posttoday

กนง.แจงเหตุคงดอกเบี้ย2.5%

21 สิงหาคม 2556

เลขาฯกนง.แจงเหตุคงดอกเบี้ยนดยบายที่ 2.5% เพื่อสนับสนุนความต่อเนื่องของการขยายตัวจีดีพี ระบุศก.ไทยอ่อนแรงในระดับคาดการณ์

เลขาฯกนง.แจงเหตุคงดอกเบี้ยนดยบายที่ 2.5% เพื่อสนับสนุนความต่อเนื่องของการขยายตัวจีดีพี ระบุศก.ไทยอ่อนแรงในระดับคาดการณ์

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ที่ประชุมกนง.มีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.5% เพื่อสนับสนุนความต่อเนื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในปีหน้า เนื่องจากประเมินว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในปัจจุบันยังมีความจำเป็น และเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย ที่กำลังอยู่ในช่วงปรับตัว ภายใต้ภาวะที่แรงกดดันด้านราคายังไม่น่ากังวล ขณะที่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินและความไม่แน่นอนของภาวะการเงินโลกยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม

ส่วน 1 เสียงที่เสนอให้ลด เพราะปีนี้มองว่าเศรษฐกิจยังคงพอไปได้ในระดับที่ประเมินไว้ แต่มองต่อเนื่องไปในปีหน้าให้มั่นใจว่ายังมีแรงส่งที่จะช่วยให้ขยายตัวจึงอยากให้ลดดอกเบี้ยเพื่อให้แรงส่งยังมีอยู่ต่อไปจนถึงปีหน้า

ทั้งนี้มีรายงานว่า 1 เสียงที่เสนอให้ลดดอกเบี้ยคือนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่

“การประชุมครั้งนี้ กนง.ห่วงความผันผวนของตลาดการเงินโลก เพราะตอนนี้ตลาดการเงินระหว่างประเทศมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ยิ่งสหรัฐฯอาจจะลดมาตรการผ่อนคลายปริมาณเงินหรือคิวอี ยิ่งทำให้ตลาดการเงินโลกเคลื่อนย้ายเร็ว และส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นและตลาดอื่นๆอย่างที่เห็น จึงต้องติดตามดูทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด และนโยบายการเงินในปต่างประเทศด้วย รวมทั้งประเมินสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจ แต่การผ่อนคลายนโยบายการเงินในปัจจุบันยังมีความจำเป็นและเหมาะสมกับเศรษฐกิจ กนง.จึงให้คงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5%” นายไพบูลย์กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า การที่กนง.ให้ความสำคัญกับจีดีพีมากขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อน และห่วงปัญหาฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ลดลง แต่ที่ไม่ปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นก็ไม่ได้เป็นเพราะห่วงหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวสูงขึ้นเร็ว โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาสูงขึ้นจากหนี้รถยนต์ แม้ว่าจะนำเรื่องหนี้ครัวเรือนมาเป็นปัจจัยพิจารณากำหนดดอกเบี้ยด้วย เนื่องจากมองว่าหนี้ครัวเรือนน่าจะชะลอลงได้ในระยะต่อไป เพราะกลุ่มครัวเรือนที่มีภาระผ่อนชำระหนี้ 34% ของรายได้ต่อเดือนและที่ก่อหนี้รถยนต์ไปแล้ว ไม่น่าจะก่อหนี้เพิ่มได้เรื่อยๆ เพราะสถาบันการเงินเองก็ระมัดระวังการปล่อยกู้มากขึ้น เพียงแต่ยังประเมินยากว่าหนี้ครัวเรือนจะลดลงเข้าสู่ภาวะปกติได้เมื่อไร แต่แนวโน้มน่าจะลดลง

“ถึงกนง.จะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลง แต่การอ่อนแรงก็อยู่ในระดับคาดการณ์ ไม่ได้ทำให้การประเมินนโยบายการเงินที่เหมาะสมเปลี่ยนไปมากนัก ปัจจัยที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ระยะต่อไป นอกจากเศรษฐกิจโลกจะเป็นบวก จากกลุ่มประเทศจี 3 ที่สัญญาณเริ่มเป็นบวก ไม่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงจีนที่มีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะไม่น่าจะชะลอรุนแรงไปกว่านี้อีกน่าจะชะลอช้าๆหรือซอฟแลนด์ดิ้งแล้ว นโยบายการเงินยังผ่อนคลายเหมาะสมกับเศรษฐกิจ ช่วยสนุบสนุนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และหากการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐในปีหน้าป็นไปตามแผนน่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เอกชนลงทุนตามด้วย ขณะที่สินเชื่อยังโตสูงระดับ 13% ที่สำคัญสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคยังคงขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ การจ้างงานนอกภาคเกษตรก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ จากปัจจัยเหล่านี้กนง.จึงเชื่อว่าแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังน่าจะอยู่ในระดับที่ดีพอสมควร” นายไพบูลย์กล่าว

ทั้งนี้ กนง.คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 4.2% ภายใต้เงินเฟ้อพื้นฐานที่ 1.1% และเงินเฟ้อทั่วไปที่ 2.3% แต่ยอมรับว่าจีดีพีมีโอกาสโตต่ำกว่า 4%

นายไพบูลย์ กล่าวว่า อย่างไรก็ดีถึงการประชุมรอบนี้กนง.จะให้ความสำคัญด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าการลงทุนภาครัฐไม่เป็นตามแผนแล้วต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแทน เพราะการจะใช้นโยบายดอกเบี้ยหรือไม่ ต้องประเมินข้อมูลและความเหมาะสมในแต่ละช่วงตามความเหมาะสม อย่างไรก็ดี การลงทุนภาครัฐไม่ว่า 2 ล้านล้านบาท หรือลงทุนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดใน 2557 และไม่ใช่เงินจำนวนมากมายอะไร เพราะกระจายลงทุนในระยะเวลานานหลายปี จึงไม่น่าส่งผลกระทบในระยะสั้นต่อเศรษฐกิจมากนัก

การประชุมครั้งนี้ กนง.เห็นว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมมีแนวโน้มค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของภาคการผลิตและภาคที่อยู่อาศัย รวมทั้งฐานะการเงินของภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป ส่วนเศรษฐกิจจีนชะลอลงในไตรมาสที่ 2 แต่ข้อมูลล่าสุดชี้ว่ามีสัญญาณปรับดีขึ้น เศรษฐกิจกลุ่มยูโรมีเสถียรภาพมากขึ้นและมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่อาจต้องใช้เวลา เนื่องจากฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังอ่อนแอ ด้านเศรษฐกิจเอเชียอุปสงค์ภายในประเทศชะลอลง แม้เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกในบางประเทศ แต่การส่งออกโดยรวมยังคงอ่อนแอ

ขณะที่เศรษฐกิจไทยกนง.เห็นว่า ชะลอลงต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 แต่ยังใกล้เคียงกับที่เคยคาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยชะลอลงตามการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์และกลุ่มสินค้าคงทน หลังมาตรการรถคันแรกทยอยหมดลงและการสะสมหนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น ส่วนการส่งออกที่ชะลอลงสอดคล้องกับเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่มองไปข้างหน้าอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออกคาดว่าจะทยอยฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ดีข้อจำกัดด้านอุปทานอาจมีส่วนทำให้การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกขยายตัวได้ต่ำลง