posttoday

บสย.ลุยค้ำประกันเงินกู้เอสเอ็มอี

06 กุมภาพันธ์ 2556

บสย.จับมือสถาบันการเงิน 18 แห่ง ทุ่มค้ำประกันเงินกู้ 2.4 แสนล้านบาท คาดอุ้มผู้ประกอบการได้ 8 หมื่นราย

บสย.จับมือสถาบันการเงิน 18 แห่ง ทุ่มค้ำประกันเงินกู้ 2.4 แสนล้านบาท คาดอุ้มผู้ประกอบการได้  8 หมื่นราย

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง เปิดเผยว่า บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ลงนามร่วมกับ 18 สถาบันการเงินภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ความช่วยเหลือค้ำประกันเงินกู้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยโครงการค้ำประกันเงินกู้ของ บสย.มี 2 ประเภท ประกอบด้วย โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 5 ( PGS 5) วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท และโครงการค้ำประกันเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ ( Start - up ) วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าปี 2556 จะสามารถค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้ 2.5 หมื่นราย รวม 3 ปี จะช่วยผู้ประกอบการได้ 8 หมื่นราย หรือคิดเป็นสินเชื่อเฉลี่ยต่อรายที่ 3 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ ระยะที่ 5 ถือเป็นโครงการต่อเนื่อง โดยค้ำประกันภายใน 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2556 -2558 มีอายุค้ำประกันไม่เกิน 7 ปี คิดค่าธรรมเนียมปีละ 1.75% ของวงเงินค้ำประกัน และวงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท รูปแบบการค้ำประกันมี 3 ลักษณะคือ แบบปกติ แบบไม่มีหลักประกัน และแบบ NPL

สำหรับโครงการค้ำประกันเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีอายุการก่อตั้งกิจการไม่เกิน 3 ปี  วงเงินค่ำประกันสูงสุดต่อราย 2 ล้านราย มีอายุค้ำประกันไม่เกิน 7 ปี คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันปีละ 2.50% ฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก สิ้นสุดโครงการวันที่ 31 ธ.ค.2558

“การค้ำประกันในโครงการนี้ ถือเป็นการค้ำประกันสูงสุดในรอบ 21 ปี ที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ บสย.ดำเนินการ โดยดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเสริมสภาพคล่องให้กับ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท และช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการชำระหนี้แต่ขาดหลักประกันให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงสินเชื่อดังกล่าวได้ ผ่านตัวแทนค้ำประกัน 18 สถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบี, ธนาคารเกียรตินาคิน, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.)หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ , ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน เป็นต้น

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังเตรียมเปิดตัวโครงการเอสเอ็มอีลุยตลาดเออีซี ในวันที่ 18 มี.ค.นี้ ซึ่งเป็นมาตรการที่เกี่ยวกับการเงินร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐที่จะเข้าไปดูแลปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีและโอท็อป ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาท โดยได้สั่งการให้สถาบันการเงินออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับกลุ่ม ผู้ประกอบการเหล่านี้มากที่สุด