posttoday

ไทยพาณิชย์กำไรปี55กว่า4หมื่นล้านบาท

21 มกราคม 2556

ธนาคารไทยพาณิชย์เผยปี 2555 มีกำไรสุทธิ 40,200 ล้านบาท ได้อานิสงส์สินเชื่อโตเกือบ 20%

ธนาคารไทยพาณิชย์เผยปี 2555 มีกำไรสุทธิ 40,200 ล้านบาท ได้อานิสงส์สินเชื่อโตเกือบ 20%

ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศผลประกอบการ ปี 2555 (งบการเงินรวมก่อนสอบทาน) มีกำไรสุทธิ 40,200  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.9%  จากปี 2554  ปัจจัยหลักขับเคลื่อนกำไรสุทธิที่ดีนี้มาจากการขยายตัวอย่างมากของสินเชื่อซึ่งเติบโตจากปีที่แล้วถึง 19.7% ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ รายได้จากเบี้ยประกันชีวิต และรายได้จากการบริหารการเงินมีการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน  ด้านคุณภาพของสินทรัพย์แม้ว่าปรับตัวดีขึ้นมาก แต่ด้วยการดำเนินการด้วยความระมัดระวังธนาคารได้ตั้งสำรองเพิ่มเติมอีก 4,000 ล้านบาท เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจในอนาคต

สำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ  เพิ่มขึ้น 22.9% จากปี 2554   ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นถึง 19.7% จากปีก่อน  แม้ว่าต้นทุนจากการระดมเงินฝากจะเพิ่มขึ้นตามสภาวะการแข่งขันของตลาด ธนาคารสามารถรักษาระดับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 3.18% ผ่านการผสมผสานผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า สินเชื่อรถยนต์ยังขยายตัวอย่างมากถึง  45.9%  สินเชื่อเคหะเพิ่มขึ้น 21.3% และธุรกิจ SME  เติบโตถึง  25.5%  ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าตลาดรวม

ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย  เพิ่มขึ้น 15.3% จากปี 2554   มาจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของรายได้สุทธิจากค่าธรรมเนียม  เบี้ยประกันชีวิต   และรายได้จากการบริหารการเงิน   ทั้งนี้  รายได้ที่เพิ่มขึ้นในระดับสูงของเบี้ยประกันชีวิต  ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ทั้งนี้ ในปี 2555  ธนาคารได้ตั้งสำรองเพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติอีกรวม  4 พันล้านบาท  เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจในอนาคต   ในขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับ 2.61%  ณ สิ้นปี 2554  มาอยู่ที่ระดับ 2.13%  ณ สิ้นปี 2555  ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดหลังวิกฤตเศรษฐกิจ  สำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นจาก 127.1%  ณ สิ้นปี 2554  เป็น  144.8%  ณ  สิ้นปี 2555

นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์  กล่าวว่า ผลประกอบการของธนาคารสะท้อนถึงศักยภาพในการทำธุรกิจอย่างครบวงจรของกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ สำหรับการก้าวต่อไปในอนาคตนั้น  ธนาคารได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เตรียมพร้อมเพื่อรองรับความท้าทายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง การแข่งขันที่สูงภายในประเทศ  และการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)