posttoday

ศูนย์กสิกรฯชี้ไทยเผชิญภาวะถดถอยทางศก.

19 สิงหาคม 2556

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ระบุ ไทยเผชิญภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจแล้ว หลังจีดีพีชะลอตัว 2 ไตรมาสติด แต่ยังคงกรอบคาดการณ์จีดีพีที่ 3.8-4.3 %

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ระบุ ไทยเผชิญภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจแล้ว หลังจีดีพีชะลอตัว 2 ไตรมาสติด แต่ยังคงกรอบคาดการณ์จีดีพีที่ 3.8-4.3 %

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงมาที่ 2.8% หลังจากที่ขยายตัว 5.4% ในไตรมาสแรก ซึ่งนับเป็นการชะลอตัวสองไตรมาสติดต่อกัน ตามนิยามทางเศรษฐศาสตร์นั้นถือได้ว่าเศรษฐกิจไทยได้เผชิญกับภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) แล้ว โดยสะท้อนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทั้งการลงทุนและการบริโภค รวมถึงการกลับมาหดตัวอีกครั้งของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของไทย

อย่างไรก็ดี ตัวเลขจีดีพีที่หดตัวส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงของการปรับตัวกลับสู่การเติบโตตามปัจจัยพื้นฐาน หลังจากที่การขยายตัวสูงในปีที่ผ่านมาจากแรงผลักดันพิเศษจากหลากหลายมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตหรือปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรง รวมทั้ง คาดว่า การขยายตัวเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสจะเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสขยายตัวดีขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงกว่า 5.0% ในช่วงไตรมาสที่ 3 โดยได้รับอำนิสงส์จากฐานที่ต่ำในปีก่อน ตลอดจนสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจต่างประเทศที่ทยอยมีภาพที่ดีขึ้น รวมถึงบรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศ อาจได้รับแรงหนุนจากการเร่งรัดเบิกจ่ายเม็ดเงินในช่วงโค้งสุดท้ำยของปีงบประมำณ 2556และทิศทางเงินเฟ้อที่ผ่อนคลาย

ก่อนจะกลับมาเผชิญกับฐานสูงอีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้าย ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีอาจขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 4.0% ใกล้เคียงช่วงครึ่งแรกของปีที่ขยายตัว 4.1% โดยยังคงตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ประมาณ 4.0% ในกรณีพื้นฐาน จากกรอบคาดการณ์ที่ 3.8-4.3% ไว้ตามเดิม

ขณะที่ แนวโน้มสำหรับในปี 2557 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในกรณีพื้นฐานที่ประมาณ 4.5% โดยสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่ทยอยเริ่มมีภาพด้านบวกตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2556 น่าจะช่วยหนุนให้ภาคการส่งออกของไทยเติบโตในอัตราที่สูงขึ้นมาที่ 7.0% ในปี 2557 อย่ำงไรก็ดี การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในปี 2557 อาจขยายตัวที่ประมาณ 2.4% ใกล้เคียงกับปีนี้ สะท้อนถึงควำมกังวลต่อค่ำครองชีพ/หนี้ครัวเรือนที่กดดันกำลังซื้อของประชาชน

ด้านธนาคารเดอะรอยัลแบงก์อ๊อฟสกอตแลนด์ ออกบทวิจัยโดยระบุว่า สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวได้ต่ำกว่าคาด เป็นผลมาจากการเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้าน โดยปัจจัยที่มีน้ำหนักค่อนข้างมากคือความล่าช้าในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลและระดับหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงก็เริ่มส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศ เช่นเดียวกับภาคการส่งออกที่ยังคงหดตัว

อย่างไรก็ดี ยังมองว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของไทยจะไม่มีผลต่อการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินหรือปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจในปัจจุบนเกิดจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกและการขาดนโยบายการคลังที่จะสนับสนุนการเติบโต ไม่ได้เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงจนเกินไป