posttoday

สภาพัฒน์จับตาเลิกจ้างชี้อุตฯขนาดเล็กเสี่ยงสูง

26 สิงหาคม 2556

สภาพัฒน์จับตาจ้างงานครึ่งปีหลัง อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้ม-ผลิตภาพต่ำ-ขนาดเล็ก "เสี่ยง" หลังภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

สภาพัฒน์จับตาจ้างงานครึ่งปีหลัง อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้ม-ผลิตภาพต่ำ-ขนาดเล็ก  "เสี่ยง" หลังภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทย ไตรมาส 2 ปี 2556 โดยระบุว่า สศช.ยังคงต้องติดตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง ที่จะมีผลต่อคำสั่งซื้อและทำให้การผลิตชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสศช. กล่าวว่า เศรษฐกิจครึ่งปีหลังที่มีแนวโน้มชะลอตัว อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการจ้างงาน โดยเฉพาะสาขาการผลิตที่มีผลิตภาพแรงงานต่ำ สาขาการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น และอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ซึ่งได้รับแรงกดดันจากต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

นายอาคม ระบุว่า ผลกระทบจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ที่ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ไตรมาส 2 พบว่าจำนวนผู้สมัครงาน 10 คน จะได้รับการบรรจุในตำแหน่งงาน 5 คน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่จำนวนผู้สมัครงาน 10 คน จะได้รับการบรรจุในตำแหน่งงาน 8 คน

"ภาคเอกชนเริ่มปรับตัว และระมัดระวังในการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งมีสาเหตุจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ  300 บาทต่อวัน ที่ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น และต้องการแรงงานที่มีทักษะตรง โดยเฉพาะแรงงานระดับ ปวช. ปวส. ซึ่งตลาดมีความต้องการสูง"นายอาคมกล่าว

นายอาคม กล่าวว่า ตัวเลขการจ้างงานไตรมาส 2 ปีนี้ มีผู้มีงานทำ 38.9 ล้านคนเพิ่มขึ้น 0.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นในอัตราลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปีที่แล้ว ที่ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 1.5% สาเหตุเป็นเพราะไตรมาส 2ปีที่แล้วเป็นช่วงการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม การจ้างงานและชั่วโมงทำงานจึงเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ แม้การจ้างงานจะชะลอตัวลง แต่อัตราการว่างงานยังต่ำ อัตราว่างงานไตรมาส 2 อยู่ที่ 0.73% หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 2.89 แสนคน เทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปีที่ก่อนที่อัตราว่างงานอยู่ที่ 0.86% และมีผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 1.44 แสนคน 

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานไตรมาส 2 ที่มีจำนวน 1.44 แสนคน เพิ่มขึ้น 4% เทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีผู้ขอรับประโยชน์ 1.39 แสนคน และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ที่มีผู้ขอรับประโยชน์ 1.28 แสนคน และไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ที่มีผู้ขอรับประโยชน์ 1.28 แสนคน 

ขณะที่สถิติย้อนหลัง 2 ปีพบว่า ไตรมาส 1 ปี 2555 ซึ่งเป็นช่วงหลังเหตุการณ์น้ำท่วม 3 เดือน พบว่า จำนวนผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวนสูงที่สุด คือ 1.59 แสนคน

สำหรับรายได้ที่แท้จริงของแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัว โดยค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์อื่นๆไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่เพิ่มขึ้น 13.9% ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ เมื่อหักราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น 2.3% แรงงานมีรายได้ที่แท้จริงเพิ่มขึ้น 4.5%

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสาขาการศึกษาที่มีการว่างงานสูง ได้แก่ สาขาเกษตร วนเกษตร อัตราว่างงาน 23.4% ศึกษาศาสตร์ 12.7% มนุษย์ศาสตร์ 16.4% ศิลปกรรมศาสตร์ 13.8% ธุรกิจ การบริการและพาณิชยศาสตร์ 12.3% นิติศาสตร์ 14.1% และวิทยาศาสตร์กายภาพ 20% เนื่องจากตลาดแรงงานอิ่มตัว และผู้จบการศึกษามีจำนวนเกินความต้องการ

ขณะที่อัตราว่างงานระดับ ปวช. ค่อนข้างต่ำในทุกสาขา เช่นเดียวกับอัตราว่างงานในระดับปวส. ที่ค่อนข้างต่ำ ยกเว้น สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่อัตราว่างงานสูงถึง 16.4% และเกษตร วนศาสตร์ที่มีอัตราว่างงานสูง 15.7%

นายอาคม ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิด เพราะเศรษฐกิจไม่ติดลบ ไตรมาส 2 ยังขยายตัวอยู่ ส่วนเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะไตรมาสที่ 3 เศรษฐน่าจะขยายตัวเป็นบวกอยู่ ส่วนไตรมาส 4 ซึ่งปีแล้วขยายตัว 18% เมื่อกำลังซื้อและการบริโภคกลับสู่ภาวะปกติ การขยายตัวต้องลดลง 

"ไตรมาส 2 เมื่อปรับปัจจัยเชิงฤดูกาล เศรษฐกิจขยายตัวลดลง แต่หากปรับปัจจัยที่ผิดปกติออก คือ ช่วงนั้นเป็นช่วงการฟื้นฟูน้ำท่วม ตัวเลขไตรมาส 2 เทียบกับไตรมาส 1 ก็ยังเป็นบวก แต่ปกติแล้ว เราและทุกประเทศจะไม่ปรับปัจจัยที่ผิดปกติออก เราปรับแค่ปัจจัยฤดูกาล แต่เมื่อดูต้องทำความเข้าใจเอง"นายอาคมระบุ

นายอาคม อธิบายว่า นิยามภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจต้องคิดลบ 2 ไตรมาสซ้อน แต่หากเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามปกติ คือ เศรษฐกิจที่อยู่ดีๆแล้วกำลังซื้อหายไปหมด เช่น ยุโรปที่อยู่ดีๆเศรษฐกิจก็เริ่มติดลบ เพราะประเทศมีหนี้สินเกินตัว และมีปัญหาอื่นๆมาซ้ำเติม

นายอาคม กล่าว  สศช.คาดว่าการส่งออกครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น โดยจะเห็นตัวเลขดีขึ้นในเดือน ก.ค.-ส.ค.เพราะหลายอุตสาหกรรมมีการส่งออกมากขึ้น เช่น วัสดุก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน รวมถึงการส่งออกรถยนต์ ซึ่งปีที่แล้วมีการแบ่งออเดอร์ต่างประเทศมาขายในประเทศจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม การส่งออกจะขยายตัวได้มากน้อยเพียงใด ต้องพิจารณาจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกด้วย เช่น กลุ่มยุโรปที่ยังไม่ฟื้นตัว แม้ว่าจะมีสัญญาณที่ดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 และ 4 ส่วนสหรัฐที่เศรษฐกิจดีขึ้น และจะยุติมาตการคิวอี แต่ต้องดูด้วยว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวเต็มที่เมื่อใด