posttoday

ลิสซิ่งห่วงแนวโน้มหนี้เสียเพิ่มขึ้น

04 กุมภาพันธ์ 2556

ธุรกิจเช่าซื้อห่วงตัวเลขหนี้เสียพุ่ง หลังสิ้นปี2555 พบลูกค้าสินเชื่อรถยนต์เริ่มเป็นเอ็นพีแอล 3.8 แสนคัน

ธุรกิจเช่าซื้อห่วงตัวเลขหนี้เสียพุ่ง หลังสิ้นปี2555 พบลูกค้าสินเชื่อรถยนต์เริ่มเป็นเอ็นพีแอล 3.8 แสนคัน

นายอิสระ วงศ์รุ่ง ประธานกรรมการบริหาร ลีสซิ่งกสิกรไทย ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย จากตัวเลขที่เครดิตบูโรเปิดเผยว่า ณ สิ้นปีที่ผ่านมาลูกหนี้ลิสซิ่งเริ่มเป็นเอ็นพีแอลประมาณ 3.8 แสนคัน ถือว่าน่าตกใจมาก เพราะจากข้อมูลของสมาคมเช่าซื้อไทย ณ สิ้นปี 2554 มีหนี้เอ็นพีแอลประมาณ 1.15% สิ้นปี 2555 เพิ่มเป็น 1.3% ถ้าเป็นเช่นนั้น แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มเอ็นพีแอลสินเชื่อรถยนต์ อาจเพิ่มมากขึ้น เพราะยังไม่นับรวมกับโครงการรถยนต์คันแรกที่มีขึ้นในปลายปีที่ผ่านมา และเริ่มมีการส่งมอบครบในปีนี้

"ที่ผ่านมาเรายังไม่เห็นสัญญาณหนี้เสียรถคันแรกในอัตราที่สูง แต่ภาพจะเห็นชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้น้อย ที่เข้าร่วมโครงการรถคันแรก ผ่านโปรโมชั่น ดาวน์น้อย ผ่อนนาน ซึ่งตามหลักการปล่อยกู้รถยนต์แล้ว ลูกค้ากลุ่มนี้ มีความเสี่ยง สูงมากในการเป็นเอ็นพีแอล เพราะคนที่มีรายได้สูงกว่า 1.5 หมื่นบาท มีโอกาสเป็นเอ็นพีแอแอล ต่ำกว่า"นายอิสระกล่าว

นายอิสระกล่าวว่าสำหรับแนวโน้มตลาดสินเชื่อรถยนต์ในปี2556จากการคาดการณ์ยอดขายรถยนต์ในปีนี้คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านคันเป็นแรงส่งต่อเนื่องมาจากปีก่อนที่ยังส่งมอบรถไม่ครบจะมีผลทำให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปี 2556 มียอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นเป็น 1-1.13 ล้านล้านบาท จากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 8.3-8.5 แสนล้านบาท หรือเติบโต 27-33% สูงสุดเป็นประวัติการณ์

จากข้อมูลโครงการรถคันแรกมีคนเข้าร่วมโครงการประมาณ 1.2 ล้านคัน แบ่งเป็น รถกระบะ รถเก๋ง ประมาณ 70% ที่เหลือเป็น อีโคคาร์ประมาณ 30% ซึ่งในส่วนของอีโคคาร์ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท และใช้โปรโมชั่นดาวน์น้อย ผ่อนนาน ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง และมีโอกาสเป็น เอ็นพีแอลสูง

ก่อนหน้านี้นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กรณีที่หลายฝ่ายมีความเป็นห่วงเรื่องหนี้สินภาคครัวเรือนพร้อมกับเสนอให้มีการนำมาตรการด้านการควบคุมดูแลผ่านระบบสถาบันการเงิน (Macro prudential) มาใช้ในการดูแลหนี้ภาคครัวเรือนนั้น เรื่องนี้ ธปท. มีการ เตรียมความพร้อมอยู่ โดยมาตรการนี้เป็นเครื่องมือในส่วนของคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน ซึ่งปีที่ผ่านมาธปท. จัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างกนส. กับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ตรงกัน ส่วนจะนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้เมื่อไหร่และอย่างไรนั้น จะต้องมีหลักในการพิจารณา เป็นเรื่องที่ทางเจ้าหน้าที่ติดตามดูอยู่

นายประสารกล่าวยอมรับว่า โจทย์ท้าทายของการดำเนินนโยบายการเงินในปีนี้อยู่ที่สร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ กับการรักษาเสถียรภาพการเงิน ซึ่งจะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมาสินเชื่อมีการขยายตัวค่อนข้างมาก ระดับหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ในขณะที่ผู้ออมหรือผู้กู้เงิน เริ่มนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น โจทย์การดำเนินนโยบายในปีนี้ จึงเป็นการดูแลความสมดุลในทั้ง 2 ด้าน ส่วนเรื่องเงินเฟ้อนั้นมองว่าปีนี้น่าจะอยู่ในระดับที่ดูแลได้

"ปีนี้เสถียรภาพการเงินเริ่มกลับมาเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะการขยายตัวของสินเชื่อที่ค่อนข้างมาก พวกนี้จึงเป็นโจทย์ที่เราตั้งขึ้นในปี 2556 ที่จะต้องดูระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจ กับเสถียรภาพด้านการเงิน รวมไปถึงเงินทุนที่ไหลเข้า"นายประสารกล่าว

รายงานข่าวจากธปท. เปิดเผยว่า ยอดคงค้างของสินเชื่ออุปโภคบริโภค หรือสินเชื่อครัวเรือน ณ สิ้นเดือนก.ย.2555 มียอดรวมทั้งสิ้น 2.74 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 18.52% ในจำนวนนี้สินเชื่อรถยนต์มียอดคงค้างเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยอยู่ที่ 7.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 30.11%  ในจำนวนสินเชื่อรวมทั้งหมดของธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น พบว่าเป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมากที่สุด คิดเป็น 22.74%