posttoday

ไทยพาณิชย์แนะคว้าโอกาสธุรกิจชิปปิ้ง

19 มีนาคม 2556

ไทยพาณิชย์ แนะคว้าโอกาสในภาวะซบเซาของธุรกิจขนส่งทางทะเล ซื้อเรือราคาถูก หาพันธมิตร เปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ๆ

ไทยพาณิชย์ แนะคว้าโอกาสในภาวะซบเซาของธุรกิจขนส่งทางทะเล ซื้อเรือราคาถูก หาพันธมิตร เปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ๆ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์ "คว้าโอกาสในภาวะซบเซาของธุรกิจขนส่งทางทะเล" โดยมองว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงการค้าระหว่างประเทศ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการขยายตัวของธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเล วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้าง ทำให้ความต้องการขนส่งสินค้าหดตัว ในขณะที่ปริมาณเรือมีอยู่เป็นจำนวนมาก กดดันอัตราค่าขนส่งสินค้าให้อยู่ในระดับต่ำ ในปีนี้ธุรกิจขนส่งทางทะเลยังต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่ แต่เริ่มมีโอกาสฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตามเศรษฐกิจโลกในปีหน้า ในช่วงเวลานี้ ทั้งผู้ให้บริการขนส่ง และผู้ส่งสินค้าทางทะเล อย่างผู้นำเข้าส่งออก ควรคว้าโอกาสทองเพื่อเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจ

การเติบโตของธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเล มีวัฏจักรเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกับสภาพเศรษฐกิจโลก  เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเติบโตดี ความต้องการบริโภคและกำลังซื้ออยู่ในระดับสูง ทำให้การนำเข้าส่งออกสินค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ ขยายตัว เช่น ในช่วงปี 2007 ที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น กอปรกับจีนมีการนำเข้าแร่เหล็ก ถ่านหิน ปริมาณมหาศาล เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการต่างๆ รองรับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิคในปี 2008 ทำให้ operating margin ของธุรกิจโดยเฉลี่ยสูงถึง 27%  กระทั่ง ในปี 2009 เมื่อเรือออกมาสู่ตลาดจำนวนมาก ประจวบเหมาะกับเศรษฐกิจโลกตกต่ำจากวิกฤติซับไพร์มในสหรัฐฯ ต่อเนื่องมาจนถึงวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป การนำเข้าส่งออกจึงหดตัวอย่างรุนแรง ทำให้ operating margin ของธุรกิจเฉลี่ยตกลงเหลือ 6.6% ในปี 2012

ปริมาณเรือที่มีมาก แต่ความต้องการขนส่งสินค้ามีน้อย กดดันอัตราค่าขนส่งทางทะเลให้อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลต่ออัตราค่าขนส่งปรับลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น Baltic Dry Index (BDI) ที่สะท้อนถึงอัตราค่าระวางของเรือเทกอง ตกต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ โดยในปี 2012 BDI มีค่าเฉลี่ยเพียง 995 จากที่เคยขึ้นไปสูงสุดถึง 7,070 โดยเฉลี่ยในปี 2007 กระทบต่อรายได้ของผู้ให้บริการขนส่งทางเรืออย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจขนส่งทางทะเลเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว จากปัจจัยด้านอุปสงค์ที่มีความต้องการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นในจีน และสหรัฐฯ IMF คาดการณ์การเติบโตของปริมาณการค้าโลก ปี 2013 และ 2014 อยู่ที่ระดับ 3.8% และ 5.5% ตามลำดับ สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศมหาอำนาจทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น ส่งผลให้ภาคการผลิตและภาคการค้ามีแนวโน้มกลับมาสดใสอีกครั้ง เป็นปัจจัยเชิงบวกต่อธุรกิจนี้ เนื่องจากสินค้ากว่า 90% ของปริมาณการค้าโลกถูกขนส่งทางทะเล

ปัจจัยด้านอุปทานยังเป็นความท้าทายของธุรกิจในปีนี้ คือ ปัญหากำลังบรรทุกส่วนเกินจากปริมาณกองเรือที่ยังมีจำนวนมาก แม้ว่าจะมีเรือเก่าที่ถูกปลดระวางไป บางส่วนนำไปขายเป็นเศษเหล็กเพราะได้ราคาดี แต่จำนวนเรือส่งมอบในปีนี้ยังอยู่ในระดับสูง ในขณะที่ความต้องการขนส่งขยายตัวในอัตราที่ช้ากว่า ส่งผลให้ธุรกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในปี 2014 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่ต้องติดตามคือ หากมีการเลื่อนการส่งมอบเรือออกไปเป็นปี 2014 จะทำให้ปี 2014 มีอุปทานมากกว่าที่คาด ดังนั้น การฟื้นตัวจึงขึ้นกับความสามารถของธุรกิจในการดูดซับกำลังบรรทุกส่วนเกิน ควบคุมปริมาณกองเรือให้สมดุลกับอุปสงค์ รวมทั้งต้องอาศัยความต้องการขนส่งสินค้าที่มีมากเพียงพอ ภายใต้ความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอีกด้วย

ไทยพาณิชย์แนะคว้าโอกาสธุรกิจชิปปิ้ง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า ช่วงเวลานี้สามารถเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ผู้ให้บริการขนส่งทางทะเลอาจซื้อเรือ และ ตู้ container ในช่วงนี้เพราะมีราคาถูก และมองหาโอกาสเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการเพื่อให้เกิด economies of scale จากภาวะซบเซาของการขนส่งทางทะเล ขณะเดียวกัน เป็นช่วงที่ดีของผู้รับจัดการขนส่ง Freight forwarder ผู้นำเข้าส่งออก ในการทำสัญญาระยะยาวสำหรับการขนส่งสินค้าทางเรือ เพื่อล็อกอัตราค่าขนส่งที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะในการคว้าโอกาสทอง โดยเห็นว่า การซื้อเรือราคาถูกในช่วงตกต่ำของธุรกิจ อาจมีต้นทุนทางการเงินค่อนข้างสูง ผู้ประกอบการควรพิจารณาวิธีการระดมทุนจากทางเลือกต่างๆ  ส่วนผู้ประกอบการควรรวมกลุ่มสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อรองรับความต้องการขนส่งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ให้บริการขนส่งอย่างบริษัทสายเรือในแต่ละบริษัทมีความได้เปรียบในเส้นทางการขนส่งที่แตกต่างกัน ส่วนผู้ส่งสินค้า อย่าง Freight forwarder หรือผู้นำเข้าส่งออก ก็ควรรวมตัวเช่นกัน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้สูงขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการขนส่งลองมองหาลู่ทางให้บริการในเส้นทางเดินเรืออื่นๆ ที่ยังไม่ค่อยมีใครทำ แต่มีศักยภาพการเติบโตในอนาคต เช่น เส้นทาง จีน-บราซิล หรือเส้นทาง จีน-แอฟริกา ซึ่งมีแนวโน้มที่จีนจะนำเข้าแร่ธาตุ ทรัพยากร และส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไปภูมิภาคนี้สูงขึ้น ทั้งนี้  Pascal Lamy ผู้อำนวยการ WTO ระบุว่า แอฟริกาจะกลายเป็นกลุ่มประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของจีนในอีก 3-5 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งภายในปี 2015 มูลค่าการค้าของจีน-แอฟริกาจะเพิ่มมากกว่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มเป็น 2 เท่าของมูลค่าการค้าในปี 2011 และในอนาคตเส้นทางการค้าหลักของโลกจะเริ่มต้นจากจีนเป็นส่วนใหญ่ ผู้ประกอบการไทยจึงควรหาลู่ทางทำการค้าและการให้บริการเชื่อมโยงกับจีน