posttoday

แนะรัฐทบทวน2ล้านล้านหวั่นขาดทุนยับ

24 เมษายน 2556

เอกชนเตือนรัฐทบทวนโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท หวั่นล้มเหลวขาดทุน ยก"แอร์พอร์ตลิงค์-3จี ทีโอที" เป็นตัวอย่าง ชี้ควรเลิกประชานิยมไม่อั้น

เอกชนเตือนรัฐทบทวนโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท หวั่นล้มเหลวขาดทุน ยก"แอร์พอร์ตลิงค์-3จี ทีโอที" เป็นตัวอย่าง ชี้ควรเลิกประชานิยมไม่อั้น

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริการ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน-ภัทร กล่าวว่า การลงทุนโครงการ 2 ล้านล้านบาทยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่เนื่องจากข้อมูลรายละเอียดยังน้อยมากซึ่งรัฐบาลจะต้องจัดลำดับความสำคัญโครงการการลงทุนให้ดี โดยการลงทุนครั้งนี้ใช้เงินมหาศาล  ทำให้ต้องไปปิดกั้นการลงทุนด้านอื่นๆ

ทั้งนี้หากรัฐบาลลงทุนครั้งนี้ผิดพลาดก็จะเกิดวิกฤติที่ร้ายแรงว่าวิกฤติเศรษฐกิจปี2540ที่ช่วงนั้นส่วนใหญ่เป็นการการลงทุนของภาคเอกชน

"การลงทุนว่าคุ้มค่าหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาว่าโครงการนั้นสามารถที่จะเพิ่มประสิทธิผลของประเทศได้หรือไม่ แม้ว่ารัฐบาลจะจะมีการประเมินความคุ้มค่าการลงทุน แต่โครงการก็ยังไม่น่าเชื่อถือ และไม่น่าไว้วางใจเพราะมีหลายโครงการที่รัฐประเมินว่ามีความคุ้มค่าและก็ล้มเหลวขาดทุน เช่น โครงการแอร์พอร์ตลิงค์ ยังขาดทุน 4 หมื่นล้านบาท มีผู้โดยสารวันละ 4หมื่นคนแต่จะขอลงทุนเพิ่มอีก 1 หมื่นล้านเพื่อซื้อโบกี้ 10 ล้านเหรียญสหรัฐในขณะที่บีทีเอสซื้อโบกี้แค่ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ การลงทุน 3G ขององค์การโทรศัพท์ 2 หมื่นล้านบาทปัจจุบันก็ยังมีคนใช้บริการไม่ถึง 1ใน4และโครงการรถไฟฟ้ามหานคร(รฟม.)เขียนโครงการะบุมีผู้โดยสาร 4.5 แสนคนปัจจุบันเปิดใช้มา 10 ปีแล้วมีผู้โดยสารยังไม่ถึง 2แสนคน"นายบรรยงกล่าว

นอกจากนี้รัฐบาลอาจจะต้องทบทวนการลงทุนโครงการ 2 ล้านล้านบาทใหม่ไม่ควรผูกติดระยะเวลา 5 ปี แม้ว่าขณะนี้สภาพคล่องทั้งในประเทศและต่าประเทศยังเพียงพอรองรับได้แต่ในอนาคต อีก 5 ปีก็ยังไม่มีใครทำนายได้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศจะเกิดอะไรขึ้นและแม้ว่ารัฐบาลจะบอกว่าไทยมีเงินทุนสำรอง 2แสนล้านเหรียญสหรัฐแต่ไม่ใช่เงินของรัฐบาล  แต่เป็นเงินออมของประชาชนเงิน ของภาคเอกชน และเงินของต่างชาติมาลงทุนในตลาดหุ้น 1 แสนล้านเหรียยสหรัฐ และเงินลงทุนในพันธบัตอีกประมาณ 3-4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

นายบรรยงกล่าวว่า การบริหารเงินลงทุน(ไฟแนนซ์)ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการกู้เงิน 50 ปีซึ่งสามารถที่จะจัดหาเงินลงทุนในรูปแบบอื่นๆ  เช่นการให้เอกชนร่วมลงทุนให้สัมปทานเอกชน  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ คือ 1.เบาแบ่งภาระหนี้สาธารณะของรัฐบาล 2.ใช้กลไกตลาดหรือเอกชนเข้ามาตรวจสอบความคุ้มค่าการลงทุนอย่างเข้มงวด 3.ยกกระบวนการบริหารให้มีประสิทธิภาพ และ4.เอกชนจะเป็นกลไกให้เกิดความโปร่งใส มีระบบธรรมภิบาลและบรรษัทภิบาล

ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่าในมุมมองภาคเอกชนการลงทุนโครงการ 2ล้านล้านบาทไม่คุ้มค่าการลงทุน ทั้งนี้รัฐบาลควรจะปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นที่ฐานที่มีอยู่ให้ดีก่อนและควรจะลงทุนพัฒนาระบบชลประทานเพื่อการเกษตรซึ่งจะได้ประโยชน์และคุ้มค่ามากกว่า และระบบคมนาคมทางน้ำจะดีกว่า

ทั้งนี้ความจริงต้นทุนโลจิสติกของไทย 15 % มาจากค่าขนส่งเพียง7 %ค่าสูญเสียสินค้าระหว่างขนส่ง6%และบริหารจัดการยังไม่นับรวมค่าประกันภัยและค่าจัดเก็บสต๊อก ซึ่งการลงทุนระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงแม้ว่าจะทำให้ต้นทุนโลจิติกถูก 2% แต่ยังไม่รวมต้นทุนค่าขนส่งเคลื่อนย้ายสินค้าจากรถไฟมาโรงงานอีก ซึ่งเมื่อรวมแล้วก็ไม่น่าจะทำให้ต้นทุนโลจิสติกลดลงมากนัก และเมื่อเทียบต้นทุนค่าขนส่งไทยกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วต้นทุนขนส่งของไทยถูกกับประเทศเพื่อนบ้าน30-40% เช่น ลาว กัมพูชา ออสเตรเลียเป็นต้นดังนั้นควรที่จะเอาเงินไปลงทุนด้านอื่นที่เป็นประโยชน์มากกว่า

อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลยืนยันจะลงทุนโครงการนี้ ก็ควรลงทุนไม่เกิน 50% และต้องหาภาคเอกชนเข้ามาร่วมแชร์ความเสี่ยงการลงทุนด้วย รวมทั้งจะต้องคัดเลือกรูปแบบการลงทุนที่สามารถต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมและให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยแทนที่จะซื้อมาทั้งหมด และต้องมีการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ

นายเศรษฐพุฒิ  สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่าการลงทุน2ล้านล้านบาทจะต้องตอบคำถามให้ได้ 2 ข้อคือลงทุนที่ "ถูกที่"และ"ถูกวิธี"หรือไม่ซึ่งรัฐบาลจะต้องควรทำ 5 เรื่องเพื่อลดความเสี่ยงทางการคลัง คือ1.ควรเลิกนโยบายประชานิยมที่ไม่จำกัดวงเงิน 2.ควรบริการจัดการเงินลงทุนให้มีประสิทธิภาพ และลดขนาดเงินลงทุน 3.ควรมีการบริการจัดการที่ชัดเจน 4. ต้องมีระบบตรวจสอบและประเมินผล 5.ต้องสร้างกลไกรับผิดชอบที่ชัดเจน