posttoday

สศช.ยันลงทุน2ล้านล้านช่วยยกระดับประเทศ

14 มีนาคม 2556

"สศช."แจงกรรมาธิการ ยืนยัน แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านยกระดับบทบาทประเทศรับอาเซียน "กรณ์"ติงควรใช้กระบวนการงบประมาณ

"สศช."แจงกรรมาธิการ ยืนยัน แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านยกระดับบทบาทประเทศรับอาเซียน "กรณ์"ติงควรใช้กระบวนการงบประมาณ

คณะกรรมมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายไชยา พรหมา สส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ประธาน ได้มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อลงทุนโครงการก่อสร้างพื้นฐาน ด้านการขนส่งของประเทศ โดยเชิญ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง แต่ได้ส่งนายทวี ไอศูรย์พิศาลศิริ รองผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เข้าชี้แจงแทน

ขณะที่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม ส่งนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักแผนงาน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มาชี้แจงแทน และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เข้าชี้แจงเรื่องดังกล่าว

นายอาคม กล่าวว่า แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และการเชื่อมโยงการคมนาคมมีความสำคัญต่อการเชื่อมโยงประเทศกับอาเซียน

ทั้งนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ผ่านมา วิธีการจัดหาแหล่งเงินทุนมีที่มา 2 แหล่งคือ 1.งบประมาณประจำปี 2.เงินกู้ภายในประเทศหรือต่างประเทศ แต่ทางปฏิบัติการพึ่งพางบประมาณประจำปีถือว่ามีข้อจำกัด เพราะรัฐบาลมีค่าใช้จ่ายทางสังคมมาก ทำให้เงินจัดสรรให้กับโครงการใหม่ได้น้อย แต่การพึ่งพาเงินกู้ก็มีข้อจำกัดเรื่องเพดานเงินกู้ เช่นกัน

อย่างไรก็ดี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยใช้เงินกู้จะสร้างความต่อเนื่องเพราะถูกบรรจุเป็นกฎหมาย ต่างจากงบประมาณประจำปีเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็จะไม่มีความต่อเนื่อง ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าการออกเป็นพ.ร.บ. จะทำให้ยากต่อการตรวจสอบ ขอยืนยันว่าขั้นตอนและวิธีการต่างๆต้องเสนอตามปกติ โดยต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี(ครม.) และเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ตามขั้นตอนตามกฎหมายทุกประการ

“การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการคมนาคมของประเทศมีความต้องการงบประมาณงบจริงอยู่ที่ 4 ล้านล้านบาท แต่งบประมาณ 2 ล้านล้านบาทนี้ เป็นโครงการที่ได้รับการจัดลำดับความสำคัญในการเชื่อมต่อกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ส่วนจะลงทุนงบประมาณอีก 2 ล้านล้านบาทที่เหลือเมื่อใดนั้นยังไม่สามารถตอบได้ ส่วนเรื่องการเชื่อมโยงระบบรางกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น เป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคมต้องไปจัดการต่อ”นายอาคม กล่าว

ขณะที่ นายไชยา ได้ถามถึงความคุ้มทุนการสร้างรถไฟความเร็วสูงไปยังกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะซ้ำซ้อนกับการเกิดขึ้นของสายการบินแบบประหยัด (โลว์คอสต์ แอร์ไลน์) หรือไม่ เพราะเกรงว่าคนจะไปใช้บริการเครื่องบินมากกว่าส่งผลให้การสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้นไม่คุ้มทุน ก่อให้เกิดการขาดทุนซ้ำซากเหมือนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

นายอาคม ชี้แจงว่า หากสนับสนุนสายการบินชั้นประหยัดเพียงอย่างเดียว ทำให้ความเจริญของเมืองกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯและเชียงใหม่เท่านั้น แต่หากสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง จะช่วยกระจายความเจริญไปยังจังหวัดที่มีสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงรองรับ เช่น นครสวรรค์ พิษณุโลก

นอกจากนี้ ที่ประชุมกมธ.ส่วนใหญ่ได้แสดงความเห็นว่าไม่ควรบรรจุการซ่อมบำรุงทางหลวงและทางหลวงชนบทไว้ในแผนพ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากอยู่ในงบประมาณปกติได้ อีกทั้ง งบประมาณที่จะก่อสร้างถนนบางเส้นทางเป็นเพียงงบประมาณเพื่อการเวนคืน ไม่ใช่งบประมาณเพื่อการก่อสร้างถนน

ทั้งนี้ กมธ.ยังได้ขอความชัดเจนรวมถึงความเป็นไปได้เรื่องการสร้างท่าเรือปากบารา จ.สตูล  เนื่องจากปัจจุบันเกิดปัญหากับมวลชนไม่เห็นด้วย หากโครงการที่บรรจุอยู่ในพ.ร.บ.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ยังไม่ได้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก็จะสำเร็จได้ยาก และควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์ในสื่อกระแสหลักรวมถึงเนื้อหาให้ชัดเจน

ด้าน นายกรณ์  จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง ในฐานะกมธ. กล่าวว่า การเชิญปลัดกระทรวงคมนาคมและปลัดกระทรวงการคลังมาร่วมชี้แจงแต่ไม่มา แสดงถึงความไม่ใส่ใจ ดังนั้น ขอให้ประธานกมธ. ส่งสารไปยังปลัดทั้งสองกระทรวงเพื่อชี้แจงด้วย

ส่วนการที่เลขาธิการสศช.ชี้แจงสาเหตุการบรรจุโครงการให้เป็น พ.ร.บ. เพื่อสร้างความต่อเนื่องเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้น มีความเห็นว่าแม้จะโครงการจะเป็นกฎหมาย แต่หากไม่เห็นด้วยก็เปลี่ยนแปลงได้

"จะมีกฎหมายหรือไม่มีกฎหมาย ก็ไม่ได้ปกป้องความเสี่ยงที่จะไม่ดำเนินโครงการนั้นได้ ถ้าเราไม่เห็นด้วย ก็มีสิทธิ์แก้กฎหมาย และที่ชี้แจงว่างบประมาณประจำปีไม่เพียงพอต่อการลงทุนนั้น ต้องถามว่าทำไมรัฐบาล ถึงไม่จัดสรรงบประมาณเพื่อการลงทุน เพราะงบในปี 2557 รัฐบาลก็ได้ออกกรอบการขาดดุลงบอยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท เหตุใดจึงไม่ทำให้ขาดดุลที่ 6 แสนล้านบาท หากสำนักงบประมาณอยู่ที่นี่ คงสามารถชี้แจงว่าใช้งบประมาณประจำปีก็ได้"นายกรณ์กล่าว