posttoday

ค้าปลีกเวียดนามเด่นโอกาสธุรกิจไทย

07 มิถุนายน 2556

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ส่องค้าปลีกเวียดนาม โดดเด่นรับ AEC โอกาสของผู้ประกอบการค้าปลีกไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ส่องค้าปลีกเวียดนาม โดดเด่นรับ AEC โอกาสของผู้ประกอบการค้าปลีกไทย

หลังจากที่ “เวียดนาม” ได้ยกเลิกข้อห้ามนักลงทุนต่างชาติลงทุนในสาขาค้าปลีกและจัดจำหน่าย โดยให้ถือหุ้นได้ในสัดส่วน 100% เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา ประกอบกับเวียดนามเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตสูง จากจำนวนประชากรกว่า 90 ล้านคน อีกทั้งกำลังซื้อของคนเวียดนามที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ทำให้เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติ ไม่เว้นแม้แต่นักลงทุนไทย อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเข้าลงทุนธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม ยังคงต้องมีการพิจารณาปัจจัยหลายๆ มิติ โดยเฉพาะอุปสรรคและความท้าทายทั้งในด้านของกฎระเบียบ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่อาจจะยังไม่พร้อม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบด้าน เพื่อเพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

ค้าปลีกเวียดนามยังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก ... โอกาสของผู้ประกอบการไทย

แม้ว่าเวียดนามจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ และการขาดดุลทางการค้า แต่ถึงกระนั้น นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า เวียดนามยังคงเป็นประเทศที่น่าสนใจในการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่เน้นจับตลาดผู้บริโภคในประเทศ อย่างธุรกิจค้าปลีกที่นับว่าเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและมีโอกาสในการเติบโตสูง โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2556 ค้าปลีกเวียดนามมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 13.3% (YoY)  ซึ่งไม่แตกต่างมากนักจากภาพการเติบโตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่ธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามขยายตัวเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 19.5% หรือมีมูลค่าตลาดกว่า 95,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่า จะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังจากการเปิดเสรี AEC โดยปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้ค้าปลีกเวียดนามเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และน่าลงทุนสำหรับผู้ประกอบการไทย มีดังนี้

- จำนวนประชากร และการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ด้วยตลาดเวียดนามที่มีขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรกว่า 90 ล้านคน และเป็นประชากรวัยหนุ่มสาวกว่า 60% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ประกอบกับการขยายตัวของความเป็นเมืองที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูง ส่งผลต่อพฤติกรรมของคนเวียดนามที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกเวียดนามให้เติบโตขึ้น

ค้าปลีกเวียดนามเด่นโอกาสธุรกิจไทย

- รายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 10.9 (2010-2015) หรืออยู่ที่ประมาณ 1,965 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ภายในปี 2015 สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อของคนเวียดนามที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเนื่องถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งถึงแม้ว่าสัดส่วนของค่าใช้จ่ายจะยังคงเป็นอาหารและเครื่องดื่ม แต่การหันมารับประทานอาหารนอกบ้าน การใส่ใจในเรื่องของสุขภาพก็มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน กลุ่มวัยรุ่นชาวเวียดนามก็หันมานิยมซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าในหมวดความงามและสุขภาพ รวมไปถึงสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่รวมเรียกกันว่าสินค้าในหมวด Non-grocery

ค้าปลีกเวียดนามเด่นโอกาสธุรกิจไทย

 

ค้าปลีกเวียดนามเด่นโอกาสธุรกิจไทย

- สัดส่วนของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ต่อประชากรเมืองยังมีไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับบางประเทศในอาเซียน แม้ว่าคนเวียดนามยังคงมีพฤติกรรมการใช้จ่ายซื้อสินค้าผ่านร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม แต่เชื่อว่า ภายหลังจากการเปิดเสรี AEC สัดส่วนของผู้มีรายได้ปานกลางขึ้นไปน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อไลฟ์สไตล์ของคนเวียดนามที่เปลี่ยนแปลงไป โอกาสที่จะหันมาใช้จ่ายผ่านร้านค้าปลีก Modern Trade ก็น่าจะมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จำนวนร้านค้าปลีก สมัยใหม่ของเวียดนามต่อประชากรเมืองยังมีสัดส่วนที่น้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับจำนวนร้านค้าปลีกในบางประเทศอย่างไทย ซึ่งมียอดค้าปลีกต่อประชากรต่อปีในระดับที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้น เวียดนามจึงเป็นประเทศที่ยังมีโอกาสในการขยายการลงทุนธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่

ค้าปลีกเวียดนามเด่นโอกาสธุรกิจไทย

การแข่งขันที่รุนแรง กฎระเบียบ/ข้อจำกัดในการลงทุน ... ความท้าทายของผู้ประกอบการไทย

ความโดดเด่นของตลาดค้าปลีกเวียดนาม นำมาซึ่งแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งหากนักลงทุนไทยสนใจเข้าไปขยายการลงทุนธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม คงต้องเผชิญการแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกต่างชาติขนาดใหญ่จากหลายประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซียที่ได้เข้าไปจัดตั้งธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามแล้ว และมีแผนขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จาก การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในหมวด ธุรกิจขายปลีกขายส่งในเวียดนามปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัวกว่า 55% (YoY) ในขณะเดียวกันแม้ว่าเวียดนามจะเปิดให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ในสัดส่วนร้อยละ 100 แต่ก็ยังมีกฎระเบียบหรือข้อจำกัดในการลงทุน ซึ่งนับว่าเป็นอุปสรรคที่ผู้ประกอบการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษารายละเอียดให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา อาทิ การทำธุรกิจจัดจำหน่าย หรือเปิดร้านค้าปลีก จะต้องทำการขอใบอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐของเวียดนาม หรือถ้าจะมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้น ก็จะต้องได้รับอนุญาตจากทางการเวียดนามก่อน เป็นต้น

ค้าปลีกเวียดนามเด่นโอกาสธุรกิจไทย

จับมือพันธมิตรท้องถิ่น ปรับ Model ธุรกิจให้เหมาะสมกับทำเลและกลุ่มเป้าหมาย ... สิ่งสำคัญในการเจาะตลาดค้าปลีกเวียดนาม

แม้ว่าเวียดนามจะเป็นหนึ่งในประเทศที่เหมาะสมในการขยายการลงทุนธุรกิจค้าปลีก แต่จากอุปสรรคโดยเฉพาะด้านกฎระเบียบข้างต้น ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจในลักษณะของการออกไปตั้งร้านค้าปลีกในต่างประเทศนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศเวียดนาม เนื่องจากยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ และยิ่งถ้าเป็นนักลงทุนต่างชาติด้วยแล้ว การเข้าใจในพฤติกรรมของผู้บริโภค หรือความรู้ความเชี่ยวชาญในโครงสร้างของธุรกิจค้าปลีกในแต่ละประเทศ อาจจะเสียเปรียบผู้ประกอบการท้องถิ่น หรือต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาทำความเข้าใจตลาดนานพอสมควร ดังนั้น การแสวงหา “พันธมิตร” ทางการค้ากับผู้ประกอบการท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำตลาด น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ประกอบการ โดยไทยอาจจะอาศัยความชำนาญในระบบโครงสร้างของธุรกิจ รวมถึงความเข้าใจในพฤติกรรมผู้บริโภคที่ผู้ประกอบการท้องถิ่นมีมากกว่า เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ น่าจะทำให้การทำธุรกิจง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนการดำเนินการในระยะแรก และลดความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจได้

 สำหรับรูปแบบการเข้าไปลงทุนธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะเริ่มต้นผู้ประกอบการอาจจะศึกษาและทดลองตลาดโดยใช้รูปแบบการจัดตั้งร้านค้าปลีกในลักษณะ สเปเชียลตี้สโตร์ (Specialty Store) อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า และวัสดุก่อสร้าง หรือร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) ซึ่งใช้ขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่นัก อีกทั้งยังเหมาะสมกับกำลังซื้อในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตของคนที่มีรายได้ปานกลางได้ดี โดยผู้ประกอบการจะต้องเจาะตลาดในบางพื้นที่ที่มีศักยภาพ  อาทิ โฮจิมินห์ (Ho Chi Minh) ฮานอย (Ha Noi) ด่องไน (Dong Nai) บินห์เยือง (Binh Duong) ดานัง (Da Nang) ไฮฟอง (Hai Phong) และเกิ่นเทอ (Can Tho) ซึ่งเมืองดังกล่าว ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงขึ้น มีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เป็นแบบสังคมเมืองมากขึ้น อีกทั้งยังมีการซื้อสินค้าผ่านช่องทางร้านค้า Modern Trade มากขึ้น หลังจากนั้นในระยะยาว เมื่อเรียนรู้และเข้าใจสภาพตลาดของเวียดนามได้เป็นอย่างดีแล้ว ประกอบกับแบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จักของคนเวียดนามมากขึ้น ก็อาจจะปรับรูปแบบไปสู่ร้านค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ แต่ถึงกระนั้น ผู้ประกอบการก็อาจจะต้องใช้ความระมัดระวังในเรื่องของกฎระเบียบการทำธุรกิจที่ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง การเข้ามาของคู่แข่งที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับการสังเกตและเรียนรู้พฤติกรรมของคนเวียดนามอยู่เสมอ เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน