posttoday

ธ.ก.ส.จำหน่ายสลากทวีสินระดม3.5หมื่นล้าน

22 มีนาคม 2556

ธ.ก.ส. เปิดจำหน่ายสลากออมทรัพย์ทวีสินชุด “ข้าวทิพย์” ด้วยภาพวาดของ 3 ศิลปินชื่อดัง ระดมเงิน 3.5 หมื่นล้าน

ธ.ก.ส. เปิดจำหน่ายสลากออมทรัพย์ทวีสินชุด “ข้าวทิพย์” ด้วยภาพวาดของ 3 ศิลปินชื่อดัง ระดมเงิน 3.5 หมื่นล้าน

นายบุญช่วย เจียดำรงค์ชัย รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้เปิดตัวสลากออมทรัพย์ทวีสินชุดใหม่ “ข้าวทิพย์” โดยมีสุดยอดศิลปินชั้นนำของเมืองไทย คือ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ อาจารย์ปรีชา เถาทอง และอาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร เป็นผู้มอบภาพวาดให้ ธ.ก.ส. มาจัดพิมพ์ไว้บนสลาก เพื่อถ่ายทอดและสะท้อนให้คนไทยเห็นคุณค่าของข้าวหรือพระแม่โพสพที่มีบุญคุณหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนผ่านรูปแบบงานศิลปะ

ดังนั้น นอกจากความงดงามของสลากที่ควรค่าต่อการเก็บไว้เป็นที่ระลึกแล้ว ผู้ฝากเงินกับสลากออมทรัพย์ทวีสิน ชุด “ข้าวทิพย์” ยังมีสิทธิลุ้นรับรางวัลทุกวันที่ 16 ของเดือน รางวัลที่ 1 รางวัลละ 20 ล้านบาท เป็นเงิน 68.5 ล้านบาทต่อเดือน รวม 36 ครั้ง หรือตลอดอายุการถือครองสลาก 3 ปี โดยออกรางวัลครั้งแรก 16 มิถุนายน 2556 และครั้งสุดท้ายวันที่ 16 พฤษภาคม 2559

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อที่  ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 พฤษภาคม 2556 โดยเปิดจำหน่ายในราคาหน่วยละ 500 บาท จำนวนทั้งหมด 7 หมวดๆละ 10 ล้านหน่วย รวม 35,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อฝากครบกำหนด 3 ปี จะได้รับคืนต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยหน่วยละ 15 บาท ส่วนกรณีไถ่ถอนก่อนกำหนด เช่น ฝากไม่ครบ 1 ปี ได้รับคืนเฉพาะต้นเงินแต่จะไม่ได้รับดอกเบี้ย  ฝากตั้งแต่ 1 ปี ไม่ถึง 2 ปี ได้รับดอกเบี้ยหน่วยละ 2 บาท และฝากตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ได้รับดอกเบี้ยหน่วยละ 6 บาท  ทั้งนี้ นอกจากได้ลุ้นรางวัล ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากแล้ว ผู้ที่ถูกรางวัลสลากออมทรัพย์ทวีสิน ยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้กรณีเป็นบุคคลทั่วไป รวมทั้งใช้สลากดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ หรือสัญญา(Bank Duarantee) ได้อีกด้วย

นายบุญช่วย กล่าวอีกว่า การออกสลากออมทรัพย์วทีสิน ชุด “ข้าวทิพย์” ครั้งนี้ส่วนหนึ่งเพื่อชดเชยสลากออมทรัพย์ชุดบัตรเพิ่มทรัพย์ ที่กำลังจะครบกำหนดไถ่ถอน และส่วนหนึ่งเพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจการออมทรัพย์ในรูปแบบมีรางวัลได้ร่วมออมเงินกับธ.ก.ส. ซึ่งเงินทุกบาทที่รับฝาก ธ.ก.ส. นำไปเป็นทุนสนับสนุนการประกอบอาชีพของเกษตรกร พัฒนาภาคเกษตรกรรม และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชนบท ซึ่งเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ