posttoday

"สมองไหล"โจทย์ใหญ่แบงก์ไทย

27 สิงหาคม 2556

ภาวะสมองไหล-คนใหม่หายาก โจทย์ใหญ่ที่แบงก์ไทยต้องเผชิญ

โดย...ดำรงเกียรติ มาลา

หลังจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยถูกวิกฤตต้มยำกุ้งซัดเข้าใส่ครั้งใหญ่เมื่อปี 2540 จนล้มกันระเนระนาด ในรายที่อาการหนักก็ล้มหายตายจากกันไป ส่วนในรายที่เบาหน่อยก็ยังเข้าขั้นบาดเจ็บสาหัส  

แต่นับจากนั้นเป็นต้นมาธนาคารพาณิชย์ไทยก็ทยอยฟื้นตัวขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนเริ่มกลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้งราวปี 2549 โดยใช้เวลาราว 8-9 ปี และทยอยดีขึ้นตามลำดับจนกลับมาเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีผลดำเนินงานโดดเด่นที่สุดของไทยในปัจจุบัน

เรื่องดังกล่าวสะท้อนได้จากผลกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นทำลายสถิติอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2553 ระบบธนาคารพาณิชย์มีผลกำไรสุทธิรวมกันกว่า 1.23 แสนล้านบาท ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.44 แสนล้านบาทในปี 2554และล่าสุดได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.73 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา

ดัชนีชี้วัดอีกตัวหนึ่งที่สะท้อนถึงการเติบโตของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้ดีคือ อัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับจากปี 2549 โดยปัจจุบันกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่มีการเปิดรับสมัครพนักงานใหม่ปีละไม่ต่ำกว่า 2-3 พันคนและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"สมองไหล"โจทย์ใหญ่แบงก์ไทย

สุรศักดิ์ ดุษฎีเมธา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปีนี้ธนาคารมีแผนเปิดรับพนักงานใหม่ถึง 4,500 อัตรา ซึ่งนับเป็นตัวเลขสูงสุดนับจากปี 2540 โดย 1 ใน 3 จะเป็นพนักงานที่เข้ามารองรับปริมาณงานและเครือข่ายสาขาที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อีก 2 ใน 3 เป็นการรับเข้ามาเพื่อทดแทนคนเก่าที่เกษียณอายุหรือลาออกไปซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจธนาคาร

สุรศักดิ์ ระบุว่า การลาออกของพนักงานธนาคารในปัจจุบันมีอัตราที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก  โดยแบ่งเป็นการลาออกเพื่อย้ายไปอยู่กับคู่แข่ง ลาออกไปทำธุรกิจของตัวเองหรือแม้กระทั่งลาออกไปอยู่กับบริษัทลูกค้าที่ดีลงานด้วย โดยกลุ่มที่พบว่ามีอัตราการลาออกสูงกลุ่มที่มีอายุงานต่ำกว่า 2 ปี 

ขณะเดียวกัน การหาพนักงานใหม่เข้ามาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป เนื่องจากค่านิยมของคนจบใหม่ในยุคปัจจุบันคือไม่อยากทำงานประจำหรือถ้าทำก็จะเลือกงานในธุรกิจประเภทอื่น เพราะปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่หรือแม้กระทั่งธุรกิจเอสเอ็มอีมีการเติบโตขึ้นมาก มีสวัสดิการและผลตอบแทนที่ดี ทำให้ความมั่นคงซึ่งเคยเป็นจุดแข็งของธุรกิจธนาคารถูกมองข้ามไป

“ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาอัตราการลาออกของพนักงานธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจาก 4-5% เป็นมากกว่า 10% ต่อปี โดยในส่วนของกสิกรไทยอยู่ที่ 12% และที่เราสังเกตเห็นคือกลุ่มคนที่เป็นลูกเถ้าแก่เจ้าของกิจการต่างๆ ซึ่งอดีตเมื่อเรียนจบมักจะถูกส่งมาเรียนรู้งานกับธนาคารหรือองค์กรใหญ่ๆเริ่มหายไป ปัจจุบันคนกลุ่มนี้จะเริ่มต้นที่บ้านเลยทันที” สุรศักดิ์ กล่าว

สุรศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาการลาออกและการหาพนักงานใหม่ซึ่งพร้อมจะทำงานในระยะยาวกับองค์กรที่ยากขึ้นท่ามกลางการเติบโตของธุรกิจธนาคารที่อยู่ในระดับสูง ได้ส่งผลเกิดภาวะขาดแคลนบุคลากรขึ้นในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร ซึ่งนำไปสู่ปรากฏการณ์การชิงตัวบุคลากรระหว่างกัน โดยเฉพาะบุคลากรที่มีคุณภาพ

“บุคลากรที่มีการแย่งตัวกันมากขณะนี้คือเจ้าหน้าที่สาขา เจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจต่างประเทศ ตามแนวโน้มการขยายเครือข่ายสาขาเข้าสู่ภูมิภาคมากขึ้นของธนาคารและการเข้าสู่เออีซี ถ้าสเป็กได้จะให้ราคากันมากกว่าที่เดิมถึง 50-100%” สุรศักดิ์ กล่าว

"สมองไหล"โจทย์ใหญ่แบงก์ไทย

โดยจากการสำรวจอัตราการลาออกผ่านโทรศัพท์ในกลุ่มพนักงานธนาคารขนาดใหญ่ 5 แห่งในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า ธนาคารที่มีอัตราลาออกของพนักงานสูงสุดคือธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่ 8.8% อันดับ 2 ธนาคารกสิกรไทยที่ 8.45% อันดับ 3 ธนาคารไทยพาณิชย์ที่ 7.02% อันดับ 4 ธนาคารกรุงเทพที่ 5% และอันดับสุดท้ายเป็นธนาคารกรุงไทยที่ 1.47%

ดังนั้นการบริหารทรัพยากรบุคคลไม่ว่าจะเป็นการรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กรหรือการสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุคปัจจุบันจึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ธุรกิจธนาคารต้องให้ความสำคัญ

สุรศักดิ์ กล่าวว่า จากการสำรวจโครงสร้างบุคลากรของธนาคารในปัจจุบันพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ทั้งในเชิงเพศ อายุและรุ่น โดยพบว่าปัจจุบันธนาคารมีพนักงานหญิงในสัดส่วนถึง 60% ต่างจาก 12 ปีก่อนที่พนักงานชายมีสัดส่วนถึง 70% ขณะที่ในเชิงอายุก็พบว่ากลุ่มที่มีสัดส่วนสูงที่สูงในปัจจุบันที่ 38% คือ คนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ต่างจาก 12 ปีก่อนที่กลุ่มคนอายุ 40-50 ปีมีสัดส่วนถึง 55%

“โจทย์วันนี้เปลี่ยนไป คนจบใหม่รุ่นนี้จะมองที่ผลตอบแทนเป็นอันดับแรก ซึ่งล่าสุดธนาคารได้มีการปรับผลตอบแทนแรกเข้าสำหรับพนักงานใหม่ขึ้นเป็น 14,500 บาท บวกค่าครองชีพอีก 2,500 บาท ไม่รวมโบนัส พร้อมดึงดูดเขาด้วยเทคโนโลยี เช่น การมีสัญญาณไว-ไฟ ให้ใช้ในที่ทำงาน” สุรศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ปรับขั้นตอนการรับสมัครงานใหม่ให้สั้นลงทั้งในเชิงเอกสาร การสัมภาษณ์และต่อรองผลตอบแทน โดยกระบวนการทั้งหมดจะต้องเสร็จสิ้นภายใน 3 วัน และเมื่อพนักงานถูกดึงตัวในบางครั้งก็ต้องสู้ราคากับคู่แข่ง

สุรศักดิ์ ระบุว่า การแข่งขันแย่งตัวด้านบุคลากรในภาคธนาคารที่รุนแรงขณะนี้ จะนำไปสู่ภาวะที่ธนาคารต้องจ่ายผลตอบแทนในระดับที่เกินกว่าความสามารถที่แท้จริงของพนักงาน เพราะเมื่อธนาคารหนึ่งขยับทั้งอุตสาหกรรมจะขยับตาม จนมาเริ่มต้นนับที่ศูนย์กันใหม่ไม่จบไม่สิ้น ซึ่งถือเป็นภาวะที่น่ากังวลและไม่ได้กำลังเกิดเฉพาะกับธุรกิจธนาคารเท่านั้น แต่กำลังภาคธุรกิจอื่นๆก็กำลังประสบเช่นกัน

การแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนที่เกิดขึ้นนี้คงต้องย้อนกลับไปดูถึงโครงสร้างระบบการศึกษาซึ่งเป็นแหล่งผลิตแรงงานป้อนสู่ตลาดว่าปัจจุบันตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานได้อย่างเพียงพอหรือไม่ หากอุตสาหกรรมใดขาดแคลนต้องได้รับการส่งเสริมเร่งผลิตให้ทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม หากสาเหตุในเชิงโครงสร้างยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นภาพการนำเข้าแรงงานต่างชาติเข้าขับเคลื่อนธุรกิจไทย ก่อนอาเซียนจะเปิดเสรีก็เป็นได้

"สมองไหล"โจทย์ใหญ่แบงก์ไทย