posttoday

ซีวีดีซ้ำเติม...วิกฤตอุตสาหกรรมกุ้ง

03 มิถุนายน 2556

โดย...เจียรนัย อุตะมะ

โดย...เจียรนัย อุตะมะ

สหรัฐประกาศใช้มาตรการเก็บภาษีอากรตอบโต้การอุดหนุน(ซีวีดี)ในการนำเข้ากุ้งแช่แข็งจากไทยในอัตราเบื้องต้น2.09%โดยให้เหตุผลว่าผู้ประกอบการไทยได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ และจะมีการประกาศผลการใช้มาตรการนี้ในวันที่ 14 ส.ค.2556 ในระหว่างนี้ไทยจะอยู่ระหว่างเร่งชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมให้สหรัฐภายในเดือนมิ.ย.นี้

ประกาศของสหรัฐเป็นมาตรการเพิ่มเติมนอกเหนือจากการเก็บภาษีการตอบโต้การทุ่มตลาดของสินค้านำเข้ากุ้งที่มีอยู่เดิมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการกุ้งในสหรัฐ

นับว่าซ้ำเติมวิกฤติอุตสาหกรรมกุ้งของ5ประเทศที่ถูกเก็บซีวีดี จากโรคอีเอ็มเอสหรือ EARLY Mortality Syndrome ที่ฉุดราคาหุ้นเหล่านี้ไปแล้วระลอกหนึ่ง

อัตราภาษีซีวีดีที่ประกาศออกมานับว่าใกล้เคียงกับอัตราที่ตลาดคาดไว้ โดยอัตรา2.09%นับว่าเป็นอัตราภาษีต่ำสุดที่ไทยต้องเสียจาก 5 ประเทศ เทียบจีน 5.76% เวียดนาม 7.05% อินเดีย 11.32% และมาเลเซีย 62.74%

การประกาศภาษีดังกล่าวนับว่าไม่ส่งผลบวกต่อผู้ส่งออกกุ้งของไทย จากราคาขายของไทยจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับผู้นำเข้าจากประเทศอื่นที่ไม่โดนเก็บภาษีดังกล่าว

ปี 2555ที่ผ่านมา 5 ประเทศที่ถูกมาตรการเก็บซีวีดีจากสหรัฐมีการส่งออกไปสหรัฐมากกว่า 60%ของการนำเข้า การประกาศเก็บภาษีในช่วงที่อุตสาหกรรมกุ้งได้รับผลกระทบจากโรคอีเอ็มเอส นับเป็นการซ้ำเติมวิกฤติอุตสาหกรรมกุ้ง

จากการที่โรคอีเอ็มเอสได้ฉุดส่วนแบ่งตลาดกุ้งไทยในสหรัฐลดลงต่ำกว่า 30% ไปแล้ว และเป็นการลดลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2548

ในบรรดาผู้ประกอบการกุ้งแช่แข็งทั้งหมดที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ประกอบด้วย บริษัทซีเฟรชอินดัสตรี(CFRESH)บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร(CPF)และบริษัทไทยยูเนี่ยนโฟร์เซ่นโปรดักส์(TUF)

CFRESH ได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะมีรายได้จากการส่งออกกุ้งทั้งหมด และส่งออกไปสหรัฐ10%ของรายได้รวม รองลงมาคือTUFที่มีสัดส่วนรายได้ส่งออกกุ้งจากไทยไปสหรัฐ6%ของรายได้รวม

ด้านCPFมีการส่งออกกุ้งเพียงไม่เกิน 1%ของรายได้รวม

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เอเชีย พลัส วิเคราะห์ว่า หากมีกำหนดใช้อัตราภาษีซีวีดีที่ระดับข้างต้นแล้วจะส่งผลให้ประมาณการกำไรสุทธิปี 2557ของCFRESH TUF และCPF ลดลง2.4% 2.3% และ1.7%ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามราคาหุ้นทั้งสามบริษัทได้สะท้อนประเด็นลบจากการจัดเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่อัตราภาษีนำเข้ากุ้งในเบื้องต้นที่ประกาศออกมาใกล้เคียงที่ตลาดคาดไว้
บล.เอเชีย พลัสแนะนำให้ลงทุนหุ้นCPF เพราะเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2556 โดยธุรกิจกุ้งจะทยอยฟื้นตัวหลังจากปัญหาโรคกุ้งขาวคลี่คลาย และภาพรวมธุรกิจฟาร์มสัตว์บก (ไก่และสุกร)มีแนวโน้มสดใสมากขึ้น หลังจากราคาขายในประเทศปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นักวิเคราะห์บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย)ยังแนะนำให้ลงทุนปกติในกลุ่มดังกล่าว

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์สคาดการณ์ว่าผลประกอบการในส่วนธุรกิจกุ้งของบริษัทเหล่านี้จะยังซบเซามากในช่วงครึ่งแรกปีนี้

ผู้ประกอบการบางรายในอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่าปริมาณส่งออกกุ้งของไทยในปี 2556 จะลดลงราว 30-40% จากโรค EMS ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการต้องชะลอการรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าเพราะไม่แน่ใจว่าจะสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ได้ทันหรือไม่  

ทั้งนี้ได้ให้น้ำหนักการลงทุน น้อยกว่าตลาดกับกลุ่มกุ้งส่งออก โดยประเมินว่าอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มสดใสกว่าอย่างชัดเจน คือ ไก่แช่แข็งและไก่แปรรูปส่งออก ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวได้ทั้งปริมาณและราคาส่งออก

สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์คาดการณ์ว่าปริมาณส่งออกไก่แช่แข็งและแปรรูปของไทยในปี 2556 จะขยายตัว 2-3% และราคาส่งออกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ทำให้มูลค่าส่งออกโดยรวมจะขยายตัวได้ประมาณ 5%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงยังคงแนะนำ"ซื้อ"หุ้นบริษัทจีเอฟพีที( GFPT )โดยให้ราคาเป้าหมายปี 2556 เท่ากับ 9 บาท จุดเด่น คือ ผลประกอบการที่คาดว่าจะ ฟื้นตัวจากกำไรสุทธิ 41 ล้านบาท เป็น 797 ล้านบาทในปี 2556

บล.กรุงศรี ประเมินว่าในระยะสั้นมองประเด็นราคากุ้งที่สูงขึ้นจากการผลิตกุ้งที่ลดลงผลจากโรค EMS เป็นประเด็นที่มีนัยต่ออุตสาหกรรมกุ้งไทยมากกว่า ซึ่งการลดลงของผลผลิตกุ้งไทยในปี 2555 จากปัญหาโรค EMS ขณะที่ระยะยาวไทยยังคงได้เปรียบด้านคุณภาพและแนวโน้มต้นทุนการผลิตที่ถูกลงเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง

นักวิเคราะห์บล.ดีบีเอสวิคเคอร์สได้แนะนำให้ซื้อหุ้น CFRESH การปรับโครงสร้างธุรกิจเพิ่มโอกาสเติบโตในระยะยาว ขณะที่แนวโน้มการฟื้นตัวของผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปีนี้จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเข้าลงทุนระยะสั้น

ดังนั้นยังคงมูลค่าพื้นฐานที่ 10 บาท อิงกับราคาต่อมูลค่าบัญชี เป้าหมายระดับ 2.3 เท่า เทียบเท่าสัดส่วนราคาต่อกำไร(พีอี) 13เท่า สำหรับผลประกอบการปี 2557