posttoday

ทำบุญเข้าพรรษาสะพัดหนุนท่องเที่ยวไตรมาส3

18 กรกฎาคม 2556

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินท่องเที่ยวทำบุญเข้าพรรษาคึกคัก หนุนตลาดไทยเที่ยวไทยไตรมาส 3 ปี’56 มีรายได้ 1.2 แสนล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินท่องเที่ยวทำบุญเข้าพรรษาคึกคัก หนุนตลาดไทยเที่ยวไทยไตรมาส 3 ปี’56 มีรายได้ 1.2 แสนล้านบาท

เทศกาลเข้าพรรษาปีนี้อยู่ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม - 19 ตุลาคม 2556 ซึ่งตรงกับช่วงฤดูฝน และอยู่ในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยวของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะไกลในยุโรป ทำให้บรรดาผู้ประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยวทั้งหลาย ต่างต้องพึ่งตลาดนักท่องเที่ยวคนไทย เพื่อมาช่วยชดเชยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ด้วยการจัดรายการส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ ดึงดูดลูกค้า ทั้งในกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวทั่วไป และตลาดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมุ่งขยายตลาดการประชุมสัมมนา

ทั้งของหน่วยราชการและธุรกิจเอกชน นอกจากนี้ ยังมีตลาดท่องเที่ยวทำบุญไหว้พระที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้แรงเกื้อหนุนสำคัญจากการแสวงหาสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจของผู้คนในปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้า ท่ามกลางความเร่งรีบแข่งกับเวลาในสังคมเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาด้านสุขภาพ และภัยธรรมชาติต่างๆ

การทำบุญเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษามีประเพณีสำคัญอยู่ 2 ประเพณีที่คนไทยปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านานแล้ว คือ

- ประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นประเพณีที่เกิดจากความจำเป็นในสมัยก่อนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้พุทธศาสนิกชนจึงนิยมร่วมกันหล่อเทียนต้นใหญ่ เพื่อจุดได้นานตลอดระยะเวลา 3 เดือน ไปถวายพระสงฆ์เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติกิจวัตร (เช่น ทำวัตรสวดมนต์เช้าและเย็น ศึกษาพระปริยัติธรรม เป็นต้น) ปัจจุบันประเพณีแห่เทียนพรรษายังนิยมถือปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป และมีพุทธศาสนิกชนบางส่วนหันมาถวายหลอดไฟแทน   - ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน พุทธศาสนิกชนไทยยังคงให้ความสำคัญกับการนำผ้าอาบน้ำฝนไปถวายพระสงฆ์ พร้อมกับอาหารและเครื่องใช้ที่จำเป็น ในช่วงเข้าพรรษา

จังหวัดที่มีการจัดงานประเพณีทำบุญเข้าพรรษาอย่างยิ่งใหญ่จนกลายเป็นกิจกรรมระดับประเทศ ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมากเดินทางไปร่วมกิจกรรมทุกปี ได้แก่ ประเพณีการแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี และประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของจังหวัดสระบุรี นอกจากนี้ ประเพณีตักบาตรดอกไม้ยังได้ขยายวงกว้างไปในหลายพื้นที่ รวมทั้งกรุงเทพฯ ซึ่งมีพระอารามหลวงหลายแห่งที่มีพิธีนี้ ได้แก่ วัดบวรนิเวศวิหารฯ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามฯ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามฯ วัดเทพศิรินทราวาสฯ และวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก โดยแต่ละแห่งจะนำดอกไม้ชนิดอื่นที่ไม่ใช่ดอกเข้าพรรษามาตักบาตรดอกไม้ เช่น ดอกบัว  ดอกกล้วยไม้ ดอกดาวเรือง และดอกมะลิ

ทำบุญเข้าพรรษาสะพัดหนุนท่องเที่ยวไตรมาส3

ขณะเดียวกันคนไทยที่อาศัยอยู่ตามแนวลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายหลักของไทย ในเทศกาลเข้าพรรษา นิยมจัดกิจกรรมประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำ เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดนนทบุรี ที่ยังคงอนุรักษ์ไว้เพื่อให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมแก่คนรุ่นหลัง

ในแต่ละพื้นที่ต่างจัดงานทำบุญในเทศกาลเข้าพรรษาตามประเพณีที่สืบทอดกันมา ดึงดูดให้พุทธศาสนิกชนทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่มาร่วมกิจกรรมกันอย่างคึกคักในปีนี้ ซึ่งมีวันหยุดติดต่อกัน 4 วัน (วันที่ 20 – 23 กรกฎาคม 2556)

คนกรุงฯ ร้อยละ 96.4 ยังเห็นถึงความสำคัญของเทศกาลเข้าพรรษา

ประชาชนส่วนใหญ่ต่างวางแผนการใช้เวลาช่วงวันหยุดต่อเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษานี้ ทำกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับพุทธประเพณี และกิจกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะการเดินท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงวัดที่เดินทางไปทำบุญ

นอกจากคนไทยในต่างจังหวัดที่มีวิถีการดำรงชีวิตเอื้ออำนวยต่อการทำบุญเป็นประจำในทุกวาระแล้ว  ในปัจจุบันคนกรุงเทพฯ เองก็หันมาเข้าวัดทำบุญกันมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นวัดในพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ และจังหวัดใกล้เคียง (อาทิ นครปฐม พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา เป็นต้น) ที่สามารถเดินทางไปและกลับ
ในวันเดียวกันได้อย่างสะดวกสบาย ด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล หรือระบบขนส่งสาธารณะ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรมงานบุญประเพณีในช่วงเข้าพรรษาปี 2556 ของคนกรุงเทพฯ ในลักษณะการสำรวจเชิงคุณภาพ ระหว่างวันที่ 10-16 กรกฎาคม 2556 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 416 คน ที่ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพหลัก และทุกช่วงอายุ เพื่อสะท้อนถึงค่านิยมต่อกิจกรรมทางพุทธศาสนาของคนไทยที่สืบทอดกันช้านาน รวมถึงพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรมในงานประเพณีเข้าพรรษาในปีนี้ ซึ่งสามารถสรุปประเด็นที่สำคัญได้ดังนี้

- กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 96.4 เห็นว่าเทศกาลเข้าพรรษายังคงมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ช่วยสืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมอันดีของไทยในวันสำคัญทางพุทธศาสนา โดยร้อยละ 69.2 มีแผนจะเข้าร่วมกิจกรรมในวันเข้าพรรษา ได้แก่ การทำบุญตักบาตร/ทำทาน/บริจาคปัจจัย การถวายเทียนพรรษา/หลอดไฟ การปฏิบัติธรรม การถวายผ้าอาบน้ำฝน และการไหว้พระขอพร เป็นต้น

- กลุ่มตัวอย่างเลือกไปทำบุญที่วัดในกรุงเทพฯ มากอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ ที่วัดในจังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ เช่น พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงวัดในต่างจังหวัดตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งมีญาติหรือคนรู้จักพำนักอยู่

- กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 70 เดินทางไปทำบุญกับสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งเพื่อนฝูงและญาติพี่น้อง

- กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เดินทางไปร่วมกิจกรรมช่วงเทศกาลเข้าพรรษาด้วยรถยนต์ส่วนตัว คิดร้อยละ  83.0 รองลงมา คือ ใช้บริการระบบขนส่งมวลชน

ทำบุญเข้าพรรษาสะพัดหนุนท่องเที่ยวไตรมาส3

ท่องเที่ยวทำบุญ....คึกคัก : หนุนไทยเที่ยวไทยสร้างรายได้สะพัด 1.2 แสนล้านบาท

การจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลเข้าพรรษากันอย่างยิ่งใหญ่ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะตามวัดที่มีชื่อเสียง ซึ่งบรรดาพุทธศาสนิกชนเลื่อมใสศรัทธากันมาช้านาน เพื่อรองรับกระแสการทำบุญที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางไปในหมู่คนไทยชาวพุทธ ทุกเพศ ทุกวัย ที่ส่วนใหญ่ต่างแสวงหาสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจ เพื่อสามารถยืนหยัดผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตยุคโลกไร้พรมแดนในปัจจุบัน เมื่อประกอบกับบรรยากาศการท่องเที่ยวไทยที่แจ่มใส จึงมีแนวโน้มเกื้อหนุนการเติบโตของตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า จะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศประมาณ 30.2 ล้านคน/ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีแนวโน้มก่อให้เกิดรายได้ท่องเที่ยว คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 จากปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยที่เที่ยวในประเทศนับได้ว่ายังเติบโต ต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปีที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 9.6 (เทียบกับครึ่งแรกของปี 2555 ที่บรรยากาศภายในประเทศยังไม่เอื้อต่อการเดินทางท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นช่วงที่คนไทยในหลายพื้นที่อยู่ระหว่างการซ่อมแซมบ้านเรือนหลังภัยน้ำท่วมในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554)

เม็ดเงินรายได้ท่องเที่ยวมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ มีแนวโน้มสะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยประมาณร้อยละ 23 คิดเป็นมูลค่า 2.75 หมื่นล้านบาท มีแนวโน้มสะพัดไปสู่ธุรกิจด้านที่พัก รองลงมา คือ ร้อยละ 22 คิดเป็นมูลค่า 2.65 หมื่นล้านบาท สะพัดสู่ธุรกิจจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง และร้อยละ 18 คิดเป็นมูลค่า 2.15 หมื่นล้านบาท สะพัดสู่ธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนี้  เม็ดเงินรายได้ท่องเที่ยวดังกล่าว ยังสะพัดสู่ธุรกิจด้านคมนาคมขนส่ง และธุรกิจด้านบันเทิงและนันทนาการในสัดส่วนเท่ากัน คือ ร้อยละ 15 คิดเป็นมูลค่ารวมกัน 3.6 หมื่นล้านบาท

สำหรับแนวโน้มโดยรวมตลอดปี 2556  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยเที่ยวในประเทศจะเติบโตประมาณ ร้อยละ 6.1 จากปีก่อนหน้า โดยในช่วงไตรมาส 4 ยังมีปัจจัยหนุนจากการที่นักท่องเที่ยวคนไทยส่วนใหญ่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสัมผัสอากาศที่หนาวเย็นในช่วงปลายปี