posttoday

กมธ.หนุนรายได้สลากพัฒนาสังคม

05 กรกฎาคม 2556

กมธ.ถกแก้ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาล เน้นนำรายได้พัฒนาสังคม-คุณภาพชีวิต แนะจัดสรรโควต้าใหม่กันผูกขาด

กมธ.ถกแก้ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาล เน้นนำรายได้พัฒนาสังคม-คุณภาพชีวิต แนะจัดสรรโควต้าใหม่กันผูกขาด

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางปฏิรูประบบการบริหารจัดการสลากในประเทศไทย วุฒิสภา ที่มีนายบุญเทียร บุญตัน สว.สรรหา ในฐานะประธาน ได้จัดสัมมนา “นับหนึ่ง..ปฏิรูปสลากเพื่อสังคมไทย” ณ ห้องรับรอง 1-2 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำข้อสรุปและความเห็นที่ได้ มาปรับปรุงรายงานเกี่ยวกับการปฏิรูประบบบริหารจัดการสลากในประเทศไทย ก่อนเสนอให้กับรัฐบาล

นางนวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่ปรึกษากมธ. บรรยายว่า จากการศึกษาปัญหาการบริหารจัดการสลากในประเทศไทย พบว่ามี 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1.เป้าหมายในการจัดให้มีสลาก 2.ปัญหาด้านการบริหารงานบนพื้นฐานหลักธรรมาภิบาล และ 3.ปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคา

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่พบ คือ กลุ่มผู้ที่ซื้อสลากเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย อีกทั้งส่วนแบ่งรายได้ของรัฐจากการจำหน่ายสลากสูงถึง 28% เท่ากับว่ามีการจัดเก็บภาษีจากคนจนสูง รวมถึงประเทศต่างๆ มักจะใช้รายได้จากการจำหน่ายไปใช้ในการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตประชาชนโดยตรง

“ปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคา เพราะสำนักงานสลากฯ ไม่ได้จัดจำหน่ายสลากผ่านผู้ซื้อโดยตรง แต่จัดสรรผ่านองค์กร หรือพ่อค้าคนกลาง มีการจำหน่ายสลากแบบผูกขาด ทั้งนี้ รายงานการศึกษาพฤติกรรมและผลกระทบจากการพนันเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลถึง 19.2 ล้านคน คิดเป็น 17.6% ของประชากรทั้งหมด”นางนวลน้อย กล่าว

สำหรับปัญหาการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล พบว่า สำนักงานสลากฯละเลยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะการจัดสรรและการจำหน่าย ไม่มีแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภค จนทำให้มีการจำหน่ายสลากเกินราคา รวมถึงการจัดสรรโควต้าไม่โปร่งใส เปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนอย่างจำกัด ทำให้ประชาชนจำนวนมากเชื่อว่ามีหวยล็อค

ดังนั้น หลักการปฏิรูปสลาก คือ ต้องให้เกิดประโยชน์เพื่อพัฒนาสังคมอย่างชัดเจน มีการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล จัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม เพื่อลดผลกระทบจากการจัดให้มีสลาก ซึ่งถือเป็นการพนันประเภทหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการสลากตามหลักธรรมาภิบาล ต้องเปลี่ยนชื่อจาก “สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล” เป็น “สำนักงานสลาก” แยกอำนาจในการกำกับอำนาจในการบริหารองค์การสลากและอำนาจในการบริหารกองทุน ออกจากกันเป็นคณะกรรมการคนละชุด ให้มีหน้าที่บทบาทหน้าที่แตกต่างกัน มีการสรรหากรรมการที่โปร่งใส เปิดกว้าง กำหนดวาระดำรงตำแหน่งชัดเจน

นอกจากนี้ ต้องปฏิรูประบบจัดสรรโควตาสลาก โดยจัดสรรให้กับ 3 กลุ่ม คือ 1.องค์กรการกุศลที่ไม่หวังผลกำไรไปยังผู้บริโภคโดยตรง 2.กลุ่มผู้ค้ารายย่อย ควรจัดสรรให้ผู้พิการก่อน โดยจัดสรรให้เพียงพอต่อการยังชีพ  และ 3.บริษัทเอกชนที่มุ่งหวังกำไร แต่ต้องจำกัดจำนวนโควตาสลาก

ส่วนผู้ค้าสลากรายย่อยจะพบความเสี่ยงในเรื่องการขายไม่หมด จึงเสนอให้ตั้ง “กองทุนช่วยเหลือผู้ค้าสลากรายย่อยและสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม” ที่มีภารกิจแรก คือ การรับซื้อสลากคืนจากผู้ค้าสลากไม่เกิน 12% จากจำนวนสลากที่ผู้ค้ารายย่อยได้รับ และต้องรับซื้อคืนก่อนออกรางวัล 1-2 วัน นอกจากนี้ สนับสนุนให้ผู้ค้ารายย่อยมีสถานะเป็นลูกจ้างตามพ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 33

ด้านนางวัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ กล่าวว่า มีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลพ.ศ. 2517 โดยต้องปรับวัตถุประสงค์ของพ.ร.บ.ให้ระบุการนำรายได้ไปพัฒนาสังคม ปรับหลักเกณฑ์การจัดสรรรายได้ ให้มีกองทุนสลากเพื่อสังคม

นอกจากนี้ ให้มีคณะกรรมการกองทุนสลากเพื่อสังคม แบ่งการจัดสรรรายได้ใหม่ แต่คง 60% เป็นเงินรางวัลไว้เหมือนเดิม คือ 10% นำส่งรัฐในรูปแบบภาษี 15% เพิ่มเติมให้การบริหารจัดการ ที่รวมถึงการลดความเสี่ยง จัดสวัสดิการให้ผู้ค้ารายย่อย จากเดิมที่จัดสรรเพียง 12% และ 15% จัดสรรเข้ากองทุนสลากเพื่อสังคมที่จะตั้งขึ้นใหม่ หรือคิดเป็น 7,200 ล้านบาท

โดยกองทุนสลากเพื่อสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนกองทุนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กองทุนด้านการศึกษา สนับสนุนกองทุนส่งเสริมการพัฒนาภาคประชาสังคม ลดผลกระทบจากการพนัน ศึกษาวิจัยเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนลด ละ เลิกการเล่นการพนัน เป็นต้น