posttoday

ธปท.เผยปี55สถาบันการเงินฐานะแกร่ง

07 กุมภาพันธ์ 2556

ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2555 สินเชื่อเร่งตัวเกือบทุกประเภท อานิสงส์ฟื้นฟูน้ำท่วมและรถคันแรก ทำให้สภาพคล่องตึงตัว

ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2555 สินเชื่อเร่งตัวเกือบทุกประเภท อานิสงส์ฟื้นฟูน้ำท่วมและรถคันแรก ทำให้สภาพคล่องตึงตัว

นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2555 ว่า เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวตามแรงส่งจากอุปสงค์ภายในประเทศหลังภาวะน้ำท่วมและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัว 13.7% แบ่งเป็น สินเชื่อธุรกิจขยายตัว 10.6% ชะลอลงจากปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกอ่อนแอกระทบภาคส่งออกประกอบกับบริษัทขนาดใหญ่หันไประดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้

ส่วนสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ขยายตัวได้ดีที่ 14.1% สินเชื่ออุปโภคบริโภค ขยายตัว 21.6% เร่งตัวขึ้นในสินเชื่อทุกประเภท โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์จากมาตรการรถยนต์คันแรก และสินเชื่อส่วนบุคคลจากความต้องการใช้่ายหลังน้ำท่วมและธนาคารพาณิชย์หันมาให้สินเชื่อประเภทนี้มากขึ้น เนื่องจากได้รับผลตอบแทนค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ดี สินเชื่อที่ขยายตัวต่อเนื่องทำให้สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์โดยรวมตึงตัวขึ้น โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากบี/อี และเงินกู้ยืมเพิ่มขึ้นเป็น 87.9% คุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ดีตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได (เอ็นพีแอล) มียอดคงค้าง 2.54 แสนล้านบาท ลดลงจากปี 2554 จำนวน 1.19 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนเอ็นพีแอลรวมและเอ็นพีแอลสุทธิ ต่อสินเชื่อรวม ลดลงเหลือ 2.3% และ 1.1% ตามลำดับ อย่างไรก็ดีสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Delinquent Loan) เพิ่มขึ้น 2.32 หมื่นล้านบาท มาอยู่ที่ 2.43 แสนล้านบาท ทำให้ธนาคารพาณิชย์กันเงินสำรองเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 157.2%

ในปี 2555 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 1.73 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 21.2% โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นมาจากทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียม เช่น ค่านายหน้าธุรกิจประกันภัยและค่าบริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 23% ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 1.2% และอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 9.5% ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (นิม) ทรงตัวที่ 2.5%

อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Tier-1 ratio) อยู่ที่ 16.3% และ 11.8% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนตามเกณฑ์ Basel III ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2556 มาก