posttoday

โอกาสบันเทิงไทยโกอินเตอร์ไปแดนมังกร

20 สิงหาคม 2556

คาดปี’56 บันเทิงแดนมังกรโตต่อเนื่อง...เปิดโอกาสหนัง ละครไทยโกอินเตอร์ ต่อยอดไปธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

คาดปี’56 บันเทิงแดนมังกรโตต่อเนื่อง...เปิดโอกาสหนัง ละครไทยโกอินเตอร์ ต่อยอดไปธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา จีนมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มูลค่าอุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศจีนเติบโตขึ้น นำมาซึ่งโอกาสของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศไทยและธุรกิจที่เกี่ยวข้องในการเจาะตลาดที่มีศักยภาพดังกล่าว

มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ในจีนปี 2556 คาดเติบโตกว่าร้อยละ 17

อุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์และภาพยนตร์ในจีนที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2555 จีนมีสัดส่วนมูลค่าตลาดอยู่ที่ร้อยละ 0.67 ของ GDP ทั้งประเทศ (ไทยมีสัดส่วนมูลค่าตลาดธุรกิจบันเทิงอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ของ GDP ทั้งประเทศ) สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสเติบโตของอุตสาหกรรมในจีนที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของโอกาสธุรกิจบันเทิงต่างประเทศในจีนก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับการเติบโตของอุตสาหกรรม ถึงแม้การเซ็นเซอร์และการจำกัดโควต้าละครและภาพยนตร์จะยังคงเป็นความท้าทายในการเข้าทำตลาดในจีน แต่แนวโน้มผ่อนปรนกฎระเบียบของรัฐบาลจีนก็มีเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ชมที่ต้องการความบันเทิงที่หลากหลาย ทั้งนี้ การเติบโตของอุตสาหกรรมบันเทิงทางโทรทัศน์ของจีน ปัจจัยหลักมาจากการพัฒนาของอุปกรณ์รับชม อาทิ โทรทัศน์สี โทรศัพท์สมาร์ทโฟน อัตราการเข้าถึงการรับชมรายการโทรทัศน์ (ร้อยละ 98.2 ของประชากรทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 0.38) และการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งผลให้ผู้ชมสามารถรับชมได้มากขึ้น โดยละครโทรทัศน์ต่างชาติที่ได้รับความนิยมในจีน ได้แก่ ละครโทรทัศน์จาก ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี และ ไทย ในขณะที่ ภาพยนตร์ต่างชาติที่ได้รับความนิยมในจีนยังเป็นภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่จากฮอลลีวู้ด

โอกาสบันเทิงไทยโกอินเตอร์ไปแดนมังกร

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น ได้แก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งในปี 2555 จีนเร่งอันดับแซงญี่ปุ่นครองตำแหน่งตลาดภาพยนตร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ทั้งนี้ รายได้จากการขายตั๋วชมภาพยนตร์ครึ่งปีแรก (มกราคม- มิถุนายน 2556) สะท้อนให้เห็นการเติบโตที่มูลค่า 10.9 พันล้านหยวน (ราว 75 พันล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า อีกทั้ง โอกาสเติบโตของตลาดภาพยนตร์สามมิติ ที่ปัจจุบันมีจอภาพยนตร์สามมิติมากกว่า 7,000 จอ (จากจอภาพยนตร์ทั้งสิ้นกว่า 13,118 จอ) และยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง   รายได้จากการขายตั๋วจากภาพยนตร์สามมิตินับเป็นรายได้กว่าครึ่งจากการขายตั๋วชมภาพยนตร์ทั้งหมด รวมถึงภาพยนตร์สามมิติยังมีข้อได้เปรียบจากการป้องกันการละเมิดโดยการรับชมออนไลน์เนื่องจากเป็นการรับชมจำเป็นต้องชมในภาพยนตร์เท่านั้น ได้สะท้อนให้เห็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์สามมิติในจีนที่มีศักยภาพ

โดยในปี 2555  ตลาดอุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์และภาพยนตร์ของจีนมีมูลค่า 347 พันล้านหยวน (หรือราว 1.7 ล้านล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 20.1 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ตลาดอุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์และภาพยนตร์ของจีนยังคงเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องและมีศักยภาพที่จะเติบโตเป็นตลาดบันเทิงที่มีมูลค่าใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2563 โดยปัจจัยสนับสนุนหลักได้แก่

- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับข้อมูลดิจิทัล (Digitalization of Distribution Infrastructure) จีนมีการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมต่อด้านโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในโครงการพัฒนาได้แก่ โครงการ Tri-Network Convergence มีเป้าหมายที่จะเชื่อมต่อการโทรคมนาคม (Telecom) การกระจายเสียง (Broadcast) และ อินเทอร์เน็ต (Internet) ให้อยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งผ่านภาพ เสียง และวีดีโอ เป็นการเพิ่มช่องทางการรับชมทั้งจากการชมออนไลน์ผ่านทางเครื่องคอมพิวเตอร์ แท็บเลต และโทรศัพท์มือถือ โดยในปี 2555 ตัวเลขผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของจีนเพิ่มขึ้นเป็น 564 ล้านคน ทำให้การเข้าถึงเนื้อหาบันเทิงจากต่างประเทศง่ายขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยส่งผลให้พฤติกรรมผู้ชมในจีนเปลี่ยนแปลง

-  นโยบายการเร่งกระจายความเป็นเมือง (Urbanization) ที่ส่งผลให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นยังเป็นอีกปัจจัยที่ส่งเสริมการเติบโตอุตสาหกรรม โดยระดับรายได้ต่อหัวของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 17 ต่อปี ในช่วงปี 2553-2555  ทั้งนี้ หลายมณฑลมีรายได้ขยับสูงขึ้น อาทิ  เสฉวน ฉงชิ่ง กวางสี หูหนาน ฝูเจี้ยน และมณฑลใกล้เคียงมณฑลชายฝั่งทะเลอื่นๆ ที่มีการพัฒนาและมีรายได้สูงขึ้นทัดเทียมมณฑลติดชายฝั่งทะเล ส่งผลให้ชาวจีนในเมืองชั้นในมีกำลังการใช้จ่ายเงินในกิจกรรมนันทนาการเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้การผ่อนคลายการควบคุมอุตสาหกรรมบันเทิงของภาครัฐก็ยังเป็นปัจจัยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมบันเทิงเติบโต อาทิ การเพิ่มโควต้าภาพยนตร์ต่างประเทศ รวมทั้งมีปัจจัยสนับสนุนทั้งด้านกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้นประกอบกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์และภาพยนตร์ของจีนจะมีมูลค่าตลาดในปี 2556 มากกว่า 400พันล้านหยวน (ราว 2 ล้านล้านบาท) โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

จีนเปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติ…ละครและภาพยนตร์ไทยสร้างความนิยมในจีนต่อเนื่อง
 
การเปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติ ประกอบกับจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีน (ช่วงอายุของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนมากเป็นกลุ่มเดียวกับผู้ชมที่มีความนิยมในละครไทยที่เป็นกลุ่มแม่บ้านช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป และภาพยนตร์ไทยในช่วงกลุ่มอายุ 17-30 ปี) นำมาซึ่งความนิยมละครและภาพยนตร์ต่างชาติ โดยละครไทยที่มีการออกอากาศในช่อง CCTV8 หูหนาน และอานฮุย ล้วนได้รับความนิยมอย่างสูงเนื่องจากแตกต่างจากละครจีนและละครเกาหลีที่เข้ามาตีตลาดก่อนหน้า นอกจากนี้ ปี 2555 สัดส่วนรายได้จากการขายตั๋วชมภาพยนตร์ในประเทศจีนกว่าร้อยละ 49 เป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ในขณะที่ ภาพยนตร์จีนและภาพยนตร์จากการร่วมทุนระหว่างจีนและฮ่องกงมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 45 ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์สถานการณ์ละครและภาพยนตร์ไทยในประเทศจีน เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจบันเทิงไทยสามารถเจาะตลาดผู้ชมในประเทศจีนได้มากขึ้น ดังนี้

โอกาสบันเทิงไทยโกอินเตอร์ไปแดนมังกร

- ละครไทยฮิต ... ฉายผ่านช่องโทรทัศน์และเว็บไซต์

ละครไทยที่ถูกแปลเป็นภาษาจีนและอัพโหลดให้ชมทางเว็บไซต์ในทันทีหลังจากฉายที่ประเทศไทยจบ การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ตอย่างหลากหลาย รวมถึงการเดินทางไปโชว์ตัว พบปะแฟนคลับ และแสดงคอนเสิร์ตของนักแสดงไทยที่ประเทศจีน ได้สะท้อนให้เห็นถึงกระแสความนิยมของชาวจีนในการรับชมความบันเทิงจากประเทศไทย หรือ T-Pop (Thai Pop Culture) โดยชาวจีนนิยมรับชมละครไทยผ่านช่องทางทั้งสถานีโทรทัศน์และเว็บไซต์

การนำละครไทยไปฉายในประเทศจีนจะดำเนินการโดยตัวแทนจำหน่าย ซึ่งเป็นผู้ซื้อละครจากผู้ผลิตและดำเนินการประสานงานกับสถานีโทรทัศน์ของประเทศจีน โดยก่อนที่ตัวแทนจำหน่ายจะส่งละครให้กองเซ็นเซอร์จะต้องมีการจัดทำเนื้อเรื่องย่อและพากย์ภาษาจีนก่อน ทั้งนี้ กองเซ็นเซอร์จะเปิดรับพิจารณาละครต่างชาติในช่วงต้นปี และกลางปี หากละครผ่านการเซ็นเซอร์แล้วก็จะถูกโปรโมทเพื่อฉายต่อไป ปัจจุบัน มีตัวแทนจำหน่ายละครไทยในประเทศจีนสามรายใหญ่ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประมาณการมูลค่าตลาดค่าลิขสิทธิ์ละครไทยในประเทศจีนอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี แม้ว่ามูลค่าตลาดค่าลิขสิทธิ์ละครไทยในประเทศจีนจะยังไม่สูงมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการรับชมผ่านเว็บไซต์ แต่ก็พบว่าการฉายละครไทยเป็นช่องทางที่จะเผยแพร่วัฒนธรรมไทยและต่อยอดไปยังธุรกิจสินค้าและบริการอื่นๆได้

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้ชาวจีนนิยมชมละครไทย ได้แก่ รูปลักษณ์หน้าตาที่ดึงดูดและความสามารถของนักแสดง ความพิถีพิถันทั้งในขั้นตอนการผลิตและหลังการผลิต เช่น การคัดเลือกนักแสดง เสื้อผ้า ฉาก สถานที่ เทคนิคการถ่ายทำ การตัดต่อ ดนตรีประกอบ ประกอบกับความคล้ายคลึงทางด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศจีนและไทยที่ชื่นชอบละครที่มีเนื้อหาเข้าใจง่าย มีเนื้อเรื่องที่คาดเดาว่าจะจบอย่างมีความสุข จึงส่งผลให้ชาวจีนมีความรู้สึกร่วมไปกับละครไทยได้เป็นอย่างดี

- เทศกาลภาพยนตร์ในจีน ... ช่องทางเปิดตลาดหนังไทย

ความสำเร็จในขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไทยเพื่อไปฉายยังต่างประเทศที่ผ่านมา ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยคำนึงถึงการสร้างภาพยนตร์ที่ตอบโจทย์ตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพ ประกอบกับการจัดเทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติในประเทศจีน เช่น เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปักกิ่ง เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่องทางที่สำคัญสำหรับผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยในการนำเสนอและเจรจาซื้อขายภาพยนตร์ ดังจะเห็นได้จากในระยะสองปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยได้นำภาพยนตร์ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศจีนถึงสามครั้ง ซึ่งประกอบไปด้วย เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ 2 ครั้ง และงานสัปดาห์ภาพยนตร์ไทย 1 ครั้ง รวมถึงในปี 2556 นี้ ผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยยังได้นำภาพยนตร์ไปไทยไปฉายที่เซี่ยงไฮ้ โดยมีการจัดฉายภาพยนตร์รวม 4 เรื่อง และมีบริษัทผลิตภาพยนตร์ไทยร่วมออกบูธ 8 บริษัท

ค่าลิขสิทธิ์ภาพยนตร์มีความแตกต่างกันตามประเภทภาพยนตร์ โดยภาพยนตร์แอคชั่นมีรายได้ค่าลิขสิทธิ์โดยเฉลี่ยสูงกว่าภาพยนตร์ประเภทอื่น คือ ประมาณ 1,000,000 - 2,000,000 เหรียญสหรัฐต่อเรื่อง ในขณะที่ภาพยนตร์สยองขวัญมีรายได้ค่าลิขสิทธิ์โดยเฉลี่ยประมาณ 400,000 - 500,000 เหรียญสหรัฐต่อเรื่อง และภาพยนตร์โรแมนติกมีรายได้ค่าลิขสิทธิ์โดยเฉลี่ยประมาณ 200,000 เหรียญสหรัฐต่อเรื่อง ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้ชาวจีนนิยมชมภาพยนตร์ไทย ได้แก่ เนื้อหาภาพยนตร์ที่มีความน่าสนใจ นอกจากนี้ ภาพยนตร์ไทยบางเรื่องยังนำวัฒนธรรม เช่น ศิลปะการต่อสู้ ประวัติศาสตร์ มาผสมผสานกับบทภาพยนตร์ จึงส่งผลให้ภาพยนตร์ไทยมีเอกลักษณ์และแปลกใหม่ในสายตาชาวจีน

แนะรัฐและเอกชนขยายโอกาสละครและภาพยนตร์ไทยในจีน ต่อยอดไปธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

การฉายละครและภาพยนตร์ไทยในประเทศจีน ไม่เพียงแต่สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทยในรูปแบบค่าลิขสิทธิ์เท่านั้น แต่ยังเป็นช่องทางสร้างมูลค่าจากอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม (Cultural Industry) กล่าวคือ เป็นโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มจากละครหรือภาพยนตร์ โดยพัฒนาโครงเรื่องที่นำไปสู่การติดตามซื้อสินค้าและบริการ อย่างไรก็ตาม การฉายละครและภาพยนตร์ไทยในประเทศจีนยังเผชิญอุปสรรคจากกฎระเบียบของรัฐบาลที่มุ่งปกป้องผู้ผลิตละครและภาพยนตร์ในประเทศ ทั้งการจำกัดโควต้าละครและภาพยนตร์ การกำหนดเวลาฉาย การกำหนดกฎระเบียบการร่วมทุน รวมถึงการเซ็นเซอร์ละครและภาพยนตร์ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้ละครและภาพยนตร์ไทยสามารถเจาะตลาดผู้ชมในประเทศจีนได้มากขึ้น โดยข้อเสนอแนะสำหรับภาครัฐและเอกชนส่วนประกอบไปด้วยรายละเอียด ดังนี้

โอกาสบันเทิงไทยโกอินเตอร์ไปแดนมังกร

- ภาครัฐ : หน่วยงานภาครัฐควรมีบทบาทในการอำนวยความสะดวกให้ผู้ผลิตละครและภาพยนตร์ไทยสามารถเข้าสู่ตลาดจีนได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยประเด็นเร่งด่วน ได้แก่ การเจรจาเพื่อลดอุปสรรคในการนำละครและภาพยนตร์ไทยไปฉายยังประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขยายโควต้าละครและภาพยนตร์ไทย และการผ่อนคลายระเบียบการร่วมทุนระหว่างผู้ผลิตชาวไทยและชาวจีน ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของการเจรจาเพื่อให้ได้ประโยชน์สำหรับทั้งสองประเทศ

- ภาคเอกชน : ผู้ผลิตละครและภาพยนตร์ไทยควรศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการรับชมละครและภาพยนตร์ไทยของผู้ชมชาวจีนในด้านปัจจัยประชากรศาสตร์ ไลฟ์สไตล์ และรสนิยม เพื่อเป็นแนวทางในการคัดเลือกหรือผลิตละครและภาพยนตร์ป้อนสู่ตลาดจีนที่สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ผลิตละครไทยที่ผลิตละครเพื่อตอบโจทย์ผู้ชมในประเทศเป็นหลัก โดยมองว่าการส่งออกละครไทยไปยังประเทศจีนเป็นผลพลอยได้เท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ผลิตละครและภาพยนตร์ไทยควรสร้างความหลากหลายด้านเนื้อหาและประเภทของละครและภาพยนตร์เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ชมชาวจีน รวมถึงยกระดับการเขียนบทละครและภาพยนตร์ไทย โดยอาจอยู่ในรูปแบบการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ทั้งนี้ พบว่า การพัฒนาโครงเรื่องยังเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตละครและภาพยนตร์ไทยต้องให้ความสำคัญ โดยชาวจีนชอบละครและภาพยนตร์ที่มีเนื้อเรื่องสะท้อนการใช้ชีวิต และสามารถเข้าถึงคาแรกเตอร์ของตัวละครได้ รวมถึงผู้ผลิตละครและภาพยนตร์ไทยควรใช้ดารานำแสดงที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ชมชาวจีนอยู่แล้วเพื่อดึงดูดผู้ชมชาวจีนได้มากยิ่งขึ้น

จากข้อจำกัดด้านกฎระเบียบในการฉายละครและภาพยนตร์ไทยในประเทศจีน ที่อาจส่งผลให้ตลาดละครและภาพยนตร์ไทย ยังมีมูลค่าไม่สูงมากนักเมื่อเปรียบกับตลาดภายในประเทศ โดยมีผลพลอยได้อยู่ในรูปแบบของการเดินทางไปโชว์ตัว พบปะแฟนคลับ และแสดงคอนเสิร์ตของนักแสดงไทยที่ประเทศจีน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาครัฐและเอกชนจึงต้องมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นแหล่งถ่ายทำละครและภาพยนตร์จากประเทศจีนควบคู่กันไป ซึ่งจะส่งผลในเชิงบวกมายังธุรกิจให้บริการเช่าอุปกรณ์การถ่ายทำ เช่าสตูดิโอ สถานที่ และบริการใช้งานเทคนิคพิเศษในประเทศไทย ที่มีข้อได้เปรียบในด้านการเป็นเจ้าบ้านที่มีความเข้าใจและคุ้นเคยกับสถานที่ถ่ายทำและสภาพแวดล้อมในประเทศไทยมากกว่าชาวจีน จึงใช้ระยะเวลาการถ่ายทำที่น้อยกว่าและประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า รวมถึงการปรากฏฉากสถานที่ต่างๆของประเทศไทยในภาพยนตร์จีน ยังส่งผลบวกต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจนำเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร สินค้าที่ระลึก อีกด้วย ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จของภาพยนตร์จีนเรื่องหนึ่งที่เข้ามาถ่ายทำในจังหวัดเชียงใหม่เป็นหลัก ซึ่งได้สร้างสถิติภาพยนตร์ทำรายได้สูงสุดของประเทศจีน ปรากฏการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้บริษัททัวร์ของประเทศจีนจัดแพ็กเกจทัวร์ตามรอยเส้นทางท่องเที่ยวในภาพยนตร์ และมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมายังประเทศไทยมากกว่า 2 ล้านคน โดยเป็นการเดินทางมาท่องเที่ยวเชียงใหม่ประมาณ 2 แสนคน