posttoday

ข้อคิดที่กูรูการเงินได้รับจากแม่

05 มิถุนายน 2556

โดย...พนิต ปัญญาบดีกุล

โดย...พนิต ปัญญาบดีกุล

แม่เป็นบุคคลแรกที่เราได้สัมผัสตั้งแต่อยู่ในครรภ์และแรกเกิด แม่เสียสละยิ่งกว่าผู้อื่นใดในการโอบอุ้ม เลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนเรา

ก็ไม่รู้ว่าเราแต่ละคนได้ทำให้แม่เสียใจ เสียน้ำตากันมาเท่าไหร่ กว่าเราจะเติบโตจนเป็นผู้เป็นคนขึ้นมาได้ป่านนี้ โดยที่หลายคนมีความก้าวหน้ารุ่งเรืองในหน้าที่การงานและการเงิน หลายคนเล่าว่ามีบางครั้งที่คำสอนอันเคยผ่านหูไปเปล่าๆ ของแม่ กลับสะท้อนในหู ในสติของเราในยามโต ทำให้เราตัดสินใจไม่พลาด

และส่วนหนึ่งในคำสอนของแม่มักจะมีเรื่องของการเงิน โดยที่แม่อาจจะไม่ได้รู้ล่วงหน้าเลยว่าลูกแม่จะกลายเป็นกูรูทางการเงินในวันนี้

Business Insider ได้รวบรวมคำสอนทางการเงินของแม่ที่มีต่อลูก ซึ่งกลายเป็นกูรูการเงินในวันนี้เอาไว้ จึงขอนำมาเผยแพร่เพื่อให้ผู้อ่านได้คิดและระลึกถึงคำสอนของแม่ของเรากัน

Kendal Perez จาก HassleFreeSaving.com เล่าว่า “แม้จะแต่งงานกับพ่ออย่างมีความสุขมากว่า 40 ปีแล้ว แต่แม่แนะนำผมว่า คนเราไม่ควรพึ่งพาด้านการเงินอย่างสิ้นเชิงกับใครแม้กระทั่งสามี แม่บอกเสมอว่าให้หาเงินด้วยตนเอง มีอาชีพของตัวเอง ให้เห็นความสำคัญของการมีอิสระทางการเงินโดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น เพราะทุกคนจำเป็นต้องลงแรงเพื่อหาที่มั่นทางการเงินของตนเอง”

คำสอนนี้ทำให้นึกถึงคำพูดของ Margaret Thatcher อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง ที่ว่า “ไม่มีเงินทองหล่นลงมาจากฟากฟ้า เราต้องทำงานหนักเพื่อให้ได้มันมา”

John Ulzheimer ผู้เป็น CEO ของ SmartCredit.com เล่าว่า “หลายต่อหลายคนเคยได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีจากธุรกรรมต่างๆ กับธนาคาร ตั้งแต่การขอสินเชื่อไปจนถึงหนี้บัตรเครดิต แต่แม่สอนผมว่า อย่าไปกลัวธนาคาร จงเรียนรู้และเข้าใจระบบการเงินให้แตกฉาน เพราะมันคือทักษะที่ทุกคนในโลกปัจจุบันจำเป็นต้องมี”

นี่เป็นคำสอนที่ดีและน่าทึ่งมาก เพราะสอนให้คนเรียนรู้กระบวนการของตัวกลางทางการเงินอย่างธนาคาร ซึ่งเข้าใจว่าแม่ของพวกเราคงไม่เคยสอนลูกแบบนี้ อาจจะเพราะบ้านเรายังไม่ได้อ่านออกเขียนได้ทางการเงินอย่างบ้านเขา และอาจจะเพราะความต่างทางวัฒนธรรมกับแนวคิดที่ตะวันตกมองธนาคารเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต แต่บ้านเรายังไปไม่ถึงขนาดนั้น

Trae Bodge บรรณาธิการ Retail Me Not เล่าว่า “เวลาว่างในวัยเด็กของผมทั้งปิดเทอมหรือวันหยุด ผมจะไปทำงานที่ร้านของแม่และหางานอื่นๆ ทำ ผลลัพธ์ก็คือ ผมไม่เคยขอเงินพ่อแม่ไปเที่ยวกับเพื่อน ไปดูคอนเสิร์ตหรือแม้แต่ซื้อเสื้อผ้า เมื่อผมอยากได้อะไร ผมจะทำงานเพื่อหาเงินซื้อ เพราะไม่มีใครเด็กเกินกว่าจะมีงานเสริม แม้ว่าคุณจะมีทุกอย่างแล้ว แต่การทำงานเสริมจะทำให้มีวินัยในชีวิตและรู้จักค่าของเงิน”

แม้ว่า Trae Bodge จะไม่ได้บอกว่านั่นคือการสอนของแม่ แต่สิ่งที่เขาเล่ามานี้น่าจะช่วยให้บรรดาพ่อแม่ในวันนี้ที่กำลังปวดหัวกับความต้องการอันไม่สิ้นสุดของลูกๆ หรือการใช้เวลาอย่างไม่สร้างสรรค์และสุ่มเสี่ยง อาจนำไปชี้แนะให้ลูกใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์มากขึ้นก็ได้

David Ning จาก MoneyNing.com บอกว่า “ทุกอย่างที่คุณทำไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ การฝึกฝนทีละนิดจะทำให้เราใกล้ความสมบูรณ์แบบมากขึ้น อย่ากลัวที่จะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง ไม่ใช่ทุกคนที่คิดแผนการที่เพอร์เฟกต์ได้ อย่าเสียโอกาสแม้เพียงนาทีเดียวในการเริ่มต้นความฝันของเรา”

ในสังคมที่คนโหยหาไอคอนที่สมบูรณ์แบบมาเป็นบุคคลในอุดมคติ (ถึงได้โหยหาคนอย่างคุณชายพุฒิภัทร) หากลองคิดสักนิดจะพบว่าในคน 100 คน จะหาคนที่มีพรสวรรค์สัก 1 คนก็ยังยาก แต่ “พรแสวง” หรือความพยายามแสวงหาความรู้ ความชำนาญ สามารถเกิดได้กับทุกคนแม้จะไม่มีพรสวรรค์ และหากทำอะไรผิดพลาดไปบ้างให้คิดเสียว่า “Nobody is perfect, but, I am NOBODY” มันจะทำให้เราหัวเราะได้ และลุกขึ้นมาแก้ไขใหม่ให้มันถูกต้องขึ้น ดีขึ้น

กูรูการเงินอีกรายจาก Retail Me Not คือ Emma Johnson เล่าถึงคำสอนของแม่เธอว่า “หัดมีความสุขกับเงินที่เราหามาได้อย่างยากลำบาก จำไว้ว่าเงินเราสามารถหาใหม่ได้เสมอ แต่เวลาและโอกาสที่เราสามารถมีความสุขได้นั้นเรียกกลับคืนมาไม่ได้”

คำสอนนี้มีค่ายิ่ง เพราะบางคนอาจจะมัวแต่เก็บเงินเก็บทอง แต่ไม่รู้จักเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิต หากไม่เข้าใจจะยกตัวอย่างสัก 2 ตัวอย่าง ซึ่งคนที่อายุ 45 ปีขึ้นไปน่าจะเข้าใจ

ตัวอย่างแรกคือ ในยามที่เรามีอายุกลางคนเข้าไปแล้ว เราอาจจะเคยโหยหา อยากกลับไปเที่ยวหรือใช้ชีวิตสมัยหนุ่มสาววัยรุ่นในบางครั้ง เพราะเราจำได้ว่ามันแสนสนุกเพียงใด แต่เมื่อเราลองไปทำแบบเดิมๆ ความสนุก ความโรแมนติกที่เคยได้รับ มันไม่ใช่ มันไม่เกิดแบบเดิม

ตัวอย่างที่สองคือ เรามัวแต่กระเหม็ดกระแหม่เก็บเงิน กะว่าเกษียณแล้วจะไปท่องเที่ยวให้หนำใจ ปรากฏว่าเป้าหมายการเงินเราบรรลุ แต่เป้าหมายทางสังขารไม่อำนวย ทำให้เราพลาดความทรงจำแสนสุขที่ควรจะมีแล้วนำมารำลึกถึงในยามเกษียณไปโดยกลับไปแก้ไขไม่ได้แล้ว

การมีประสบการณ์ พบจริง เห็นจริง จะช่วยเสริมมุมมอง แนวคิดต่อสิ่งรอบตัวต่อผู้คนและสถานที่ที่มีความแตกต่างได้ ทำให้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ดังที่หลวงปู่เทสก์ สอนว่า “เป็นลูกผู้ชายต้องท่องไปในโลกกว้าง”

ดังนั้น ความพอดีๆ จึงดีที่สุดในการดำเนินชีวิต

เรื่องเล่าสุดท้าย จากกูรูการเงิน Tiffany Aliche จาก The Budgetnista “แม่ฉันเป็นคนจับจ่ายซื้อของต่างๆ ในบ้าน ฉันโตมาโดยเห็นแม่ต่อรองราคา ซึ่งหลายครั้งไม่ควรไปต่อเลย แต่ผลลัพธ์คือฉันเป็นคนที่ประหยัดเงินได้มากในแต่ละปีจากการต่อรองผ่อนผันเครดิตการ์ดและลดราคาบิลต่างๆ ฉันไม่เคยลืมคำของแม่ว่าไม่มีอะไรที่ต่อรองไม่ได้”

กรณีนี้ต้องบอกว่าการต่อราคาเป็นเสน่ห์ของการช็อปปิ้งที่คุณผู้ชายไม่มีวันเข้าใจ ทำให้เขามักจะต้องจ่ายแพงกว่าคุณผู้หญิงเสมอ

สุดท้ายขอเล่าเรื่องทางการเงินที่แม่สอนตัวเราเอง (ซึ่งไม่ใช่กูรูการเงิน) บ้าง แม่สอนว่า “อย่าค้ำประกันใครเป็นอันขาด ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นพ่อแม่พี่น้องหรือญาติสนิทมิตรสหายขนาดไหน เพราะเราควบคุมเขาไม่ได้ และมันจะก่อให้เกิดปัญหาทางการเงินกับเราในที่สุด”

เรื่องนี้แม่เล่าจากประสบการณ์จริง และลูกก็ทำตามที่แม่สอนมาโดยตลอด ...ขอบคุณแม่ที่สุดเลยที่ทำให้ลูกมีวันนี้ รักแม่มากนะ