posttoday

ชาวนาขู่เคลื่อนไหวใหญ่ต้านลดจำนำข้าว

20 มิถุนายน 2556

สมาคมชาวนาไทยเตรียมยื่นหนังสือยิ่งลักษณ์ ให้ทบทวนปรับราคาจำนำข้าว ยืนยันต้องให้ 1.5 หมื่นบาทจนหมดฤดูกาลผลิต

สมาคมชาวนาไทยเตรียมยื่นหนังสือยิ่งลักษณ์ ให้ทบทวนปรับราคาจำนำข้าว ยืนยันต้องให้ 1.5 หมื่นบาทจนหมดฤดูกาลผลิต

นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ยืนยันข้อเสนอเบื้องต้นของกลุ่มชาวนาไทยทั่วประเทศที่ต้องการให้รัฐบาลกลับไปใช้ราคารับจำนำที่ตันละ 15,000 บาท/ตันตามเดิมอย่างน้อยจนถึงสิ้นสุดโครงการในเดือนก.ย. นี้ โดยจะร่วมกับสมาคมชาวนาไทย และสภาเกษตรกร 22 จังหวัดภาคกลาง ส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือเปิดผนึกต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลในสัปดาห์นี้ พร้อมจะขอรอฟังเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หากรัฐบาลไม่สามารถให้คำตอบหรือไม่สามารถปรับขึ้นราคารับจำนำข้าวไปที่ 15,000 บาท/ตันได้ ทางกลุ่มชาวนาและเกษตรกรจะนำตัวแทนชาวนาจากทั่วทุกภาคออกมาเคลื่อนไหวที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ทางกลุ่มชาวนาไม่สามารถยอมรับราคารับจำนำใหม่ที่ลดลงได้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตของเกษตรกรยังคงเท่าเดิมซึ่งยังสูงถึง 9,000 บาท/ปริมาณข้าว 1 ตัน นอกจากนี้ รัฐบาลเองได้เคยรับปากกับชาวนาไว้ในช่วงการหาเสียงว่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาไทยให้ดีขึ้น โดยการรับจำนำข้าวที่ 15,000 บาท/ตัน แต่การที่รัฐบาลตัดสินใจเช่นนี้ถือว่าผิดคำสัญญา

พร้อมกันนี้ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการวิจารณ์ว่าเม็ดเงินที่รัฐบาลใช้ในการรับจำนำข้าวนั้น เงินไม่ได้ตกถึงมือชาวนาอย่างแท้จริงว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ขอยืนยันว่าชาวนาได้รับเงินจากการรับจำนำข้าวผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา ชาวนามีความพอใจมากกับราคารับจำนำที่ 15,000 บาท/ตัน

น.สพ.ชัย วัชรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า แนวทางที่รัฐบาลควรจะใช้ทดแทนการปรับลดราคารับจำนำข้าวนั้น คือการเริ่มต้นใช้วิธีการทำโซนนิ่งอย่างจริงจัง เพื่อให้ยกเลิกการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่ได้คุณภาพ และหันมาจูงใจชาวนาในการปลูกพืชเสรษฐกิจอื่นทดแทน พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้มีตัวแทนชาวนาเข้าร่วมอยู่ในคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีการเปิดโอกาสให้ชาวนาซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการรับจำนำข้าวโดยตรงได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นใดๆ ก่อนที่จะสรุปออกมาเป็นมติกขช.ที่ประกาศใช้ทั่วประเทศ

ขณะที่ชาวนาในหลายจังหวัด ไม่พอใจรัฐบาลที่จะปรับลดราคาจำนำข้าวลงเหลือ 1.2 หมื่นบาท และจำกัดให้รายละ 500,000 บาท  ทำให้ในวันนี้(20 มิ.ย.56) เวลา 11.00 น.  ชาวนาในอำเภอเมือง  จ.ราชบุรี ได้มารวมตัวที่บริเวณ ที่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร และศูนย์เรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ชาวนา บ้านรางไม้แดง  ตำบลเจดีย์หัก ร้องเรียนว่า ล่าสุด อคส.สั่งระงับชะลอการออกบัตรใบประทวนตั้งแต่วันที่  20 มิถุนายน และปิดจุดรับจำนำ  และการที่ให้ชาวนาจำนำรายละไม่เกิน 500,000 บาท และให้โรงสีรับซื้อโรงละ 40  ตัน ข้าวที่เหลือจะเอาไปไว้ที่ไหน  ประกอบกับยังมีปัญหาภัยธรรมชาติที่ทำให้ผลผลิตข้าวไม่ค่อยดี จึงฝากไปถึงรัฐบาลด้วยว่าจะช่วยเยียวยาอย่างไร

ส่วนชาวนาที่อำเภอปากท่อ  จ.ราชบุรี  ก็ได้มารวมตัวที่หน้าที่ว่าการอำเภอปากท่อ  เพื่อเรียกร้องผ่านนายอำเภอปากท่อไปยังรัฐบาลให้ช่วยดำเนินการขยายเวลาโครงการรับจำนำออกไปอย่างไม่มีกำหนด  เพราะราคารับจำนำเดิม 15,000 บาท  นั้นก็แทบจะไม่เหลืออะไร  ถ้าต้องถูกปรับลดลงก็คงจะขาดทุนแล้วชาวนาจะเหลืออะไร  โดยบอกว่าเริ่มทำนาก็ได้ซังกับหนี้  แต่ตอนหลังเหลือหนี้กับซัง

ที่ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี ได้มีกลุ่มเกษตรกรชาวนาจากพื้นที่ อ.ท่ามะกา อ.พนมทวน และ อ.ท่าม่วง กว่า 1,000 คน รวมตัวกันถือป้ายประท้วงและยื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรม เรียกร้องให้รัฐบาลขยายโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555/56 ไปจนถึงวันที่ 15 กันยายน 2556 ตามเดิม ทั้งนี้ จ.กาญจนบุรี เพิ่งมีเกษตรกรนำข้าวมาเข้าโครงการรับจำนำเพียง 20-30% เท่านั้น ยังคงค้างอยู่ประมาณ 70% การปรับลดราคารับจำนำจึง ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวนากว่า 1 หมื่นครัวเรือน สาเหตุมาจากเกษตรกรไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทัน เนื่องจากลงมือปลูกข้าวช้ากว่าปกติ ซึ่งเกิดจากการบริหารจัดการน้ำของระบบชลประทาน  นอกจากนี้ยังมีอีก 2 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันคือ เกษตรกรชาวนา จ.ราชบุรี และ จ.เพชรบุรี

นายภักดีสยาม  พรหมอินทร์  ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครพนม  เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุขาองรัฐบาล ทำให้เกษตรกรต้องขาดทุน เพราะปัจจุบันถึงแม้ราคาจำนำจะอยู่ที่ 15,000 บาท แต่เมื่อตรวจคุณภาพข้าวและหักความชื้น เกษตรกรได้รับเงินจริงเพียง 10,000 – 12,000 บาท แต่หากลดลงอีก ยิ่งเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรให้ขาดทุนหนักขึ้น เพราะทุกวันนี้ต้องประสบปัญหาต้นทุนสูงทั้งค่าปุ๋ย ค่าน้ำมัน