posttoday

ซีพีออลล์ตามรอยบิ๊กซี

19 พฤษภาคม 2556

โดย...เจียรนัย อุตะมะ

โดย...เจียรนัย อุตะมะ

ผลจากการที่ บริษัท ซีพี ออลล์ (CPALL) ผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น (7-11)เข้าซื้อบริษัท สยามแม็คโคร (MAKRO) สัญชาติเนเธอร์แลนด์ ราคา 188,880 ล้านบาท พลิกโฉมร้านค้าปลีกทันสมัยในเมืองไทยอย่าง 7-11 เติบโตรวดเร็วขึ้น และทำให้ CPALL กลายเป็นผู้ที่มีส่วนแบ่งการตลาดค้าปลีกสูงสุดกลายเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกสำคัญในภูมิภาคเอเชีย

การผนึกกลยุทธ์สำคัญในระยะอันใกล้นี้ คือ การรวมกันทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนล้านบาท และมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับผู้จัดจำหน่าย การบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ และแผนการขยายงานเชิงรุกมากขึ้นของทั้งสองบริษัท

เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา CPALL ประกาศซื้อกิจการ 64.35% ของ MAKRO จาก SHV Nederland B.V. ส่วนที่เหลือต้องทำคำเสนอซื้อจากรายย่อยทั้งหมดในตลาดหุ้น โดยต้องยื่นขออนุมัติต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในราคาหุ้นละ 787 บาท

CPALL ระบุว่าจะใช้เงินกู้ 90% ที่เหลือเป็นเงินสด

ราคาดังกล่าวนักวิเคราะห์ในตลาดประเมินว่า เป็นการซื้อที่ราคาแพง และการกู้เงินจำนวนมากเมื่อเทียบกำไรของ MAKRO นับว่าไม่คุ้มทุน ขณะที่ผู้ซื้อประเมินว่า สมเหตุผล และมีวิธีการบริหารสินทรัพย์

สถานการณ์นี้ไม่ต่างจากเมื่อครั้งบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) เข้าซื้อคาร์ฟูร์เมื่อปี 2554 ที่ในที่สุด BIGC ก็พิสูจน์ตัวเองว่าประสบความสำเร็จในการผนึกกำลังเชิงกลยุทธ์ กลายเป็นหุ้นที่น่าซื้อที่สุดในกลุ่มขณะนี้

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ CPALL กล่าวว่า แพงหรือถูกขึ้นอยู่กับใครซื้อ ถ้าซื้อเพื่อทำแม็คโครอย่างเดียว แพง แต่ถ้าซื้อเพื่อทำหลายอย่าง ไม่แพง เพราะจะมีการผนึกกำลังเชิงกลยุทธ์ และมีโอกาสเติบโตอีกมาก

CPALL จะกลายเป็นเบอร์ 1 ของร้านค้าปลีกด้วยยอดขาย 3 แสนล้านบาท ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับผู้จัดจำหน่าย และประหยัดค่าใช้จ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ที่จะส่งผลให้มีการขยายงานอย่างมีประสิทธิภาพ

CPALL จะทำให้ MAKRO มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากสินทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ 53 ร้านค้า จากทั้งหมด 57 แห่งที่ MAKRO เป็นเจ้าของ ในจำนวนนี้ 38 แห่งอยู่ในเมืองหลักที่อาจจัดโครงสร้างการบริหารงานใหม่อาจนำไปขายเพื่อเข้าจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์นำเงินมาจ่ายหนี้เงินกู้ และทีมงานของ MAKRO ล้วนมีประสิทธิภาพ บริหารงานได้ด้วยแบรนด์ MAKRO ไม่ต้องรอใบอนุญาตจาก 7-11 ที่มีข้อจำกัด

“คุณสุชาดา อิทธิจารุกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแม็คโคร จะบริหารงานแม็คโครต่อไป” ธนินท์ กล่าว

ทั้งนี้ แม้ว่าจะกู้เงินจำนวนมากเพื่อนำมาซื้อหุ้น MAKRO ครั้งนี้ แต่ “ธนินท์” ยืนยันว่า CPALL จะยังคงจ่ายปันผลเท่าเดิมหุ้นละ 0.90 บาท และไม่เพิ่มทุนอีก 1.5 ปี

การประกาศครั้งนี้ CPALL หวังว่าผู้ถือหุ้นจะลงคะแนนเสียงมากกว่า 75% ให้การซื้อหุ้น MAKRO ผ่านการพิจารณาเพื่อให้ธุรกรรมนี้เกิดขึ้นได้ในสิ้นไตรมาส 3 ปีนี้ และยืนยันจะไม่นำหุ้น MAKRO ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

5 ปีที่ผ่านมา (2550-2555) ธุรกิจค้าปลีกหรือร้านค้าของชำในประเทศไทยเติบโตปีละ 5.5% โดยค้าปลีกทันสมัยเติบโตสูงถึง 8.7% แต่ CPALL เติบโตมากกว่านั้นเป็นปีละ 16.2% และ MAKRO ปีละ 12.6%

ไฮเปอร์มาร์เก็ตกลับเติบโตช้า โดย เทสโก้ โลตัส เติบโตปีละ 9.5% และบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ปีละ 13.3% (รวมกิจการกับคาร์ฟูร์แล้ว)

อย่างไรก็ตาม CPALL มีข้อจำกัดในการเติบโตนอกประเทศเพราะต้องรอใบอนุญาตจาก 7-11 ภายหลังการรวมกันจะทำให้ข้อจำกัดนี้หมดไป

ซิตี้กรุ๊ป วิเคราะห์ว่า การซื้อกิจการ MAKRO ทำให้ CPALL ได้ดีจากการรู้ข้อมูลสมาชิกของ MAKRO ปัจจุบัน MAKRO มีสมาชิก 2.4 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกที่ไม่ใช่ค้าปลีกอาหาร 1.4 แสนคน 6.4 แสนคนเป็นสมาชิกค้าปลีกอาหาร 3.33 แสนคนเป็น|ผู้ประกอบการ และที่เหลือรวมผู้จัดจำหน่ายรายเล็ก

รายชื่อสมาชิกเหล่านี้เป็นข้อมูลที่สำคัญต่อการขยายร้านค้า 7-11 ที่จะทำให้ CPALL ประสบความสำเร็จในการขยายร้านค้าให้ได้ปีละ 550 สาขาเติบโตเร็วขึ้น และทำให้ไม่มีความเสี่ยงในการขยายสาขา

MAKRO ภายใต้ CPALL จะเติบโตอย่างรวดเร็วจากเดิมขยาย 3-5 สาขาต่อปี ผลของการที่จะเปิดร้านค้าอาหารขนาดเล็กจะทำให้การขยายงานเป็นไปอย่างรวดเร็วและกลายเป็นอันดับ 1 เช่นเดียวกับการขยายสาขาสยามโฟรเซ่น ช็อป ที่เป็นร้านค้าปลีกอาหารเป็นโอกาสในการเติบโตธุรกิจเงินสดของ MAKRO

หากกลยุทธ์นี้ประสบความสำเร็จ MAKRO จะหันไปทำซูเปอร์มาร์เก็ตจากความเชี่ยวชาญของ CPALL
ซิตี้กรุ๊ปได้วิเคราะห์กลยุทธ์นี้ว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จ อ้างอิงจากธุรกรรมการซื้อกิจการคาร์ฟูร์ของบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เมื่อปี 2554

ประการแรก อัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้น จากทั้งคู่ที่ดำเนินธุรกิจคนละตลาดกัน และมียอดขายสินค้าที่แตกต่างกัน และมีการแลกเปลี่ยนผู้จัดจำหน่ายกัน โดยเฉพาะสินค้าเพื่อการบริโภค CPALL จะได้ประโยชน์จากแหล่งอาหารสดของ MAKRO

ประการที่สอง รวมยอดขาย 3 แสนล้านบาท ที่มีนัยสำคัญโดยตรงต่อการรวมค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่ประหยัดต้นทุนต่อยอดขายได้

ประการที่สาม ประหยัดการบริหารงานน้อยมาก (ค่าขนส่งและการบริหารสินค้าคงคลัง) ที่จะต้องรอติดตามในระยะกลาง

ประการที่สี่ ทีมงานของ CPALL จะต้องเร่งให้ MAKRO ขยายสาขาเชิงรุก 2-4 สาขาต่อปี และเน้นลูกค้าที่เป็นสมาชิกของ MAKRO ลูกค้าร้านค้าปลีกที่ไม่ใช่อาหาร 1.4 แสนคน ที่จะทำให้แฟรนไชส์ 7-11 มีลูกค้าเพิ่มอีก 10% จาก 7,000 ร้านค้าที่เปิดตลอดคืน

“เป็นการเติบโตที่มีนัยสำคัญสำหรับ CPALL ถ้ามีการเปิดสาขา 7-11 เพิ่มขึ้นจาก 550 สาขา เป็น 650 สาขาต่อปี ที่คาดว่าจะเห็น 7-11 มี 1 หมื่นร้านค้าในปี 2561”

ซิตี้กรุ๊ปปรับกำไรปี 2557-2558 ของ MAKRO เป็นเติบโต 30% และเติบโต 12% ดังนั้นจึงให้ราคาที่เหมาะสมของ CPALL ที่ 47.50 บาท และ MAKRO 640 บาท และแนะนำขาย MAKRO และซื้อ CPALL

นักวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ยังแนะนำให้ “ถือ” CPALL เนื่องจากมูลค่าเหมาะสมที่ 47 บาท ได้คำนึงถึงธุรกรรมซื้อกิจการครั้งนี้แล้ว

ราคาหุ้น CPALL ปัจจุบันซื้อขายที่สัดส่วนราคาต่อกำไรปี 2556 ที่ 28 เท่า และ 23 เท่า ปี 2557

ทั้งนี้ คงต้องดูผลงานเชิงประจักษ์ของ MAKRO ในอนาคต โดยอัตรากำไรขั้นต้นของ CPALL ทุก 0.1% มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงมูลค่าเหมาะสม CPALL ประมาณ 1.5%