posttoday

คาดซอฟแวร์เชิงธุรกิจโตเกิน 12%

19 กรกฎาคม 2556

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผย ปรากฏการณ์ Big Data หนุนบริการซอฟท์แวร์วิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจปี 56 โตกว่าร้อยละ 12

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผย ปรากฏการณ์ Big Data หนุนบริการซอฟท์แวร์วิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจปี 56 โตกว่าร้อยละ 12

ในโลกของการดำเนินธุรกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน “ลูกค้า” เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ เพราะการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ย่อมทำให้ธุรกิจมีความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน ธุรกิจต่างๆ จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาข้อมูลของลูกค้าในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอายุ อาชีพ การศึกษา และพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายแล้วนำไปสู่การส่งมอบสินค้าและบริการตามความต้องการที่แท้จริง ดังนั้น การได้มาซึ่งข้อมูลลูกค้าจึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการตลาด แต่ในปัจจุบัน ข้อมูลลูกค้าส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่กระจัดกระจายอยู่บนอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ ประกอบกับการที่ผู้คนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้โดยง่าย ส่งผลให้ข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตมีปริมาณมากขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกัน ปริมาณข้อมูลสารสนเทศขององค์กรธุรกิจก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจและขนาดขององค์กรธุรกิจที่มีการขยายตัว จึงก่อให้เกิดขนาดข้อมูลใหญ่หรือที่เราเรียกกันว่า “Big Data” โดยทาง IDC คาดการณ์ไว้ว่า Big Data จะมีขนาดเพิ่มมากขึ้นถึง 40 เซตตาไบท์  ภายในปี 2563 ซึ่งเป็นการเติบโตมากกว่า 50 เท่าจากปี 2553

อาจกล่าวได้ว่า Big Data เป็นสินทรัพย์ที่ล้ำค่าต่อองค์กรธุรกิจ ความได้เปรียบหรือความเสียเปรียบในเชิงแข่งขัน การตัดสินผู้แพ้หรือผู้ชนะในโลกของการดำเนินธุรกิจ จึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการดึงข้อมูลที่มีประโยชน์และมีคุณค่าออกมาจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่เหล่านั้น เพื่อใช้ในการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงธุรกิจ (Business Analytics) โดยอาจใช้ซอฟท์แวร์หรือโซลูชั่นในการค้นหา รวบรวมข้อมูล หารูปแบบและหาความสัมพันธ์ของข้อมูลที่สำคัญออกมาจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่อยู่ตามแหล่งต่างๆ ในเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือในระบบงานต่างๆ ภายในองค์กร ท้ายที่สุดแล้ว ผู้บริหารสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประกอบการตัดสินใจ การคาดการณ์แนวโน้มธุรกิจ กำหนดแนวทางดำเนินงาน รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาในการดำเนินงาน ส่งผลให้ธุรกิจที่ให้บริการซอฟท์แวร์หรือโซลูชั่นสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ในเชิงธุรกิจมีบทบาทมากขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน

การประยุกต์ใช้ Big Data กับธุรกิจให้บริการซอฟท์แวร์หรือโซลูชั่นเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ

องค์กรธุรกิจสามารถประยุกต์ใช้ Big Data ในรูปแบบต่างๆ โดยการใช้บริการซอฟท์แวร์หรือโซลูชั่นเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ ดังนี้

- การประยุกต์ใช้ Big Data จากข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์

องค์กรธุรกิจสามารถศึกษาและเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าและบริการของตนจากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล Big Data ที่มีอยู่บนอินเทอร์เน็ต เช่น การวิเคราะห์และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการเข้าชมข้อมูลของผู้บริโภคในเวบไซต์ขององค์กรธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการกดลิงค์เพื่อเข้าดูข้อมูลสินค้าและบริการแต่ละประเภท รวมไปถึงระยะเวลาในการเข้าชมแต่ละเวบเพจ เพื่อทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมการรับรู้และความสนใจของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าและบริการในแต่ละประเภท เป็นต้น นอกจากนี้ องค์กรธุรกิจยังสามารถประยุกต์ใช้ Big Data จากเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้อีกเช่นกัน เช่น การเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการกด “Like” ของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าและบริการประเภทต่างๆ โดยอาจจะจำแนกตามลักษณะของผู้บริโภคอย่างเพศ อายุ หรือการศึกษา เพื่อนำไปศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและหาความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายต่อไป

- การประยุกต์ใช้ Big Data จากระบบฐานข้อมูลในองค์กร

องค์กรธุรกิจสามารถส่งมอบสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจากการรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลลูกค้าของตนที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายในระบบฐานข้อมูลของหลายๆ ฝ่ายภายในองค์กร เช่น การรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นประวัติการสั่งซื้อสินค้า ความถี่ในการสั่งซื้อ จากฝ่ายขายและการตลาด ข้อมูลการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ จากฝ่ายวิจัยและพัฒนา  ข้อมูลประวัติการชำระเงินค่าสินค้าและบริการไม่ว่าจะเป็นการชำระด้วยเงินสดหรือเงินผ่อน เป็นต้น เพื่อนำไปคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมไปถึงคิดค้นแผนการตลาดสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

ปัจจัยผลักดันธุรกิจให้บริการซอฟท์แวร์หรือโซลูชั่นเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจการให้บริการซอฟท์แวร์หรือโซลูชั่นเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจในประเทศไทยปี 2556 น่าจะมีการเติบโตที่ดี โดยได้รับแรงขับเคลื่อนต่างๆ ดังนี้

1. แรงขับเคลื่อนจากการเติบโตของ Big Data ในอินเทอร์เน็ต

--> การเติบโตของจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์ในไทย

จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 12.3 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 8 ต่อปี ทั้งนี้ อัตราการเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยดังกล่าวยังคงได้รับแรงผลักดันจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ โดยมีแรงหนุนหลักจากการทยอยเปิดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 ของผู้ประกอบการโทรคมนาคม  ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต 3G ดังกล่าว จะต้องลดอัตราค่าใช้บริการโดยเฉลี่ยสำหรับ Non-Voice  อย่างอินเทอร์เน็ตลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งแรงผลักดันที่สำคัญที่ทำให้ความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คือ ความนิยมที่เพิ่มขึ้นในการใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่สมรรถนะสูงอย่างสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่มีราคาลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2556 คาดว่าจะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2,500 ถึง 4,000 บาท อันเนื่องมาจากการแข่งขันที่ร้อนแรงในตลาด

คาดซอฟแวร์เชิงธุรกิจโตเกิน 12%

ด้วยความพร้อมของเทคโนโลยีและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ผ่านระบบ 3G ย่อมทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ และอินสตราแกรมได้อย่างง่ายดาย ทุกที่ ทุกเวลา โดยจากการสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า คนไทยนิยมใช้เฟซบุ๊คมากที่สุดถึงร้อยละ 92 ของการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊คในไทยยังคงมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 ถึงปี 2555 ทั้งนี้ จำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊คได้เพิ่มสูงขึ้นจาก 13.3 ล้านคน ในปี 2554 เป็น 17.7 ล้านคน ในปี 2555 คิดเป็นอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 33.5

จากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น มีส่วนผลักดันให้จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลให้ข้อมูลบนโลกออนไลน์มีมากขึ้นเป็นทวีคูณ ท้ายที่สุดแล้วความต้องการขององค์กรธุรกิจที่ต้องการดึงคุณค่าและประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่เหล่านั้นมาใช้ในเชิงธุรกิจจะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจการให้บริการซอฟท์แวร์หรือโซลูชั่นเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจเข้ามามีบทบาทและความสำคัญมากขึ้นเช่นเดียวกัน

คาดซอฟแวร์เชิงธุรกิจโตเกิน 12%

2. แรงขับเคลื่อนจากการเติบโต Big Data ในองค์กรธุรกิจ

--> การเติบโตขององค์กรธุรกิจส่งผลต่อปริมาณข้อมูลธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น

เมื่อองค์กรธุรกิจมีการเติบโต ข้อมูลสารสนเทศที่สำคัญที่ใช้สำหรับการดำเนินธุรกิจก็ย่อมมีปริมาณมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เช่น ข้อมูลลูกค้าและประวัติการสั่งซื้อสินค้าในธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก ข้อมูลการทำธุรกรรมของลูกค้าในธุรกิจสถาบันการเงิน เป็นต้น แน่นอนว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนไหวตลอดเวลา ซึ่งจะมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การรวบรวมและการเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบงานต่างๆ ภายในองค์กรเพื่อการประมวลผลและการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงธุรกิจเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจ เพราะผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลจะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ แนวทางการดำเนินงาน และการแนวทางการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องและตรงจุด

3. แรงขับเคลื่อนจากความต้องการใช้ Cloud Computing

เนื่องจากการขอใช้บริการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ในลักษณะ Cloud computing อยู่ในรูปแบบการเช่าใช้บริการ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ขอใช้บริการจ่ายตามจริง ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูง โดยผู้ขอใช้บริการสามารถเลือกใช้บริการตามความต้องการที่เหมาะสมภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดได้ จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เนื่องจากองค์กรธุรกิจผู้ใช้บริการไม่จำเป็นต้องเสียเงินก้อนโตในการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ ซอฟท์แวร์หรือโซลูชั่นต่างๆ เองทั้งระบบ ถือเป็นแรงจูงใจให้องค์กรธุรกิจเหล่านั้นหันมาใช้บริการบริหารข้อมูลขนาดใหญ่มากขึ้น 

อย่างไรก็ดี จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คาดว่าอาจจะเป็นปัจจัยชะลอการเติบโตของธุรกิจบริการซอฟท์แวร์หรือโซลูชั่นเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจในระดับหนึ่ง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2556 ตลาดบริการซอฟท์แวร์หรือโซลูชั่นเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ  น่าจะเติบโตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7.6 ถึง 12.1 จากที่เติบโตประมาณร้อยละ 14.2 ในปี 2555 โดยมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 1,840 ถึง 1,920 ล้านบาท เทียบกับ 1,700 ล้านบาท ในปี 2555

คาดซอฟแวร์เชิงธุรกิจโตเกิน 12%

ปัจจัยหนุนบริการซอฟท์แวร์หรือโซลูชั่นเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจในระยะยาว

การให้บริการซอฟท์แวร์หรือโซลูชั่นเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ ผู้ประกอบการควรพิจารณาและทำความเข้าใจถึงปัจจัยสำคัญบางประการที่มีส่วนทำให้ธุรกิจสามารถประสบความสำเร็จในระยะยาว ดังนี้

- ปรับปรุงและพัฒนาซอฟท์แวร์หรือโซลูชั่นในการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ด้วยยุคของสื่อสังคมออนไลน์ที่กำลังแพร่กระจายในวงกว้างในปัจจุบัน ก่อให้เกิดข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีหลากหลายรูปแบบ ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคนิยมเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวในเครือข่ายออนไลน์มากขึ้น โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่มีคุณค่าเพราะถูกแฝงด้วยข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคอยู่ในนั้น นับว่าเป็นโอกาสของธุรกิจที่พร้อมให้บริการซอฟท์แวร์หรือโซลูชั่นในการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่แก่องค์กรธุรกิจที่ต้องการศึกษาถึงพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อให้ได้ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายดังกล่าว แต่ในอนาคต ข้อมูลสารสนเทศที่สำคัญต่อองค์กรธุรกิจผู้ใช้บริการอาจจะมาจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้นนอกเหนือจากสื่อสังคมออนไลน์ และรูปแบบอาจจะมีความหลากหลายมากขึ้นอีกเช่นกัน ดังนั้น  ผู้ประกอบการจึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาซอฟท์แวร์หรือโซลูชั่นสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นและทันสมัยอย่างต่อเนื่องเพื่อมารองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในอนาคต

- สนับสนุนและให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริหารองค์กรธุรกิจให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่

เนื่องด้วย Big Data เป็นเรื่องใหม่สำหรับองค์กรธุรกิจต่างๆ ทำให้ยังคงมีองค์กรธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ไม่พร้อมรับมือกับขนาดข้อมูลขนาดใหญ่และยังไม่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากการบริหารจัดการกับข้อมูลขนาดใหญ่ ผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการซอฟท์แวร์หรือโซลูชั่นเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจจึงควรเข้าไปให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษา เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจแก่องค์กรธุรกิจต่างๆ ให้เล็งเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อให้สามารถรองรับฐานข้อมูลสารสนเทศที่จะปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้

-ุ ร่วมมือกับสถานศึกษาในการผลิตนักวิเคราะห์สถิติที่มีความรู้ความเข้าใจการใช้โมเดลและซอฟท์แวร์

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเด็นที่สำคัญที่สุดของการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่คือ การดึงข้อมูลที่มีคุณค่าและมีประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ที่มาจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและมีหลายๆ รูปแบบมาวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติในเชิงธุรกิจ ดังนั้น องค์กรธุรกิจจำเป็นจะต้องใช้นักวิเคราะห์สถิติที่มีความรู้และความเข้าใจในการใช้โมเดล ซอฟท์แวร์หรือโซลูชั่นสำหรับการบริหารจัดการข้อมูลได้เป็นอย่างดี แต่ในปัจจุบันยังคงมีปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ ประสบการณ์ และทักษะในเรื่องดังกล่าว ผู้ประกอบการอาจร่วมมือกับสถานศึกษาในการเปิดหลักสูตรการวิเคราะห์ข้อมูลทางสิถิติในเชิงธุรกิจที่มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้โมเดลด้วย หรืออาจรับนักศึกษาฝึกงาน ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาในการทำจุลนิพนธ์ของนักศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาด และสามารถเริ่มต้นการทำงานได้เร็วหลังจากจบการศึกษา