posttoday

3G ดันธุรกิจมือถือโต 47%

22 เมษายน 2556

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มอง 3G ใหม่ ขับเคลื่อนบริการดาต้าบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ปี 56 โตได้ถึง 47%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มอง 3G ใหม่ ขับเคลื่อนบริการดาต้าบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ปี 56 โตได้ถึง 47%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์การขยายโครงข่าย 3G ที่มีผลต่อธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยระบุว่า ธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2555 ที่ผ่านมา มีการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการขยายโครงข่ายบริการ 3G เชิงพาณิชย์บนคลื่นความถี่เดิมที่ครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น พร้อมทั้งการเพิ่มขึ้นของฐานผู้บริโภคที่ใช้บริการ 3G บนโครงข่ายดังกล่าว ตลอดจนแรงหนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดอุปกรณ์เคลื่อนที่ทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ส่งผลให้ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยรวมของปี 2555 เติบโต 11.5% ใกล้เคียงกับปี 2554 ซึ่งมีการเติบโต 11.8% โดยมีแรงผลักดันหลักจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการใช้บริการด้านข้อมูล ซึ่งมีการขยายตัวสูงถึง 44.1% เทียบกับที่ขยายตัว 34.7% ในปีก่อนหน้า ในขณะที่การใช้บริการด้านเสียงมีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอลงจาก 7.1% ในปี 2554 มาอยู่ที่ 3.0% ในปี 2555

สำหรับแนวโน้มโดยรวมในปี 2556 นั้น การทยอยเปิดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ตามเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 คาดว่า จะเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันการเติบโตของธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเฉพาะบริการด้านข้อมูล เนื่องจาก จะช่วยขจัดข้อจำกัดด้านคุณภาพการให้บริการข้อมูลในบริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ประกอบกับแรงหนุนจากการออกโปรโมชั่นทางการตลาดของผู้ให้บริการโทรคมนาคมเพื่อจูงใจผู้บริโภคให้หันมาใช้บริการ 3G ใหม่ เพื่อลดต้นทุนจากการจ่ายส่วนแบ่งรายได้สัมปทานราว 25-30% ไปสู่การจ่ายค่าธรรมเนียมจากรายได้เพียง 2% และยังเป็นการลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการบางรายที่สัญญาสัมปทานในระบบ 2G จะหมดลงในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนผู้บริโภคที่หันมาใช้บริการ 3G ใหม่ ในปี 2556 น่าจะมีมากกว่า 20 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ใช้บริการที่ย้ายมาจากระบบ 2G หรือ 3G เดิม

แนวโน้มทางการตลาดและการแข่งขันของผู้ให้บริการโทรคมนาคมในระบบ 3G ใหม่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเปิดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกจุดหนึ่งต่อรูปแบบการทำการตลาดและการแข่งขันในธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดังนี้

-เร่งขยายโครงข่าย 3G ใหม่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศเร็วขึ้นสำหรับผู้ให้บริการที่มีข้อจำกัดด้านคุณภาพการให้บริการข้อมูลบน 3G เดิม

สำหรับผู้ให้บริการที่มีข้อจำกัดด้านคุณภาพการให้บริการบนระบบ 3G เดิม น่าจะเร่งสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันสำหรับบริการด้านข้อมูล โดยเร่งขยายโครงข่าย 3G ใหม่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศเร็วขึ้นกว่าผู้ให้บริการรายอื่นที่ไม่มีข้อจำกัดดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ให้บริการที่ไม่มีข้อจำกัดด้านคุณภาพการให้บริการบนระบบ 3G เดิม น่าจะวางแผนขยายโครงข่าย 3G ใหม่ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับเงื่อนไขการได้รับใบอนุญาต   เนื่องจากผู้ให้บริการดังกล่าวสามารถให้บริการ 3G ใหม่ในลักษณะโรมมิ่ง (บริการข้ามเครือข่าย) กับโครงข่าย 3G เดิม ซึ่งได้มีการวางโครงข่ายครอบคลุมเกือบทั่วประเทศไปในช่วงก่อนหน้าแล้ว

-เร่งขยายตลาดโพสต์เพด ในขณะที่ไม่ทิ้งตลาดพรีเพด

จากพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ในปัจจุบันที่ต้องการช่องทางสื่อสารที่เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาอย่างอุปกรณ์เคลื่อนที่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ส่งผลให้ผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวเกิดความต้องการใช้งานบริการด้านข้อมูลที่ไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน   โดยมักจะพบในแพ็คเกจโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโพสต์เพด ซึ่งจำนวนผู้ใช้งานบริการโพสต์เพดมีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดดหลังโครงข่ายบริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิมครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2555 โดยเติบโตจาก 9.4% ในปี 2554 สู่ระดับ 23.2% ในปี 2555 ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการโพสต์เพดต่อเดือน (ARPU) ซึ่งทรงตัวที่ระดับ 580 บาทในช่วงหลายปีก่อนหน้า ก็เติบโตสู่ระดับ 621 บาท ในปี 2555 คิดเป็นอัตราเติบโต 7.1% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาค่าแพ็คเกจที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเปิดให้บริการสื่อสารไร้สายความเร็วสูง 3G บนคลื่นความถี่เดิม

ทั้งนี้ จากแรงจูงใจด้านรายได้ต่อผู้ใช้บริการที่สูงขึ้นและสม่ำเสมอในแต่ละเดือนดังกล่าว น่าที่จะส่งผลต่อเนื่องให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกแคมเปญทางการตลาดหลังการเปิดให้บริการ 3G ใหม่ เพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้หันมาใช้บริการในลักษณะโพสต์เพดมากยิ่งขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนผู้ใช้งานบริการโพสต์เพดทั้งบนระบบ 2G และ 3G ในปี 2556 น่าจะเติบโตจาก 9.7 ล้านรายในปี 2555 สู่ระดับ 13.1-14.2 ล้านราย คิดเป็นอัตราเติบโตราว 34.2-45.1%   เร่งตัวจาก 23.2% ในปี 2555

สำหรับตลาดพรีเพด แม้ว่าในปี 2555 มี ARPU อยู่ที่ 164 บาท ซึ่งต่ำกว่าของตลาดโพสต์เพดอยู่ 3.8 เท่า แต่กลับมีจำนวนผู้ใช้บริการสูงถึง 74.2 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 88.4% ของผู้ใช้บริการทั้งหมด ส่งผลให้รายได้โดยรวมจากตลาดพรีเพดในปี 2555 มีสัดส่วนสูงถึง 66.7% ของรายได้รวมของทั้งสองตลาด แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของตลาดโพสต์เพดในปัจจุบันที่ยังคงเป็นแหล่งรายได้สำคัญ ทำให้คาดได้ว่า แม้ว่าผู้ให้บริการจะเริ่มให้ความสำคัญต่อการเพิ่มสัดส่วนผู้ใช้งานบริการโพสต์เพด แต่ก็ยังคงไม่ทิ้งการออกแคมเปญทางการตลาดสำหรับรักษาและขยายฐานผู้ใช้บริการพรีเพดของตน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนผู้ใช้งานบริการพรีเพดทั้งบนระบบ 2G และ 3G ในปี 2556 น่าจะเติบโตจาก 74.2 ล้านรายในปี 2555 สู่ระดับ 76.1 ถึง 79.2 ล้านราย คิดเป็นอัตราเติบโตราว 2.5 - 6.7% ชะลอตัวจาก 6.8% ในปี 2555

3G ดันธุรกิจมือถือโต 47%

 

-การเปิดให้บริการ 3G ใหม่ควบคู่กับบริการ 4G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz

เนื่องจากใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 2.1 GHz ไม่ได้จำกัดว่าต้องนำไปให้บริการเฉพาะ 3G เท่านั้น ทำให้ผู้ให้บริการบางรายซึ่งมีความพร้อมด้านคุณภาพการให้บริการข้อมูลบนระบบ 3G เดิม ได้สร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันโดยการตัดแบ่งแถบคลื่นความถี่บนคลื่น 2.1 GHz บางส่วนมาให้บริการ 4G ซึ่งมีความเร็วสูงกว่าบริการ 3G ราว 5 เท่า โดยจะเปิดให้บริการควบคู่ไปกับบริการ 3G ใหม่ และ 3G เดิมตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยบริการ 4G จะเริ่มทยอยเปิดให้บริการในเขตพื้นที่ใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณการใช้งานดาต้าในระดับสูงก่อน อย่างไรก็ดี สำหรับคลื่นความถี่มาตรฐานที่ทาง กทค. ได้จัดสรรให้บริการ 4G จะอยู่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งปัจจุบันถูกใช้สำหรับการให้บริการ 2G บนระบบสัญญาสัมปทาน โดยจะสิ้นสุดสัญญาในช่วงเดือนกันยายนปีนี้ ทั้งนี้ กทค.ได้กำหนดช่วงเวลาในการเปลี่ยนผ่านหลังสิ้นสุดสัมปทานที่ 1 ปี จากนั้นจะนำคลื่นความถี่ 1800 MHz มาเปิดประมูลเพื่อให้บริการ 4G ซึ่งหากไม่มีประเด็นปัญหาจากการเปลี่ยนผ่าน การเปิดประมูลคลื่นความถี่1800 MHz น่าจะเกิดขึ้นได้ในราวปลายปี 2557

-เร่งสร้างพันธมิตร รวมถึงพัฒนาบริการด้านข้อมูลใหม่ๆ

การเปิดบริการ 3G นับได้ว่าเป็นแรงผลักดันอันสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคการบริการด้านข้อมูลในหลากหลายรูปแบบ และส่งผลให้เกิดการพัฒนาบริการเสริมด้านข้อมูลที่เน้นการบริโภคเนื้อหาในลักษณะออนไลน์มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริการบันเทิงออนไลน์แบบต่างๆ หรือการประชุมออนไลน์ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเห็นหน้าผู้ประชุม หรือแม้แต่บริการข้อมูลข่าวสารมัลติมีเดียแบบออนไลน์ โดยเฉพาะบริการความบันเทิงแบบพกพา ที่ผู้บริโภคสามารถชมทีวี ฟังเพลง หรือเล่นเกม ในขณะที่เชื่อมต่อการใช้บริการได้ทันที สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจของผู้ให้บริการคอนเทนต์ที่อาจจะเข้ามาเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม เพื่อพัฒนาและอาศัยฐานลูกค้าของผู้ให้บริการโทรคมนาคมแต่ละราย โดยเฉพาะลูกค้าโพสต์เพดที่มีกำลังซื้อ ในการนำเสนอบริการด้านข้อมูลใหม่ๆบนช่องทางการสื่อสารรูปแบบใหม่นี้ ทั้งนี้ อาจรวมไปถึงการจับมือกับหน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อให้บริการที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคม เช่น บริการการแพทย์ทางไกลบนโครงข่าย 3G เป็นต้น

3G ดันธุรกิจมือถือโต 47%

จากแนวโน้มและปัจจัยสำคัญต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมของตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2556 จะเติบโตประมาณ 12.8-15.2% โดยมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 213,600-217,100 ล้านบาท จาก 189,400 ล้านบาทในปี 2555 ในจำนวนนี้คิดเป็นแรงหนุนจากการใช้บริการด้านข้อมูลคิดเป็นมูลค่า 70,900-74,800 ล้านบาท ขยายตัวราว 39.7-47.5% ในขณะที่บริการด้านเสียงอาจจะเติบโตในกรอบจำกัดที่ประมาณ 2.9-3.4% เทียบกับที่ขยายตัว 3.0% ในปี 2555

ประเด็นที่ต้องติดตามสำหรับการเปิดให้บริการ 3G ใหม่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมประเด็นที่ควรติดตาม ซึ่งมีผลเกี่ยวพันกับการเปิดให้บริการ 3G ใหม่ ดังนี้

-ข้อจำกัดการให้บริการคงสิทธิเลขหมายต่อการเร่งโอนย้ายลูกค้าสู่ 3G ใหม่

สำหรับผู้บริโภคที่ใช้บริการบนระบบ 2G หรือ 3G เดิม แล้วต้องการที่จะใช้บริการ 3G ใหม่บนเลขหมายเดิม จำเป็นที่จะต้องใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย (Mobile Number Portability: MNP) ซึ่งปัจจุบันทางคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติให้ระบบเคลียริ่งเฮาส์สำหรับบริการดังกล่าวสามารถดำเนินการโอนย้ายลูกค้าได้ประมาณ 4 หมื่นเลขหมายต่อวันเท่านั้น ซึ่งผู้ให้บริการมีความเป็นกังวลว่าอาจจะเป็นข้อจำกัดในการทำการตลาดเพื่อโอนย้ายลูกค้าสู่บริการ 3G ใหม่ โดยก่อนหน้านี้ ผู้ให้บริการเคยเสนอที่จะใช้รูปแบบการโอนย้ายอัตโนมัติที่สามารถทำได้ 1 แสนเลขหมายต่อวันเพื่อเร่งโอนย้ายลูกค้าสู่ 3G ใหม่ โดยเฉพาะในช่วงต้นของการเปิดให้บริการ 3G ใหม่ ซึ่งมีการคาดกันว่าน่าจะมีความต้องการโอนย้ายมากกว่า 1 แสนรายต่อวัน

-การลดราคาค่าบริการด้านเสียงและข้อมูลลงอย่างน้อย 15%

จากเงื่อนไขการได้รับใบอนุญาตในการเปิดให้บริการ 3G ใหม่ ที่มีการระบุว่าผู้ให้บริการต้องลดค่าบริการด้านเสียงและข้อมูลลงอย่างน้อย 15% เนื่องจากผู้ให้บริการ 3G ใหม่จะมีต้นทุนการจ่ายค่าธรรมเนียมรายได้เพียง 2% ซึ่งลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับการจ่ายแบ่งรายได้ถึงราว 25-30% ในระบบสัมปทานเดิม ซึ่งการลดค่าบริการลงดังกล่าว นอกเหนือจากการสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการย้ายบริการจากระบบ 2G ที่มีค่าบริการสูงกว่า ไปยังบริการ 3G ใหม่ที่มีค่าบริการลดลง อย่างไรก็ดี มีผู้ให้บริการบางรายได้เสนอทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการลดค่าบริการโดยตรง โดยเสนอที่จะเพิ่มการใช้งานเสียงและปริมาณข้อมูลขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 เช่น แพ็กเกจ 599 บาท จำกัดการใช้งานบริการข้อมูล 2 กิกะไบต์ และบริการเสียง 400 นาที จะเพิ่มเวลาการใช้บริการเสียงและข้อมูลให้มากกว่ามูลค่า 15% เป็นต้น อย่างไรก็ดี แนวทางดังกล่าวต้องรอความชัดเจนจากทาง กทค. ก่อนการดำเนินการ