posttoday

อารักษ์ สุขสวัสดิ์ เอ็มดี "อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค"

20 มีนาคม 2556

ECF เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ตัวแรกในรอบ 78 ปี ที่เข้าตลาดหุ้น ซึ่งเป็นจังหวะที่เหมาะสม

โดย...ยินดี ฤตวิรุฬห์

“ECF เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ตัวแรกในรอบ 78 ปี ที่เข้าตลาดหุ้น ซึ่งเป็นจังหวะที่เหมาะสม เพราะธุรกิจนี้ได้ตกผลึกและผ่านระบบคัดเลือกมาทั้งหมดแล้ว โรงงานหรือธุรกิจที่เหลืออยู่ในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งและเข้มแข็งพอในการรับมือการแข่งขัน และเชื่อว่าจะมีธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์อีกหลายบริษัท” อารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) กล่าว

หุ้น ECF กำลังเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) จำนวน 120 ล้านหุ้น ระหว่างวันที่ 15,1819 มี.ค.นี้ เพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 26 มี.ค.นี้

บริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ ทั้งตลาดในและต่างประเทศ ที่คร่ำหวอดวงการทำธุรกิจมากว่า 20 ปี นับจากวันที่เริ่มต้นดำเนินงานเมื่อปี 2535 ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญในอุตสาหกรรมที่ดำเนินงานอยู่ ภายใต้แบรนด์ ELEGA ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพาราคุณภาพระดับพรีเมียม รวมถึงกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ที่นำเข้ามาเพื่อจำหน่ายจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีโชว์รูม 15 สาขาทั่วประเทศ ตาม Index Living Mall และ Home Pro

ECF เน้นการขยายตลาดในกลุ่มร้านค้าปลีกทันสมัย เช่น เทสโก้ โลตัส ภายใต้แบรด์ Muse ส่วนที่โฮมโปร คาร์ฟู ภายใต้แบรนด์ leaf ที่ บิ๊กซี และโฮมเวิร์ค ใช้แบรนด์ Fur Direct

อารักษ์ จบปริญญาตรีคณะเศรษฐกิจ จาก California Technical University พ่วงด้วยปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์ สาขาการเงิน มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เขากล่าวว่า ECF เป็นการต่อยอดการทำธุรกิจของครอบครัว จากยุคของบิดาทำธุรกิจโรงเลื่อย และโรงอบ

“เราน่าจะทำอะไรที่เป็นการเพิ่มมูลค่ากับธุรกิจดั้งเดิม และเมื่อครั้งยังเป็นเด็กก็ได้ติดตามคุณพ่อ (วัลลภประธานกรรมการบริหาร) จึงซึมซับงานไปในตัวและทำให้ผมกลับมาทำธุรกิจต่อยอดจากคุณพ่อ

ชีวิตผมเริ่มติดตามคุณพ่อไปต่างประเทศตั้งแต่เด็ก จำได้ว่าตอนอายุ 14 ปี ได้ไปญี่ปุ่นนั่งรับประทานข้าวกับนักธุรกิจ และยังมีโอกาสเดินทางไปดูงานไม้ที่อิตาลี ซึ่งถือว่าเป็นโรงงานไม้ที่ใช้แรงงานคนและทำมือแทบทั้งสิ้น ทำให้ผมคิดว่า หากเราจะทำธุรกิจเดิมให้โตและแข็งแกร่ง การใช้แรงงานคนและทำมือจะไม่สนองตอบที่ดีนักต่อขนาดของธุรกิจและจะทำให้ธุรกิจไปไม่รอด”

ต่อมาบริษัทจึงเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรในการผลิต และกลายเป็นสิ่งที่ดีและเป็นทิศทางที่ถูกต้อง แม้ยุคนี้ค่าจ้างแรงงาน 300 บาทคือความเสี่ยงในการทำธุรกิจ แต่ ECF จะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะใช้เครื่องจักร และอนาคตหลังระดมทุนเสร็จจะนำเงินมาซื้อเครื่องจักรเพิ่มและเพิ่มระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะลดการจ้างงานลงได้อีก

ผลจากการร่ำเรียนทางด้านการเงิน ทำให้เขาสามารถนำมาใช้ในการทำธุรกิจได้อย่างชัดเจน เพราะส่วนหนึ่งของธุรกิจมีการส่งออกซึ่งย่อมมีความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามากระทบ และขณะนี้การที่เงินบาทแข็งค่าก็ย่อมส่งผล แต่ อารักษ์ บอกว่า ในส่วนของ ECF นั้นมีการซื้อความเสี่ยงล่วงหน้าเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อป้องกันผลกระทบจากค่าเงิน แต่จะไม่ซื้อทั้งหมด เช่น มองว่าเงินบาทจะแข็งค่า 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ซื้อลดลงไปอีก 2827 บาทเป็นการซื้อเผื่อไว้ และการที่บริษัทมีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ จึงเป็นการบริหารความเสี่ยงโดยธรรมชาติไปด้วย

ส่วนการตัดสินใจนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น เพื่อต้องการที่นำเงินมาซื้อเครื่องจักรในการขยายกำลังการผลิตทำให้ขบวนการผลิตมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ และมีความแม่นยำมากที่สุด รวมถึงจะเป็นแนวทางที่จะทำให้บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนในการผลิตได้ดีที่สุด สามารถผลิตสินค้าได้ตรงเวลา และตรงตามความต้องการของลูกค้า

“ผมคิดว่าการทำธุรกิจสิ่งสำคัญสุดคือการซื่อสัตย์ต่อลูกค้า การตรงต่อเวลา การที่ธุรกิจของผมทำการค้าขายกับต่างประเทศมาเป็นเวลายาวนั้น การตรงเวลาการทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นคือสิ่งสำคัญที่สุด”

นับว่าวันนี้ ECF ประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ เพราะหากพูดถึงเฟอร์นิเจอร์ในเมืองไทยแล้วแบรนด์ของ ECF ก็ติด 1 ใน 5 ผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ ทุกวันนี้มูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 78 หมื่นล้านบาท บริษัทน่าจะมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท ผลดำเนินงาน งวด 9 เดือนปี 2555 มีรายได้ 763.38 ล้านบาท มีกำไรสุทธิจำนวน 29.01 ล้านบาท

ขณะที่มูลค่าการส่งออกของทั้งระบบ ก็น่าจะอยู่ในระดับ 3-4 หมื่นล้านบาทต่อปี และคาดว่าปีนี้การส่งออกก็น่าจะยังเติบโตได้ 15-20%

ปัจจุบันบริษัทผลิตเพื่อส่งออก สัดส่วน 60% ลูกค้าหลักคือประเทศญี่ปุ่น ซึ่งค้าขายกันมานานมาก เช่น นิโตริ มีสาขาในญี่ปุ่นกว่า 300 สาขาที่สั่งสินค้าของบริษัทไปขาย ไคน์ มีสาขากว่า 200 สาขา และยังมีลูกค้าที่ยุโรป สหรัฐ และตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่ก็ค้าขายกันมานานและไม่เคยมีปัญหา

อารักษ์ ในวัย 41 ปี นอกจากเป็นผู้บริหารและนำพาธุรกิจของ ECF แล้ว เขายังสวมหมวกนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทยด้วย ประสบการณ์จากการทำงานร่วมกับนายกสมาคมฯ มาหลายยุคหลายรุ่น ทำให้เห็นทั้งข้อด้อยและข้อเด่นของการบริหารงานของแต่ละบุคคล ยุคนี้เมื่อเขามารับภาระในการบริหารจึงจะมองขาดในเรื่องของการทำธุรกิจ

อารักษ์ ทิ้งท้ายว่า เมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ เพราะจะถูกใช้เป็นฐานสำหรับการผลิตในการส่งออกไปขายในประเทศต่างๆ และส่งผลดีต่อธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ด้วยการที่ไทยถือว่าเป็นผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพ และเป็นผู้ส่งออกไปต่างประเทศอยู่แล้วจะสามารถแข่งขันและอยู่รอดได้อย่างแน่นอน