posttoday

เตือนลดดอกเบี้ยสกัดค่าเงินไม่เหมาะ

22 เมษายน 2556

หม่อมเต่าเตือนใช้มาตรการลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลเงินบาท อาจเกิดภาวะฟองสบู่

หม่อมเต่าเตือนใช้มาตรการลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลเงินบาท อาจเกิดภาวะฟองสบู่

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์เงินบาทและอัตราดอกเบี้ยว่า แนวทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยควรจะนำไปใช้สำหรับการดูแลอัตราเงินเฟ้อและเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ เพราะตามข้อกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการระบุให้ใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสำหรับการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งหากจะนำมาใช้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนคงไม่เหมาะสม

นอกจากนี้ การจะลดดอกเบี้ยลงในตอนนี้ อาจจะเกิดปัญหาฟองสบู่ตามมา โดยการดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนี้ควรใช้วิธีการซื้อเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในประเทศเพื่อทำให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง

อย่างไรก็ดี การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายจากภาครัฐ เพราะเมื่อมีนโยบายที่ถูกต้องและเหมาะสมก็จะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น แต่ก็มองว่าเศรษฐกิจไทยในขณะนี้มีความเหมาะสมกับภาวะเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าแข็งค่า เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าจะเกิดประโยชน์ต่อภาคการส่งออกที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้มากกว่า

ส่วนกรณีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังยอมรับว่ามีแนวคิดจะปลดผู้ว่าการ ธปท.นั้น ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ผมเป็นคนสุดท้ายที่ถูกปลด ตอนนั้นแบงก์ชาติเป็นส่วนหนึ่งของคลัง แต่ตอนนี้มันทำไม่ได้แล้วนอกเสียจากมีความผิดร้ายแรง ไม่ใช่ผิดเพราะขัดกันในเรื่องของนโยบาย หากจะทำมีนต้องแก้กฎหมายถึงจะทำได้

ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าวว่า การจะปลดผู้ว่า ธปท.ออกจากตำแหน่งจะต้องเป็นการสร้างความผิด สร้างความเสียหายเกิดขึ้น ไม่ใช่การดำเนินนโยบายขัดกัน ระหว่างธปท. กับกระทรวงการคลัง ฝ่ายการเมืองไม่มีสิทธิที่จะปลด ผู้ว่าการ ธปท. ตราบใดที่ไม่มีการแก้กฎหมาย

ด้านนายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้มาจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจด้วย ประเทศไทยชัดเจนว่าเข้มแข็ง ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น จึงไม่น่าแปลกใจที่ค่าเงินบาทอยู่ในเกณฑ์นี้ ส่วนการที่ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่าเงินบาทเริ่มแข็งเกินปัจจัยพื้นฐานนั้น นักลงทุนและผู้ร่วมตลาดต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ 

"อัตราแลกเปลี่ยนที่ยั่งยืนและจะมีเสถียรภาพได้ ไม่ควรแข็งเกินปัจจัยพื้นฐาน เพราะจะมีความเสี่ยงค่าเงินว่าจะมีการเคลื่อนไหวผันผวนในระยะต่อไปได้ ผู้ร่วมตลาดและนักลงทุนต้องระวัง ส่วนมาตรการดูแลค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วของธปท.นั้น ต้องติดตามสถานการณ์ ให้โอกาสตลาดปรับตัว ตอนนี้ธปท.มีมาตรการต่างๆ เตรียมไว้อยู่แล้ว ถ้าจำเป็นต้องดำเนินมาตรการใดต้องคิดให้ดี เพราะมาตรการต่างๆ มีทั้งประโยชน์และผลข้างเคียง จึงอาจกระทบระยะยาวได้ ต้องรอบคอบ"นายไพบูลย์กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า   ส่วนตัวไม่ทราบว่า กระแสข่าวที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังได้ให้สัมภาษณ์ว่ามีความคิดจะปลด นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล จากตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. หลังธปท.ไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากปัจจุบันที่ 2.75% เพื่อลดความร้อนแรงเงินทุนไหลเข้าจะสร้างแรงกดดันในการทำงานของคนในธปท.หรือไม่ แต่ขอชี้แจงว่าการทำงานของธปท.จะทำงานโดยอาศัยข้อมูล ข้อเท็จจริง และผลงานวิจัยต่างๆ ซึ่งทำงานตามเนื้อผ้า

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)คงไม่จำเป็นต้องนัดประชุมวาระพิเศษ เพื่อพิจารณาหาแนวทางดูแลค่าเงินบาทแข็ง หรือลดดอกเบี้ยลงเพื่อดูแลค่าเงินบาทแข็งค่า เพราะในการทำงานกนง.มีกระบวนการพิจารณาและกำหนดกระบวนการทุกอย่างภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นไว้อยู่แล้ว ซึ่งก็คือมีมาตรการเตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ปริมาณเงินทุนจากญี่ปุ่น ที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตร(บอนด์)ไทยค่อนข้างมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจะสร้างความไม่มีเสถียรภาพต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยหรือไม่นั้น  ธปท.มีมาตรการต่างๆ รองรับไว้อยู่แล้ว เพียงแต่จะเลือกใช้มาตรการอะไรให้เหมาะกับสถานการณ์และความจำเป็นอย่างไรเท่านั้น ส่วนผลกระทบต่อภาคส่งออกปัจจุบันภาคเอกชนสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองได้ดี เห็นได้จากผู้ส่งออกมีการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Hedge) สูงถึง 60% ของยอดการส่งออกทั้งหมด

“ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า หลายธุรกิจได้ใช้ประโยชน์นำเข้าเครื่องจักร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นที่น่าพอใจในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งบางธุรกิจก็มีการลงทุนตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศ เพื่อลดต้นทุนและใช้ประโยชน์จากแรงงานถูกกว่าในต่างประเทศ สะท้อนการปรับตัวของเศรษฐกิจที่ดี ส่วนธปท.จะพยายามดำเนินนโยบายการเงินโดยยึดพันธะกิจหลักดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพ และสมดุลในระบบการเงินของประเทศ ดูให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสอดคล้องกับความจำเป็นของเศรษฐกิจและสมดุลทางการเงิน”นายไพบูลย์กล่าว

นายไพบูลย์ ลก่าวว่า เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมากนง.ได้รวมสมมติฐานเรื่องเงินบาทแข็งค่าต่อระบบเศรษฐกิจไว้อยู่แล้ว มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจขณะนี้ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้จะโตไม่สูงมาก แต่แรงส่งเศรษฐกิจยังดี แม้ว่ากนง.จะแสดงความเป็นห่วงด้านเสถียรภาพการเงิน การขยายตัวของหนี้ครัวเรือน สินเชื่อขยายตัวสูง และตลาดอสังหาริมทรัพย์มีความคึกคัก ซึ่งผลของเสถียรภาพการเงินส่วนหนึ่งมาจากภาวะการเงินและดอกเบี้ยเอื้ออำนวย ส่งผลให้สินเชื่อขยายตัวและสภาพคล่องประเทศสูงขึ้น

ค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 22 เม.ย.มีการเคลื่อนไหวปรับตัวอ่อนค่าลงตลอดทั้งวันจากการเข้าแทรกแซงของธนาคารแห่งประเทศไทย หลังจากได้รับแรงกดดันจากรัฐบาลโดยเปิดตลาดที่ระดับ 28.56-28.58 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยอ่อนค่าลงไปต่ำสุดที่ 28.74-28.76 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ 28.70-28.72 บาทต่อเหรียญสหรัฐ