posttoday

กสิกรไทยลดคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้เหลือ2.6%

02 พฤษภาคม 2556

ศูนย์วิจัยคาดแนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาส 2 ชะลอลงตามการใช้จ่ายในประเทศ และปรับลดคาดการณ์ทั้งปีจาก 3.3% เหลือ 2.6%

ศูนย์วิจัยคาดแนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาส 2 ชะลอลงตามการใช้จ่ายในประเทศ และปรับลดคาดการณ์ทั้งปีจาก 3.3% เหลือ 2.6% 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์เงินเฟ้อในไตรมาส 2 ของปีนี้ มีแนวโน้มชะลอลงจาก 3.1% เมื่อไตรมาส 1 โดยคาดว่า จะอยู่ที่ระดับไม่เกิน 2.4% ซึ่งเป็นภาพเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลงกว่าที่เคยประเมินไว้ โดยมีปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบ ระดับเงินบาทที่แข็งค่ากว่าช่วงเดียวกันปีก่อน และกลไกดูแลความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจากกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 2/2556 ยังถูกบรรเทาแรงกดดันลงจากปัจจัยอื่นๆ ได้แก่

สัญญาณการฟื้นตัวที่ยังล่าช้าของเศรษฐกิจที่เป็นแกนสำคัญของโลก โดยเฉพาะจากจีน ยุโรป และสหรัฐฯ (ซึ่งเป็นผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์อันดับต้นๆ ของโลก) ในช่วงต้นไตรมาส 2/2556 ยังคงเพิ่มแรงกดดันต่อทิศทางราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ซึ่งเมื่อรวมกับผลของเงินบาททำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบจากต่างประเทศยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ

การตรึงภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล-มาตรการบรรเทาค่าครองชีพน่าจะครอบคลุมตลอดช่วงเวลาของไตรมาส 2/2556 สำหรับในส่วนของการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล คงจะยังได้รับการต่ออายุแบบเดือนต่อเดือนต่อไปก่อนอีกระยะ โดยการกลับมาเก็บภาษีอาจมีการวางแนวทางที่ชัดเจนอีกครั้ง หลังฐานะกองทุนน้ำมันฯ กลับมาเป็นบวกแล้ว ขณะที่ มาตรการลดค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทางทั้งรถเมล์-รถไฟฟรีนั้น ครอบคลุมไปจนถึงช่วงสิ้นไตรมาส 3/2556

การตรึงราคาก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนไว้ที่ 18.13 บาท/กิโลกรัม จนถึงสิ้นเดือนพ.ค.2556 (ก่อนที่จะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะสามารถทยอยขยับราคาขึ้นประมาณ 0.50 บาทต่อเดือนตั้งแต่ในช่วงเดือนมิ.ย. ได้ทันทีหรือไม่ โดยจะมีแนวทางบรรเทาภาระให้กับครัวเรือนบางกลุ่ม) ทำให้ผลกระทบจากการเริ่มปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน จะไม่ปรากฎชัดเจนนักในช่วงไตรมาส 2/2556

ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ Ft ที่ปรับลดลงในงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2556 ตามราคาเชื้อเพลิงทั้งก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเตา และน้ำมันดีเซล และเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยค่า Ft ต่อหน่วยจะลดลง 5.12 สตางค์ มาอยู่ที่ 46.92 สตางค์ ซึ่งเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน ทำให้ค่าไฟฟ้าตามบ้านเรือนที่ต้องจ่ายเฉลี่ยในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2556 ลดลงมาอยู่ที่ 3.74 บาทต่อหน่วย

ทิศทางเงินเฟ้อ และภาพรวมเศรษฐกิจ ชะลอตัวสอดคล้องกันในไตรมาส 2/2556

หลังจากเครื่องชี้เศรษฐกิจบางรายการเริ่มปรากฎสัญญาณแผ่วตัวลงบ้างแล้วในช่วงท้ายๆ ไตรมาส 1/2556 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทิศทางการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจคาบเกี่ยวต่อเนื่องมาในช่วงไตรมาส 2/2556 (โดยคาดว่า จีดีพีไตรมาสที่ 2/2556 จะชะลอตัวมาที่ 4.3% YoY จากที่คาดว่าจะขยายตัว 5.3% YoY ในไตรมาสที่ 1/2556) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานการณ์การบริโภคภาคครัวเรือน ที่แรงกระตุ้นจากการชดเชยช่วงน้ำท่วม และการซื้อสินค้าคงทนบางรายการ น่าจะทยอยหมดผลลง ทั้งนี้ เครื่องชี้การใช้จ่ายภาคเอกชนที่อาจมีสัญญาณการชะลอตัวดังกล่าว นอกจากจะทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์อยู่ในระดับที่ผ่อนคลายแล้ว ยังอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งผ่านภาระต้นทุนของผู้ประกอบการมาที่ราคาสินค้าอุปพโภคบริโภคยังคงทำได้อย่างค่อนข้างจำกัด ซึ่งก็ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทั้งทิศทางเงินเฟ้อและภาพรวมเศรษฐกิจของไทย น่าจะมีแนวโน้มชะลอลงสอดคล้องกัน ในช่วงไตรมาสที่ 2/2556

เงินเฟ้ออาจยังไม่มีน้ำหนักมากนักต่อการตัดสินใจของกนง. เมื่อเทียบกับปัจจัยอื่นๆ

แม้อัตราเงินเฟ้ออาจมีภาพที่ทรงตัว YoY ตลอดในช่วงไตรมาส 2/2556 (โดยจะยังไม่เร่งตัวขึ้นชัดเจน เพราะส่วนหนึ่งเป็นผลของฐาน) แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทิศทางเงินเฟ้อดังกล่าวยังไม่ใช่ตัวแปรที่มีน้ำหนักมากนักต่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบปกติวันที่ 29 พ.ค. 2556 ที่จะถึงนี้ เพราะแม้โจทย์เฉพาะหน้าของเศรษฐกิจไทย คือ การดูแลผลกระทบทางเศรษฐกิจและการส่งออกจากการแข็งค่าของเงินบาทท่ามกลางแรงกดดันจากกระแสเงินทุนไหลเข้า และการประคองแรงขับเคลื่อนของอุปสงค์ในประเทศที่อาจทยอยแผ่วลงตามแรงกระตุ้นที่เป็นปัจจัยเร่งการเติบโตมาตลอดช่วงปีก่อนหน้าเริ่มทยอยสิ้นสุดลง แต่ก็คาดว่า โจทย์ทางด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะการชะลอความร้อนแรงของบางภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการขยายตัวของสินเชื่อบางประเภท)  ก็น่าจะมีน้ำหนักไม่น้อย ต่อการพิจารณาทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของกนง.ด้วยเช่นกัน

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สถานการณ์การบริโภคของไทยที่อาจชะลอลงในช่วงไตรมาส 2/2556 ตามภาพรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (ที่คาดว่าจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงตลอดช่วงครึ่งแรกของปี) น่าจะเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงหลายเดือนข้างหน้าไม่ฉีกตัวสูงขึ้นไปจากระดับอัตราเงินเฟ้อในเดือนมี.ค.-เม.ย.ได้มากนัก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2/2556 และไตรมาส 3/2556 จะชะลอลงมามีค่าเฉลี่ยที่ไม่เกิน 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) จาก 3.1% (YoY) ในไตรมาส 1/2556 ก่อนจะขยับขึ้นเล็กน้อยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ตามภาระต้นทุนของภาคธุรกิจ ส่วนกรณีที่หากระดับราคา LPG ภาคครัวเรือนมีการทยอยปรับเพิ่มขึ้นเดือนละ 50 สตางค์ นับจากเดือนมิ.ย.นี้ จนไปเท่ากับราคาก๊าซ LPG ภาคขนส่ง และจะขยับขึ้นต่อเนื่องทั้ง 2 ส่วนไปจนถึงระดับราคาที่กำหนด อาจมีผลทางตรงต่อเงินเฟ้อในกรอบจำกัด แต่ก็คงต้องพิจารณาผลทางอ้อมที่มีต่อการคาดการณ์ทิศทางราคาสินค้าและโครงสร้างต้นทุนของภาคธุรกิจประกอบด้วย

โดยภาพรวมทั้งปี 2556 แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มผ่อนคลายลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ด้วยอานิสงส์จากหลายปัจจัย อาทิ ทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอ่อนตัวลงกว่าที่คาด โดยล่าสุด คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบทั้งปี อาจมีค่าเฉลี่ยประมาณ 106 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล (จากคาดการณ์เดิมอยู่ที่ 108 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล และเป็นระดับที่ลดลงจาก 108.9 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลในปี 2555) ขณะเดียวกัน เงินบาทที่มีระดับแข็งค่ากว่าในปีก่อน ตลอดจนมาตรการดูแลภาวะค่าครองชีพของทางการที่ครอบคลุมช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2556 อาจอยู่ที่ประมาณ 2.6% ซึ่งต่ำลงจากประมาณการเดิมที่ 3.3% ซึ่งภาพที่ผ่อนคลายของเงินเฟ้อนี้ อาจช่วยประคองบรรยากาศการใช้จ่ายของภาคเอกชนไม่ให้ชะลอตัวลงมากนัก 

สำหรับนัยของทิศทางเงินเฟ้อต่อการดำเนินนโยบายการเงินของกนง.นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เงินเฟ้อที่ผ่อนคลายอาจจะยังไม่ใช่ตัวแปรที่มีน้ำหนักมากนักต่อกนง.ในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบปกติวันที่ 29 พ.ค. 2556 ที่จะถึงนี้ ตราบเท่าที่กนง.ยังคงมองว่า เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประมาณการ ขณะที่ กนง.ก็น่าจะยังคงให้น้ำหนักกับประเด็นด้านเสถียรภาพ โดยเฉพาะการชะลอความร้อนแรงของบางภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการขยายตัวของสินเชื่อบางประเภท