posttoday

ศูนย์วิจัยชี้ปีนี้หลักสูตรอินเตอร์มาแรง

05 เมษายน 2556

ปี 2556 นักเรียนนักศึกษาฮิตเรียนหลักสูตรอินเตอร์ จับตามหาวิทยาลัยขยายฐานนักศึกษาไปสู่ AEC

ปี 2556 นักเรียนนักศึกษาฮิตเรียนหลักสูตรอินเตอร์ จับตามหาวิทยาลัยขยายฐานนักศึกษาไปสู่ AEC

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ความสนใจกับหลักสูตรการศึกษาของประเทศไทย โดยมองเห็นแนวโน้มความตระหนักถึงความสำคัญของทักษะภาษาอังกฤษ ควบคู่กับค่านิยมในหลักสูตรการเรียนการสอนต่างประเทศของผู้ปกครองในระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดให้ธุรกิจให้บริการด้านการศึกษามีการพัฒนาหลักสูตรนานาชาติและปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การศึกษาหลักสูตรนานาชาติในประเทศไทย เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

ปัจจัยด้านจำนวนนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มขึ้นและค่าเทอมที่แพงขึ้น ส่งผลให้มูลค่าตลาดโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้น

นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา จำนวนนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของนักเรียนไทยที่ผู้ปกครองเล็งเห็นความสำคัญของการใช้ภาษาอังกฤษตั้งแต่วัยเด็ก และนักเรียนต่างชาติที่ผู้ปกครองเข้ามาทำงานหรือประกอบธุรกิจภายในประเทศไทย โดยพบว่า ณ สิ้นปี 2555 มีจำนวนนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติรวม 39,212 คน แบ่งเป็นนักเรียนไทยประมาณร้อยละ 50 และนักเรียนต่างชาติประมาณร้อยละ 50 โดยนักเรียนต่างชาติที่เข้ามาศึกษาในโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นชาวญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และเกาหลีใต้

จำนวนโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องตามจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดย ณ สิ้นปี 2555 มีโรงเรียนนานาชาติรวม 138 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ 91 โรงเรียน และโรงเรียนในพื้นที่ต่างจังหวัด 47 โรงเรียน โดยประกอบไปด้วยจำนวนนักเรียนในโรงเรียนพื้นที่กรุงเทพฯประมาณร้อยละ 70 และโรงเรียนพื้นที่ต่างจังหวัดประมาณร้อยละ 30

ศูนย์วิจัยชี้ปีนี้หลักสูตรอินเตอร์มาแรง


ปี 2555 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการโรงเรียนนานาชาติมุ่งขยายธุรกิจไปในแถบชานเมืองเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ปกครองและนักเรียนในด้านความสะดวกสบายในการเดินทางและหลีกเลี่ยงความแออัดด้านการจราจรในเขตเมือง รวมถึงขยายธุรกิจไปในเขตปริมณฑลและต่างจังหวัดที่เป็นเมืองหลักและมีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต นครราชสีมา ระยอง เป็นต้น โดยใช้กลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์และชูจุดขายทั้งด้านคุณภาพของการเรียนการสอน และบรรยากาศในการเรียนรู้ เช่น หลักสูตรที่มุ่งเน้นด้านวิชาการควบคู่ไปกับการปลูกฝังทักษะการเข้าสังคมที่ครอบคลุมตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษา อาจารย์ต่างชาติที่มีคุณวุฒิและประสบการณ์ด้านการศึกษาโดยตรง สภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยบรรยากาศความเป็นนานาชาติ ตลอดจนการผ่านการรับรองมาตรฐานจากสถาบันต่างประเทศ โดยพบว่า ณ สิ้นปี 2555 มีโรงเรียนนานาชาติที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบันต่างประเทศรวม 53 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ 32 โรงเรียน และโรงเรียนในพื้นที่ต่างจังหวัด 21 โรงเรียน

จากแนวโน้มการให้ความสำคัญกับการปลูกฝังทักษะทางด้านภาษาอังกฤษตั้งแต่วัยเด็ก ค่านิยมในหลักสูตรการเรียนการสอนของต่างประเทศของผู้ปกครองไทย ตลอดจนการเข้ามาทำงานหรือประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติภายในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประมาณการว่า จะมีจำนวนนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้นจาก 39,212 คน ในปี 2555 เป็น 43,133 คน ในปี 2556 หรือเติบโตร้อยละ 10 โดยเป็นการเติบโตมาจากทั้งในส่วนของนักเรียนไทยและนักเรียนต่างชาติ และค่าเทอมโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นจาก 441,000 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2555 เป็น 463,050 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2556 หรือสูงขึ้นร้อยละ 5

จากการประมาณการทั้งในด้านจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น และค่าเทอมโดยเฉลี่ยต่อปีที่สูงขึ้นนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ประมาณการว่า มูลค่าตลาดโรงเรียนนานาชาติจะสูงขึ้น จาก 17,292 ล้านบาท ในปี 2555 เป็น 19,973 ล้านบาท ในปี 2556 หรือเติบโตขึ้นร้อยละ 16

ศูนย์วิจัยชี้ปีนี้หลักสูตรอินเตอร์มาแรง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า โรงเรียนนานาชาติมีแนวโน้มที่จะขยายไปจังหวัดที่มีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานหรือประกอบธุรกิจอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบของการเปิดโรงเรียนโดยผู้ประกอบการโรงเรียนนานาชาติรายใหม่ และการขยายสาขาของโรงเรียนนานาชาติที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดอุดรธานี และอุบลราชธานี เป็นทำเลที่มีศักยภาพที่ผู้ประกอบการโรงเรียนนานาชาติจะสามารถขยายฐานลูกค้าไปสู่ชาวลาว และกัมพูชา ที่นิยมเข้ามาทำงานหรือประกอบธุรกิจจังหวัดดังกล่าวเนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีโอกาสทางธุรกิจและระยะทางไม่ไกลจากบ้านเกิดมากนัก นอกจากนี้ ในบางจังหวัดที่มีโรงเรียนนานาชาติอยู่แล้ว ก็แนวโน้มที่จะมีโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้น เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี และขอนแก่น เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและมีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานหรือประกอบธุรกิจอยู่เป็นจำนวนมาก

มหาวิทยาลัยชูจุดแข็งในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อขยายฐานนักศึกษาไปสู่ประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศกลุ่ม CLMV

จากความนิยมในการเลือกเรียนระดับปริญญาตรีในรูปแบบหลักสูตรนานาชาติของนักศึกษา ได้เป็นปัจจัยที่ผลักดันให้มหาวิทยาลัยภาครัฐหันมาเปิดสอนปริญญาตรีในรูปแบบหลักสูตรนานาชาติแข่งขันกับมหาวิทยาลัยเอกชนมากขึ้น โดยในหลายปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยภาครัฐและเอกชนมีการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรีในรูปแบบหลักสูตรนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากจำนวนหลักสูตรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกๆปี โดยใน ณ สิ้นปี 2555 มีหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาตรีในประเทศไทยรวม 344 หลักสูตร แบ่งเป็นหลักสูตรของมหาวิทยาลัยภาครัฐ 191 หลักสูตร และมหาวิทยาลัยเอกชน 153 หลักสูตร

ศูนย์วิจัยชี้ปีนี้หลักสูตรอินเตอร์มาแรง

เมื่อพิจารณาในส่วนของจำนวนนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาศึกษาหลักสูตรปริญญาตรีในประเทศไทย พบว่า ในปี 2555 มีนักศึกษาต่างชาติจำนวนรวม 7,553 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2552 กว่าร้อยละ 7 ในจำนวนนี้ ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยเอกชนถึง 4,702 คน ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ 976 คน ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฎ 968 ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยของรัฐ 435 คน และศึกษาอยู่ในสถาบันประเภทอื่นๆ (เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยรัฐไม่จำกัดรับ วิทยาลัยเอกชน เป็นต้น) รวมกัน 472 คน โดยสัญชาติที่เข้ามาศึกษามากที่สุด ได้แก่ นักศึกษาจีน คิดเป็นร้อยละ 44 ของนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด รองลงมาเป็นนักศึกษาพม่า เกาหลีใต้ และเวียดนาม ตามลำดับ ทั้งนี้ สาขาวิชาที่นักศึกษาต่างชาติให้ความสนใจเลือกศึกษาในระดับปริญญาตรี ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ วิทยาศาสตร์ นิเทศศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาการจัดการ และศิลปศาสตร์   

ศูนย์วิจัยชี้ปีนี้หลักสูตรอินเตอร์มาแรง

จากข้อมูลนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาศึกษาหลักสูตรปริญญาตรีในประเทศไทยจำนวนมากนี้ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยต่างๆเร่งแข่งขันกันพัฒนาหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรีในรูปแบบหลักสูตรนานาชาติเพื่อดึงดูดนักศึกษาต่างชาติ ประกอบกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่ได้ก่อให้เกิดโอกาสและความท้าทายในหลากหลายมิติสำหรับมหาวิทยาลัย ทั้งบทบาทในฐานะภาคส่วนที่ผลิตแรงงานเพื่อป้อนสู่ตลาด ในขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นต้องเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรภายใต้สภาวะการแข่งขันของตลาดธุรกิจให้บริการด้านการศึกษาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งมหาวิทยาลัยภาครัฐและเอกชนจึงเริ่มปรับตัวรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมุ่งชูวิสัยทัศน์ผลิตแรงงานป้อนสู่ตลาดอาเซียน และเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรนานาชาติอย่างครอบคลุมในแต่ละสาขามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักสูตรวิชาชีพที่มีข้อตกลงให้สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรี ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นที่นิยมของนักศึกษามากขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสในการไปทำงานยังต่างประเทศมากขึ้น

เมื่อพิจารณาในส่วนของจำนวนนักศึกษาจากอาเซียนที่เข้ามาศึกษาหลักสูตรปริญญาตรีในประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่เป็นประเทศในพม่า เวียดนาม กัมพูชา และลาว (กลุ่ม CLMV) โดยมีจำนวนรวมกันคิดเป็นร้อยละ 87 ของจำนวนนักศึกษาจากอาเซียนทั้งหมด ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสสำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยในการเป็นตัวเลือกของนักศึกษาจากประเทศในกลุ่ม CLMV ที่เผชิญข้อจำกัดด้านการศึกษาภายในประเทศของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ความไม่พร้อมด้านคุณภาพของหลักสูตร บุคลากร และโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา การไม่เปิดสอนในหลักสูตรที่มีความต้องการเรียน เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า การลงทุนอย่างเสรีและการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะอย่างเสรีภายใต้การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเป็นโอกาสสำหรับมหาวิทยาลัยในการขยายฐานนักศึกษาไปสู่ประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ย้ายถิ่นตามผู้ปกครองที่เข้ามาประกอบธุรกิจหรือทำงานภายในประเทศไทย และนักศึกษาที่มีความต้องการมาศึกษาในประเทศไทยมากกว่าศึกษาในประเทศของตนเอง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการว่า ในปี 2556 มูลค่าค่าเทอมการศึกษาระดับปริญญาตรีในรูปแบบหลักสูตรนานาชาติจะสูงขึ้นเป็น 30,871 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่ประมาณการไว้ 30,382 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นร้อยละ 2 โดยเป็นการเติบโตมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักศึกษาต่างชาติที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 จากปี 2555 ที่มีจำนวน 7,553 คน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขึ้นของนักศึกษากลุ่ม CLMV ในสัดส่วนที่สูงขึ้น ในขณะที่จำนวนนักศึกษาไทยจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2555 คือ ประมาณ 39,000 คน

ทั้งนี้ หากพิจารณาปัจจัยการปรับค่าเทอมให้สูงขึ้นของมหาวิทยาลัยร่วมด้วย มูลค่าค่าเทอมการศึกษาระดับปริญญาตรีในรูปแบบหลักสูตรนานาชาติ จะสูงถึง 32,415 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 7

จำนวนนักศึกษาต่างชาติที่เพิ่มขึ้นนี้ นำมาซึ่งสภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างมหาวิทยาลัยเพื่อดึงดูดนักศึกษาต่างชาติ นอกจากการแข่งขันภายในประเทศแล้ว มหาวิทยาลัยในประเทศไทยยังต้องเผชิญกับคู่แข่งที่เป็นมหาวิทยาลัยในอาเซียนที่มีชื่อเสียงในด้านการให้บริการด้านการศึกษาที่โดดเด่นกว่าประเทศไทย เช่น ประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศสิงคโปร์ที่มุ่งเน้นการเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาสำหรับนักศึกษาระดับหัวกะทิของอาเซียน โดยใช้กลยุทธ์สนับสนุนทุนการศึกษาและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการเรียน เพื่อดึงดูดแรงงานที่มีความสามารถให้ทำงานภายในประเทศหลังจากจบการศึกษา นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในประเทศอื่นๆ ที่เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักศึกษาอาเซียน

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มหาวิทยาลัยไทยยังมีจุดแข็งหลายประการ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่ส่งผลให้ผู้ปกครองชาวต่างชาตินิยมส่งบุตรหลานมาเรียน ยกตัวอย่างเช่น การมีมหาวิทยาลัยที่เป็นทางเลือกมากมายและมีหลักสูตรการเรียนการสอนหลากหลาย ความพร้อมของบุคลากรและสิ่งอำนวยความสะดวกในมหาวิทยาลัยไทยที่สามารถรองรับนักศึกษาต่างชาติได้อย่างเพียงพอ ค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของค่าเทอมและค่าครองชีพในประเทศไทยที่ยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก ในขณะที่คุณภาพของการเรียนการสอนที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงบรรยากาศทั้งในส่วนของทำเลที่ตั้ง สภาพภูมิอากาศ และอัธยาศัยของคนไทยที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติ

ศูนย์วิจัยชี้ปีนี้หลักสูตรอินเตอร์มาแรง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า กลยุทธ์ที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยใช้จะไม่มุ่งเน้นการแข่งขันกันที่การลดราคาค่าเทอม แต่จะเป็นการชูจุดแข็งในสาขาวิชาต่างๆของแต่ละสถาบัน โดยมุ่งเน้นที่ความเข้มข้นของด้านเนื้อหาวิชาการ ความหลากหลายของสาขาวิชาเรียน และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการสอนโดยอาจารย์ต่างชาติที่มีคุณวุฒิและประสบการณ์ในสาขานั้นๆโดยตรง การเรียนรู้ในรูปแบบภาคปฏิบัติงาน การเปิดหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างชาติที่ประกอบไปด้วยการเรียนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ความร่วมมือแลกเปลี่ยนนักศึกษาในการไปเรียนยังมหาวิทยาลัยต่างชาติ การจัดกิจกรรมการแข่งขันทางด้านวิชาการและประชุมสัมมนาในระดับนานาชาติ การใช้สื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย ภายใต้บรรยากาศแวดล้อมด้วยความเป็นนานาชาติ ตลอดจนการได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบันต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีในแง่ของการยกระดับหลักสูตรนานาชาติในระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้มีโอกาสขยายฐานนักศึกษาไปสู่ประเทศอื่นๆ ที่นอกเหนือจาก CLMV ได้