posttoday

"ธีระชัย"เชื่อรัฐขึ้นแวตใช้หนี้2ล้านล้าน

03 เมษายน 2556

อดีต รมว.คลัง ร่าย 8 ข้อ สะท้อนหนี้ 5 ล้านล้านสร้างรถไฟความเร็วสูง สุดท้ายรัฐต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มหารายได้ใช้หนี้ ระบุเวลาใช้หนี้อาจถึง100ปี

อดีต รมว.คลัง ร่าย 8 ข้อ สะท้อนหนี้ 5 ล้านล้านสร้างรถไฟความเร็วสูง สุดท้ายรัฐต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มหารายได้ใช้หนี้ ระบุเวลาใช้หนี้อาจถึง100ปี

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ชี้ให้เห็นว่า เมื่อมีการกู้เงินเพื่อก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 ล้านล้านบาท เมื่อรวมกับดอกเบี้ย รวมเป็น 5 ล้านล้านบาท ในขณะที่รายได้รัฐบาลไม่ได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับนโยบายเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในระดับต่ำ สุดท้ายต้องมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ซึ่งคนไทยทั้งประเทศต้องร่วมกันรับผิดชอบจากหนี้ก้อนนี้

"ผมให้ข้อมูลเพิ่ม เพื่อประชาชนจะสามารถวิเคราะห์กันได้เอง

1. ระบบรางคู่อาจจะทำให้การรถไฟขาดทุนน้อยลง เพราะจะมีการขนส่งสินค้ามากขึ้น แต่ธุรกิจที่ใช้บริการจะต้นทุนต่ำลง เศรษฐกิจขยายตัวได้ จึงจะเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มได้บ้าง เก็บภาษีบุคคลธรรมดาเพิ่มได้บ้าง

2. รถไฟกรุงเทพจะมีคนใช้มาก จะมีกำไรพอใช้หนี้ คงไม่ต้องพึ่งรัฐบาลมากนัก

3 รถไฟความเร็วสูงขนแต่ผู้โดยสาร (ไม่เห็นประเทศใดใช้ขนสินค้า) จะเพิ่มผลผลผลิตของประเทศให้มากกว่าที่ low cost airline ทำอยู่แล้วได้หรือไม่ ในระดับเงินเดือนและค่าจ้างปัจจุบัน คาดว่าจะไม่มากนัก เพราะหากไม่มีระบบนี้ ค่าเสียโอกาสที่การเดินทางจะช้าไปบ้าง หรือที่ต้องใช้ low cost airline แทนนั้น ไม่รุนแรง ถามต่อว่าจะเพิ่มการท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้หรือไม่ คาดว่าไม่มากนัก เพราะจากต่างประเทศเขาบินตรงเข้าเชียงใหม่และอู่ตะเภากันอยู่แล้ว

4. เมื่อโครงการไม่มีกำไร ไม่มีเงินจากโครงการมาเพื่อใช้หนี้ 5 ล้านล้านโดยตรง การใช้หนี้ก็ต้องอาศัยรัฐบาลเก็บภาษีในรูปแบบต่างๆ เพื่อมาชำระหนี้ แต่รัฐบาลมีนโยบายเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีบุคคลธรรมดาต่ำ เพื่อให้แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และไม่ผลักดันเก็บภาษีทรัพย์สินและที่ดิน จึงเหลือช่องทางเดียว คือเพิ่ม VAT

5. ผมได้ฟัง ดร. พิสิฐ ลี้อาธรรมในฐานะนักวิชาการตั้งคำถามน่าคิด หากรัฐบาลเพิ่ม VAT จนสูงเท่าประเทศในยุโรป บางประเทศร้อยละ 23 บางประเทศร้อยละ 28 ประชาชนจะคิดอย่างไร จะกระทบคนจนหรือคนรวยมากกว่ากัน

6. รัฐบาลจึงควรให้สภาพัฒน์และกระทรวงการคลัง ประเมินตัวเลขไปข้างหน้าตลอดระยะเวลาชำระหนี้ และให้หน่วยงานทั้งสองชี้แจงต่อสาธารณะ ว่าโครงการลงทุนจะเพิ่มรายได้เท่าใด จะมีกำไรมาชำระหนี้หรือไม่ ประเทศจะมีรายได้จากภาษีต่างๆ เท่าใด และจะต้องเก็บภาษีใดเพิ่มขึ้นหรือไม่เพื่อมาชำระหนี้ ซึ่งทำตัวเลขได้ไม่ยากครับ แต่ตัวเลขต้องอาศัยหลักวิชาการ ต้องไม่ใช่การขายฝัน

7. ดร. พิสิฐเคยเป็นกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ เขาเปรยว่าเสียดายที่ไม่ได้กำหนดในรัฐธรรมนูญเอาไว้ ให้รัฐบาลต้องแสดงแหล่งเงินที่จะใช้ชำระหนี้สำหรับโครงการกู้เงินต่างๆ เพราะการวางนโยบายที่เป็นยุทธศาสตร์ชาติเช่นนี้ ประชาชนควรได้ข้อมูลครบทุกด้าน ทั้งด้านประโยชน์ที่จะได้รับ และด้านค่าใช้จ่ายที่จะต้องร่วมกันควักกระเป๋า

8. ในโลกนี้ ไม่มีอะไรที่เป็นของฟรี แต่ต้องมาจากเงินของพวกเราทั้งนั้นแหละครับ"

ก่อนหน้านี้นายธีระชัยยังโพสต์ข้อความว่า เมื่อคืนนี้ ผมได้ไปงานศพและได้มีโอกาสพูดคุยกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในกระทรวงคมนาคม ผมสอบถามท่านว่าในแง่ข้าราชการ ได้วางแผนการลงทุนในระบบรถไฟของประเทศไว้อย่างไร ท่านแจ้งให้ผมทราบว่า

1.ความสำคัญลำดับหนึ่ง ควรจะลงทุนในการสร้างรางคู่ให้เต็มระบบทั่วประเทศ ระบบรางคู่ดังกล่าว จะเปิดให้รถไฟสามารถสวนทางกันได้โดยไม่ต้องจอดรอในทางเบี่ยง ระบบรางคู่จึงจะทำให้การเดินทางขนส่งผู้โดยสารทำได้รวดเร็วขึ้นอยู่แล้ว และจะทำให้การขนส่งสินค้าสะดวกมากขึ้น รวมทั้งจะลดความเสี่ยงอุบัติเหตุด้วย ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนขนาดรางให้กว้างขึ้นเกินกว่า 1 เมตรด้วย เพราะตัวโบกี้รถไฟของเราทั้งหมดมีล้อกว้าง 1 เมตร แต่การขนส่งออกไปต่างประเทศนั้น สามารถทำได้โดยใช้คอนเทนเนอร์วางบนโบกี้ และเมื่อเดินทางไปจนสุดชายแดนของไทย ก็สามารถยกตู้คอนเทนเนอร์ย้ายไปตั้งบนโบกี้รถไฟของประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างสะดวก

2.ความสำคัญลำดับสอง ควรจะลงทุนในระบบรางในบริเวณรอบกรุงเทพมหานคร เพราะเป็นศุนย์กลางทางธุรกิจที่จำเป็นต้องบริหารจัดการด้านเวลาในการเคลื่อนย้ายผู้โดยสารให้ทำได้รวดเร็วมากขึ้น

3.ความสำคัญลำดับสาม ถ้ามีเงินเหลือหลังจากลงทุนลำดับหนึ่งและลำดับสองแล้ว จึงค่อยคิดอ่านลงทุนในระบบรถไฟความเร็วสูง เพราะการลงทุนใช้เงินสูง เพื่อให้คุ้มทุน จึงจำเป็นต้องคิดค่าโดยสารในราคาสูง คาดว่าจะมีประชาชนใช้บริการน้อย

ดังน้ั้น ในความเห็นของผม หากไม่ระมัดระวังและทุ่มลงทุนในระบบรถไฟความเร็วสูงไปตั้งแต่ต้น โครงการลงทุนน่าจะไม่คุ้มทุน และมีโอกาสที่จะกลายเป็นภาระต่องบประมาณในอนาคต เพราะรัฐบาลในขณะนั้น อาจจะจำเป็นจะต้องคิดค่าโดยสารในราคาต่ำกว่าทุนเพื่อเป็นประชานิยม ถ้าเป็นเช่นนี้ โอกาสที่จะชำระหนี้คืนภายใน 50 ปี ก็อาจจะเป็นเพียงแต่ความฝัน ระวังมันจะเลื่อนไปเป็น 100 ปีแทนนะครับ