posttoday

ธพว.หั่นหนี้เสียเหลือ3หมื่นล.

04 มีนาคม 2556

บอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ร่อนตะแกรงใหม่ หั่นหนี้เสียลดฮวบเหลือแค่ 3 หมื่นล้าน

บอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ร่อนตะแกรงใหม่ หั่นหนี้เสียลดฮวบเหลือแค่ 3 หมื่นล้าน

นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ได้ทบทวนการจัดชั้นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลใหม่ พบว่าหนี้เสียที่เกิดขึ้นกว่า 3.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของยอดสินเชื่อทั้งหมดนั้น ในจำนวนนี้แยกเป็นหนี้จัดชั้นคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ราว 9,000 ล้านบาท

“หนี้จัดชั้นก้อนนี้ บอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ได้ตั้งกลุ่มงานพิเศษ หรือศูนย์ติดตามลูกหนี้ตกชั้นขึ้นเพื่อติดตามแก้ปัญหาลูกหนี้กลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ตกชั้นมาเป็นหนี้เสีย” นายนริศ กล่าว

ทั้งนี้ การแยกหนี้จัดชั้นดังกล่าวออกมา ทำให้ธนาคารมีหนี้เสียตามเกณฑ์มาตรฐานไอเอเอส 39 (IAS 39) ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับที่ธนาคารพาณิชย์ใช้อยู่ คงเหลืออยู่ 3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 30% ของยอดสินเชื่อรวม โดยธนาคารได้แบ่งลูกหนี้กลุ่มนี้เป็นลูกหนี้รายย่อยกับลูกหนี้รายกลาง เพื่อเข้าแก้ปัญหาใน 3 ระดับ เริ่มจากการเรียกลูกหนี้มาปรับโครงสร้างหนี้ โดยจะช่วยลูกค้าแบบที่ไม่เน้นหากำไรจากเบี้ยปรับ ถ้าวิธีการแรกไม่สำเร็จ จะใช้วิธีการตีทรัพย์ชำระหนี้ และแนวทางสุดท้าย คือ การฟ้องร้องบังคับคดี สำหรับลูกหนี้ที่ไม่ยอมเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้

“ก่อนหน้านี้มีการใช้เกณฑ์คุณภาพสินเชื่อมาจับ ทำให้มีการดึงลูกหนี้กลุ่มที่เฝ้าจับตา เช่น กลุ่มที่เคยเป็นเอ็นพีแอลมาก่อน และต่อมาได้ปรับโครงสร้างหนี้เป็นหนี้ปกติ กลุ่มนี้มีจำนวน 9,000 ล้านบาท เข้ามารวมกับหนี้เอ็นพีแอลด้วย จึงทำให้ภาพรวมหนี้เสียของแบงก์สูง ธนาคารจึงตั้งทีมพิเศษคอยดูแลลูกหนี้กลุ่มนี้ไม่ให้ตกชั้นกลายเป็นเอ็นพีแอลอีก และจะทำให้หนี้เสียธนาคารลดลงเหลือ 3 หมื่นล้านบาท” นายนริศ กล่าว

นายนริศ กล่าวว่า นอกจากนี้หนี้เสียกว่า 3 หมื่นล้านบาท พบว่ามีหนี้ที่เกิดจากโครงการของรัฐบาลที่ถูกแยกไว้เป็นบัญชีพิเศษได้อีก 7,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้เสียแล้วกว่า 2,000 ล้านบาท ล่าสุดอยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เรื่องขอเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นคืนจากรัฐบาลตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมามีลูกค้าทยอยเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้แล้วกว่า 3,000-4,000 ล้านบาท และหากธนาคารสามารถเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้นได้ตามแนวทางดังกล่าว ทั้งเรื่องการแก้หนี้เสีย การขอเงินชดเชยจากบัญชีพิเศษจากรัฐบาล และการขอเงินเพิ่มทุน 3,000-6,000 ล้านบาท เชื่อว่าจะแก้ปัญหาเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือบีไอเอส ของเอสเอ็มอีแบงก์ที่ติดลบ 0.95% ให้กลับมามีสถานะที่ดีขึ้นได้