posttoday

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจับตาการใช้จ่ายชะลอ

01 มิถุนายน 2556

การใช้จ่ายในประเทศเดือนเม.ย.ยังชะลอตัว จับตาสถานการณ์การลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มหดตัว

การใช้จ่ายในประเทศเดือนเม.ย.ยังชะลอตัว จับตาสถานการณ์การลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มหดตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ประเด็นสำคัญจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทย พบว่า สถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุด การใช้จ่ายภาคเอกชนหดตัวจากเดือนก่อน ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3   

- การใช้จ่ายในประเทศมีโมเมนตัมที่ชะลอลงต่อเนื่อง โดยการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนภาพที่ชัดเจนกว่าการบริโภคภาคเอกชน โดยการลงทุนภาคเอกชน หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.6 (MoM) และลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.1 (YoY) ในเดือนเม.ย. 2556 [นำโดย การนำเข้าสินค้าทุนที่ยังคงหดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม] เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 (YoY) ในเดือนมี.ค. 2556 ส่วนการบริโภคภาคเอกชนนั้น แม้จะหดตัวลงร้อยละ 0.5 (MoM) จากเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงขยายตัวร้อยละ 1.7 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งใกล้เคียงกับที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 (YoY) ในเดือนมี.ค. โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเติบโตสอดคล้องกับกิจกรรมการใช้จ่ายในประเทศ ขณะที่ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และยอดขายยานยนต์ ยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี แม้จะมีผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า

- การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนของฟื้นตัว โดยการส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.7 (YoY) ในเดือนเม.ย. ชะลอลงจากร้อยละ 4.2 (YoY) ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นภาพที่สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมในหมวดที่เน้นการส่งออกที่หดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามอีกร้อยละ 13.0 (YoY) ในเดือนเม.ย. หลังจากที่หดตัวร้อยละ 8.6 (YoY) ในเดือนมี.ค. ซึ่งเมื่อรวมกับผลของการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทำให้ภาพรวมของการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยในเดือนเม.ย. พลิกกลับไปหดตัวลงอีกครั้งที่ร้อยละ 3.8 (YoY) จากที่ขยายตัวร้อยละ 1.2 (YoY) ในเดือนก่อน

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/56 อาจชะลอลงมาที่ร้อยละ 4.3

- การใช้จ่ายภายในประเทศอาจยังอยู่ในช่วงชะลอตัว...ทั้งจากโมเมนตัมของผลจากมาตรการกระตุ้นในปีก่อนที่แผ่วลง และฐานเปรียบเทียบที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อน

การบริโภคภาคเอกชน แม้ยอดขายรถยนต์อาจยังได้รับอานิสงส์ของโครงการรถคันแรกอย่างต่อเนื่อง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็คาดว่า ผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า จะทำให้ยอดขายยานยนต์ รวมถึงเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนอื่นๆ อาทิ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม มีทิศทางที่ชะลอลง สอดคล้องกับสัญญาณการระมัดระวังการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้ากึ่งคงทนอื่นๆ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า

การลงทุนภาคเอกชน การเร่งตัวไปมากแล้วในช่วงหลายเดือนก่อนของเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน ระดับเงินบาทที่ทยอยอ่อนค่า และปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า บรรยากาศการลงทุนภาคเอกชนในช่วงไตรมาส 2/2556 น่าจะมีโมเมนตัมที่แผ่วลงจากไตรมาส 1/2556 โดยการนำเข้าสินค้าทุน และยอดจำหน่ายเครื่องจักร/อุปกรณ์ มีโอกาสหดตัวลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

- สินค้าส่งออกหลักของไทยหลายตัวยังต้องรอสัญญาณจากเศรษฐกิจโลก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพรวมของการส่งออกในไตรมาส 2/2556 อาจบันทึกตัวเลขอัตราการขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 5.0 (YoY) ซึ่งถือว่ายังไม่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 (YoY) เพราะปัจจัยฉุดรั้งการส่งออกในช่วงไตรมาสแรก โดยเฉพาะทิศทางการฟื้นตัวที่ยังไม่ชัดเจนของเศรษฐกิจโลก ยังมีผลต่อเนื่องมายังช่วงไตรมาส 2/2556 แม้ว่าเงินบาทจะเริ่มมีทิศทางที่อ่อนค่าลงตั้งแต่ครึ่งหลังของเดือนเม.ย.-พ.ค.2556 ก็ตาม นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าเกษตร (อาทิ ข้าว ยางพารา) ยังมีปัจจัยเรื่องความเสียเปรียบด้านราคาในการแข่งขัน และการชะลอซื้อของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกรายสำคัญของไทยอีกด้วย

โดยสรุป เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนเม.ย. 2556 โดยเฉพาะ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน (รายงานโดยธปท.) และการผลิตภาคอุตสาหกรรม (รายงานโดย สศอ.ในช่วงก่อนหน้า) ที่หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ช่วงไตรมาส 2/2556 ด้วยสถานการณ์การชะลอตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายภายในประเทศ และเส้นทางการฟื้นตัวของการส่งออกที่เลื่อนเวลาออกไป ทั้งนี้ เนื่องจากยังคงไม่มีสัญญาณบวกปรากฎขึ้นอย่างชัดเจนมากนักในช่วงระหว่างไตรมาสที่ 2 ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงคาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอาจชะลอลงมาที่ร้อยละ 4.3 (YoY) หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 (YoY) ในช่วงไตรมาส 1/2556 โดยสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบล่าสุด และเงินบาทที่เริ่มมีกรอบการเคลื่อนไหวที่มีเสถียรภาพมากขึ้นนั้น อาจช่วยประคองทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจโลกเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี และภาครัฐสามารถเร่งเบิกจ่ายเม็ดเงินงบประมาณให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้