posttoday

ยอดปิดกิจการสูงสุดในรอบ 9 ปี

26 กุมภาพันธ์ 2556

สศช.เผยยอดจดทะเบียนเลิกกิจการไตรมาส 4 ปี 55 สูงสุดในช่วงเดียวกันรอบ 9 ปี และสูงกว่าช่วงน้ำท่วม แต่ไม่ฟันธงมาจากค่าแรงขั้นต่ำ

สศช.เผยยอดจดทะเบียนเลิกกิจการไตรมาส 4 ปี 55 สูงสุดในช่วงเดียวกันรอบ 9 ปี และสูงกว่าช่วงน้ำท่วม แต่ไม่ฟันธงมาจากค่าแรงขั้นต่ำ

นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2555 โดยระบุว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทในเดือน ม.ค. พบว่า ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการโดยรวมเพิ่มขึ้น 6.4%

อย่างไรก็ตาม ในส่วนสถานประกอบการขนาดเล็กมาก ที่มีคนงาน 0-9 คน มีจำนวนแรงงานในระบบ 5.12 ล้านคน มีต้นทุนจากค่าจ้างเพิ่มขึ้น  17.81% ขณะที่สถานประกอบการขนาดเล็ก มีคนงาน 10-49 มีการจ้างงาน 2.98 ล้านคน มีต้นทุนประกอบการเพิ่มขึ้น 5.57% ส่งผลให้สถานประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอี หรือ สถานประกอบการที่จ้างงาน 1-199 คน มีจำนวนแรงงาน 9.99 ล้านคน มีต้นทุนเพิ่ม 8.95%

ขณะที่ จากข้อมูลสถิติการเลิกกิจการในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 มีนิติบุคคลจดทะเบียนเลิกกิจการ 7,221 ราย เพิ่มขึ้น 26.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และคิดเป็น 0.46 เท่า ของกิจการจดทะเบียนตั้งใหม่ นับเป็นจำนวนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับการจดทะเบียนเลิกกิจการที่ในช่วงไตรมาส 4 ในระยะ 9 ปีที่ผ่านมา จะอยู่ที่ประมาณ 2,500-3,000 ราย และการเลิกจ้างดังกล่าว ยังสูงกว่าตัวเลขการเลิกกิจการในช่วงของน้ำท่วม ที่มีการปิดกิจการ 5,703 ราย

"ขณะนี้ยังบอกไม่ได้ทั้งหมดว่า ผลกระทบการเลิกจ้างมาจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทเพียงอย่างเดียว แต่ยอดการปิดกิจการที่เพิ่มขึ้น แม้ขณะนี้ยังไม่ทำให้อัตราการว่างงานโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่ในระยะต่อไปจะมีผลกระทบต่อแรงงานจำนวนหนึ่งที่รับผลกระทบจากการปิดกิจการดังกล่าว โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ" นางสุวรรณี กล่าว

นางสุวรรณี กล่าวว่า ในส่วนของหนี้สินครัวเรือนไตรมาส 4 ปี 2555 พบว่า ยอดคงค้างสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 21.6% คิดเป็นมูลค่า2.91 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะ สินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น 33.9% ตามยอดการเพิ่มขึ้นของยอดขายรถยนต์ในไตรมาสที่ 4 ที่มียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้น 312.9% และสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ เพิ่มขึ้น 29.4% โดยเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันรวมทั้งลิสซิ่ง มียอดคงค้างรวม 2.51 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% และสินเชื่อบัตรเครดิตมียอดคงค้าง 2.61 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.3%

นางสุวรรณี ยังระบุว่า การผิดนัดชำระหนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน โดยในไตรมาส 4 ปี 2555 มูลค่สินเชื่อภายใต้การกำกับที่ผิดนัดชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไป เพิ่มขึ้น 28.1% นอกจากนั้น หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 20.5% มูลค่า 5.65 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 23.3% ของเอ็นพีแอลรวม ซึ่งทำให้จะต้องระวังและติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อย