posttoday

อัดรัฐติดประชานิยมทำศก.ถดถอย

02 กันยายน 2556

"คำนูณ"อัดรัฐบริหารงบติดกับดักประชานิยม ชี้ "รถยนต์คันแรก" ถ่วงงบสมดุล ดูดกำลังซื้อหมื่นล้านต่อเดือน

"คำนูณ"อัดรัฐบริหารงบติดกับดักประชานิยม ชี้ "รถยนต์คันแรก" ถ่วงงบสมดุล ดูดกำลังซื้อหมื่นล้านต่อเดือน  

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 2 ก.ย. ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 วงเงิน 2.5 ล้านล้านบาท หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ โดยนายอนุรักษ์ นิยมเวช สว.สรรหา อภิปรายว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดทำงบประมาณให้สมดุลโดยเร็ว เพราะถ้ายิ่งปล่อยให้การจัดทำงบประมาณเป็นไปในลักษณะขาดดุลนานเท่าไร ก็จะมีผลให้ประเทศต้องมีภาระหนี้มากขึ้นเท่านั้น เพราะอย่าลืมว่าปัจจุบันประเทศมีหนี้สาธารณะค่อนข้างสูงทั้งจากนโยบายจำนำข้าว และ โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

"ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันมีแนวโน้มจะถดถอยและขยายตัวไม่มาก ผนวกกับปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นจะส่งผลให้รัฐอาจจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องมีคำชี้แจงให้ชัดเจน"นายอนุรักษ์ กล่าว

นอกจากนี้เท่าที่ตรวจสอบการจัดทำงบประมาณยังพบว่ายังไม่ได้จัดสรรงบประมาณให้กับกลุ่มจังหวัดอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เข้ามามีบทบาทต่อการปฏิรูปการเมืองและความสมานฉันท์ เพราะถ้ารัฐบาลสามารถรับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้อย่างกว้างขวางจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแนวทางของรัฐบาลเอง

นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา กล่าวว่า แนวคิดการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลกำลังติดกับดัก 3 ประการด้วยกัน ได้แก่ 1.กับดักงบสมดุลจอมปลอม 2.กับดักเงินกู้นอกงบประมาณที่ขัดหลักวินัยการเงินการคลัง และ 3.กับดักนโยบายประชานิยมบางนโยบาย กล่าวคือ เวลานี้ประเทศไทยกำลังสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจตามการวิเคราะห์ของสื่อต่างประเทศ โดยมีสาเหตุหลักมาจากนโยบายประชานิยม

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า นโยบายประชานิยมอย่างนโยบายรถยนต์คันแรกจะส่งผลต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปอีก 2 ปี เพราะนโยบายดังกล่าวได้ดูดซับกำลังซื้อของประชาชนให้ลดลงประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน เนื่องจากประชาชนต้องนำรายได้ส่วนใหญ่ไปใช้กับการผ่อนรถและบำรุงรักษารถ จนส่งผลให้ไม่มีรายได้ที่จะไปใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ

"นี่คือ กับดักนโยบายประชานิยมอย่างชัดเจน เป็นหลุมดำที่ดูดกำลังซื้อของประชาชน ไม่เพียงเท่านี้ยังมีนโยบายจำนำข้าว ซึ่งเป็นตัวเพิ่มหนี้สาธารณะของประเทศในระดับแสนล้านบาท ตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 70%ต่อจีดีพี ตัวเลขการลงทุนของภาคเอกชนก็ไม่กระเตื้่องขึ้น รวมไปถึงตัวเลขหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นอีกจากโครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำที่ล่าช้า 3.5แสนล้านบาท และเงินกู้โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม 2 ล้านล้านบาท"นายคำนูณกล่าว  

นายคำนูนกล่าวด้วยว่า ดังนั้นต่อให้รัฐบาลสามารถจัดทำงบประมาณสมดุลที่ไม่ต้องกู้เงินมาโปะได้ในปี 2560 แต่ก็จะเป็นงบประมาณสมดุลจอมปลอมเพราะประเทศยังมีตัวเลขหนี้ไปอยู่ในส่วนอื่นอยู่