posttoday

"เล็ก สิขรวิทย"วาณิชธนากรมือหนึ่งเอเซียพลัส

27 มีนาคม 2556

ผลงานด้านวาณิชธนกจของค่ายนี้นับว่าเป็นที่ยอทมรับของวงการทั้งการเป็นที่ปรึกษากลุ่มสื่อและบันเทิงเข้าตลาด

โดย...บงกชรัตน์ สร้อยทอง

เล็ก สิขรวิทย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส วัย 56 ปี ผู้เคี่ยวกรำในวงการมานาน 28 ปี และอยู่ในเครือบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส มาแล้ว 14 ปี

ผลงานชิ้นล่าสุดคือ การนำบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป เจ้าของร้านอาหารเอ็มเคสุกี้ ยื่นแบบขอเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเตรียมเข้าจดทะเบียนหมวดอาหารและเครื่องดื่มในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นอกจากนั้นยังมีงานที่ปรึกษาทางการเงินให้กับบริษัทจีนที่เตรียมยื่นจัดตั้งโฮลดิงในประเทศไทยเพื่อขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนไปลงทุนในจีนถึง 4 บริษัทที่จะทยอยยื่นไฟลิงตั้งแต่เดือน มี.ค.นี้ เป็นต้นไป

ภายหลังจบปริญญาโทบริหารธุรกิจ ด้านการเงิน จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ Tarleton สหรัฐ และจบ Research Fellowship ด้านการจัดการที่มหาวิทยาลัยโกเบ ญี่ปุ่น ได้เริ่มต้นทำงานที่สายงานด้านการเงินที่ บริษัท Cooper & Lybrand Associates เริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริการด้านที่ปรึกษาทางการเงิน การจัดการการงานก้าวหน้าตามลำดับ จนเป็นผู้อำนวยการ หลังจากนั้นไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ญี่ปุ่น แต่เรียนไม่จบต้องกลับมาดูแลภรรยาที่ตั้งครรภ์

กลับมาเมืองไทยไปเป็นกรรมการ บริหารและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท ไอ.จี.เอส และลาออกไปเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบริการปรับโครงสร้างทางการเงินบริษัท Montgomery & Beaumont Associates ก่อนที่จะมาเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.แอสเซท พลัส (ยังไม่รวมกิจการกับ บล.เอเซีย)

“หลังวิกฤตปี 2540 ผมออกจากกลุ่มธุรกิจไปช่วยเถ้าแก่อาสาแก้หนี้ให้คนไทยตอนนั้นไม่มีใครกล้าทำ ถ้าไปในนามส่วนตัวไม่ได้ลูกค้าขนาดใหญ่ พอดีอ่านหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เห็นข่าวมีคนลาออกก็โทรไปหา ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ เขาบอกผมไม่เคยทำวาณิชธนกิจ ผมบอกผมอยากลอง”
ตอนนั้น “เล็ก” วัย 43 ปีแล้ว และเข้ามาทำงานปี 2542 เป็นรองกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวาณิชธนกิจ

ตลอดปี 2542-2544 บริษัทไม่มีหุ้นที่จะเสนอขายให้ประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) เลย ซึ่งก็เป็นโอกาสดีที่ได้ลูกค้าเก่า 2-3 รายที่เคยแก้หนี้ให้
ธุรกรรมที่ประสบความสำเร็จ คือ การแก้หนี้ที่เจ้าหนี้บริษัทญี่ปุ่นยกหนี้ให้ลูกหนี้ถึง 3,000 ล้านบาท จนปี 2545 มีธุรกรรมไอพีโอขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ บริษัท ไอทีวี และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่ง 2 บริษัทนี้กลายเป็นใบเบิกทางให้งานไอพีโอกับบริษัทอีกหลายบริษัท

หลังจากนั้นมีหุ้นไอพีโอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) อย่างน้อยปีละ 2-3 แห่ง
จนกระทั่งวันนี้กลุ่มบริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีความคล่องตัวมากขึ้นตั้งแต่ปี 2551 โดยเฉพาะธุรกิจงานด้านวาณิชธนกิจ จนตอนนี้มีลูกน้องช่วยทำงานด้วยประมาณ 21-22 คน

วันว่างของผู้ชายคนนี้คือการใช้เวลาทั้งหมดกับการทำสวน ขุดดิน ซ่อมบ้านไปเรื่อยๆ สนุก เพลิน ทำแล้วไม่รู้จักเหนื่อย ทุกวันนี้ใช้เวลาอยู่กับภรรยาในวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะลูกทั้งสองคนเรียนที่ต่างประเทศ