ที่จะให้ความสนใจ โดยอาจมีเพียงแค่ AIS และ TRUE เท่านั้น ที่ต้องการนำคลื่นไปให้บริการอย่างต่อเนื่องกับลูกค้ากลุ่มเดิม ส่งผลให้ราคาประมูลที่จะเกิดขึ้นอาจใกล้เคียงกับราคาตั้งต้น การออกแบบการประมูลและเลือกช่วงเวลาการประมูลจึงควรมีความเหมาะสมกับสภาพตลาดเพื่อทำให้การจัดสรรคลื่นเกิดประโยชน์สูงสุด

*   เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจผู้ขายอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ การหมดอายุสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz ของ True Move และ DPC จะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้ผู้ใช้บริการเลือกเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้สามารถรองรับการใช้งาน 3G ได้ ซึ่งจะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตทำได้เร็วขึ้น ทาง EIC ประเมินว่าตลาดอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่จะมียอดขายขั้นต่ำสูงถึง 15,000 ล้านบาท ตลอดช่วงระยะเวลาการเปลี่ยนผ่าน 1 – 2 ปีนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีทั้งกับผู้ผลิต  ผู้จำหน่ายอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์เสริมต่างๆ ในขณะเดียวกันอาจเห็นการทำโปรโมชั่นของแต่ละเครือข่ายในรูปแบบการให้เครื่องเปล่าแต่ติดสัญญาการใช้งานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับผู้ให้บริการที่จะช่วยลดอัตราการยกเลิกการใช้บริการ (Churn rate) ได้มากขึ้น