posttoday

เช่าซื้อรถทะลุ1ล้านล้าน"จับตาหนี้เสียทะยาน"

17 มกราคม 2556

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยยอดเช่าซื้อรถยนต์ปี56ทะลุ1ล้านล้านบาท จับตาหนี้เสียเพิ่มช่วงครึ่งปีหลัง

โดย...ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

นโยบายคืนภาษีรถคันแรก ความต้องการซื้อรถที่คงค้างมาจากช่วงเหตุน้ำท่วมใหญ่ การออกรถรุ่นใหม่จากหลากหลายค่ายรถยนต์ ต่างมีผลให้ยอดขายรถยนต์ใหม่ปี 2555 สูงถึง 1.44 ล้านคัน เฉพาะนโยบายคืนภาษีรถคันแรกมีจำนวนรถที่ขอรับสิทธิคืนภาษีสูงถึง 1.26 ล้านคัน จากเป้าหมายที่วางไว้เพียง 5 แสนคัน

ภาพดังกล่าวช่วยหนุนให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ในปี 2555 เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 35-39% หรือประมาณ 8.3-8.5 แสนล้านบาท ถือว่าขยายตัวที่สูงสุดนับจากปี 2551

ในอีกด้านหนึ่ง การเติบโตของสินเชื่อในอัตราเร่งตัว ได้ก่อให้เกิดประเด็นคำถามต่อคุณภาพหนี้ของยอดสินเชื่อในภาพรวมของปีนี้

ตลอดจนเพิ่มแรงกดดันให้กับผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อในการประคองการเติบโตของธุรกิจให้อยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้ ภายใต้แรงส่งจากนโยบายที่ค่อยๆ ลดลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์ว่า จะมีแรงหนุนที่สำคัญมาจากยอดขายรถใหม่ที่คาดว่าจะมีจำนวน 1.34-1.41 ล้านคัน ซึ่งคงจะส่งผลให้ยอดสินเชื่อเช่าซื้อที่ปล่อยใหม่ในปีนี้ของระบบธนาคารพาณิชย์ ยังเหนือกว่ายอดการผ่อนชำระของพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อเดิมในช่วงเวลาเดียวกันประมาณ 2 เท่าตัว

ถึงแม้ว่าหากพิจารณาเฉพาะอัตราการเปลี่ยนแปลงของยอดรถใหม่ในปี 2556 เพียงลำพังแล้ว จะสะท้อนภาพการหดตัวลง เนื่องจากแรงส่งจากนโยบายรถคันแรกที่ค่อยเบาบางลงเมื่อเข้าสู่ช่วงกลางปี 2556 ก็ตาม

สาเหตุเพราะความต้องการซื้อรถที่เพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ปี 2555 ทำให้สถานการณ์ตลาดเอียงกลับมาเป็นของฝ่ายผู้ผลิตมากขึ้น ดีลเลอร์/ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์จึงสามารถกำหนดเงื่อนไขการขายรถ โดยเฉพาะรุ่นที่อยู่ในความต้องการของตลาด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ในโครงการรถคันแรก ในลักษณะที่ให้ผู้ซื้อต้องซื้อในระบบเงินผ่อนเท่านั้น เพื่อให้ดีลเลอร์รวมถึงพนักงานขายมีรายได้พิเศษจากค่าคอมมิชชันในการส่งลูกค้าให้กับสถาบันการเงินผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ

ทิศทางดังกล่าวยังคงดำรงอยู่อย่างน้อยถึงครึ่งแรกปี 2556 โดยเฉพาะกับรถในโครงการรถคันแรกที่มีการทำสัญญาจองในปี 2555 ซึ่งยังคงเป็นผลบวกส่งต่อไปถึงธุรกิจเช่าซื้อในปี 2556 ด้วย

นอกจากนั้น เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด คาดว่าผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อส่วนใหญ่ จะยังให้น้ำหนักกับกลยุทธ์การวางเงินดาวน์ในระดับต่ำประมาณ 10-15% ของมูลค่ารถ จากเกณฑ์ทั่วไปที่อยู่ในระดับ 20%

ด้วยยอดคงค้างที่รอการส่งมอบไม่ต่ำกว่า 4 แสนคันในปี 2556 ทำให้เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเพิ่มยอดสินเชื่อให้สูงขึ้นได้ ซึ่งการปรับกลยุทธ์ในลักษณะดังกล่าว ก็เพื่อรับมือกับภาพรวมตลาดรถยนต์ใหม่ที่จะชะลอลงเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2556 หลังรถส่วนใหญ่ที่ค้างจองในโครงการรถคันแรกถูกทยอยส่งมอบไป

นอกจากการจัดรายการส่งเสริมการขายของค่ายรถยนต์ต่างๆ แล้ว คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ผู้ประกอบการให้เช่าซื้อจะให้ความร่วมมือในการออกแคมเปญทางการตลาดมากขึ้น ทั้งที่ร่วมกับบริษัทรถยนต์และด้วยการรณรงค์เพิ่มส่วนแบ่งตลาดของตัวเอง

นอกจากนี้ ยังเป็นจังหวะที่ผู้ประกอบการให้เช่าซื้อ จะหันกลับมาให้ความสำคัญกับตลาดอื่นเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อรถใช้แล้ว สินเชื่อรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะในกลุ่มบิ๊กไบค์ ที่มีราคาต่อคันเทียบเท่ารถยนต์ขนาดเล็กถึงกลาง และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ หลังจากที่สินเชื่ออื่นๆ เหล่านี้ถูกลดบทบาทยอดสินเชื่อรวมลงในปีที่ผ่านมา

ปัจจัยที่มีอิทธิพลหลัก คือ ทิศทางการกำหนดนโยบายการเงินของ ธปท. ที่คงจะให้น้ำหนักกับความเสี่ยงเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจมากกว่า ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อคงอยู่ในกรอบจำกัดและไม่เกินเป้าหมายที่ ธปท.วางไว้

นอกจากนี้ การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงระหว่างผู้ประกอบการให้เช่าซื้อที่ดำเนินมาโดยตลอด ทำให้ไม่มีพื้นที่ที่จะปรับลดลงได้อีก หากต้นทุนทางการเงินไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจึงน่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเช่าซื้อ มีโอกาสทรงตัวอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับปัจจุบัน

คงต้องยอมรับว่าปริมาณการขายรถยนต์ใหม่ในประเทศปี 2555-2556 ที่คาดว่าจะมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่า 2.7 ล้านคันนั้น อาจมีจำนวนไม่น้อยที่เกิดจากแรงจูงใจเรื่องการคืนภาษีรถคันแรก ซึ่งผู้ซื้อบางกลุ่มให้น้ำหนักมากกว่าการพิจารณาปัจจัยความจำเป็นของการใช้งานที่แท้จริง หรือความสามารถทางเศรษฐกิจในการครอบครองรถ

ดังนั้น จึงทำให้มีความเป็นไปได้ที่เมื่อผู้ซื้อกลุ่มนี้ได้รับเงินภาษีคืนหลังจากมีการโอนซื้อรถแล้ว 12 เดือน บางส่วนอาจเริ่มหมดแรงจูงใจในการผ่อนชำระค่างวด และกลายเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลในที่สุด แม้ว่าจะมีการทำสัญญาที่จะต้องครอบครองรถอย่างน้อย 5 ปี โดยหากผิดเงื่อนไข ผู้ซื้อจะต้องคืนเงินภาษีทั้งหมดให้แก่ทางการก็ตาม

เมื่อย้อนกลับมามองที่มาตรวัดด้านคุณภาพหนี้ อันได้แก่ สัดส่วนเอ็นพีแอลของสินเชื่อเช่าซื้อในระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2555 นั้น พบว่าไต่ระดับสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยมาที่ 1.32% จาก 1.15% ของช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผลของฐานยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อที่โตดีมากถึง 33.6%

อย่างไรก็ตาม การประเมินจากมิติของจำนวน พบว่าเร่งตัวขึ้นถึง 52% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มาที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนเริ่มแรกที่บ่งบอกถึงประเด็นคุณภาพสินทรัพย์ และทำให้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจยังไม่ใช่ภาวะเสี่ยงสูงสุดของปัญหาคุณภาพหนี้ หลังข้อมูลล่าสุดที่มี คือ ในเดือน ก.ย. 2555 นั้นเป็นช่วงที่เพิ่งผ่านการครบกำหนดถือครองรถครบปีและเข้าเกณฑ์ได้รับเงินภาษีคืนของผู้ซื้อในระยะแรกเริ่มโครงการมาไม่นานนัก

ขณะที่หากพิจารณาจากเงื่อนเวลาของการเริ่มได้รับเงินคืนจากภาครัฐ ผนวกกับการที่อาจใช้เวลาหลายเดือนกว่าที่ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ซื้อกลุ่มเสี่ยง จะได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น หรือปัญหาเสถียรภาพด้านรายได้ ตลอดจนยอดการใช้สิทธิที่ยังค่อนข้างกระจุกตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ถึงครึ่งแรกของปี 2556 ทำให้คาดว่าอาจต้องจับตาประเด็นคุณภาพหนี้ที่อาจจะเห็นชัดเจนขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2556

อีกประเด็นที่ติดตาม คือ ความเป็นไปได้ที่ ธปท.อาจมีการนำแนวทางการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งหากออกมาจริง ก็อาจกระทบยอดสินเชื่อบ้าง แต่ก็คงส่งผลดีต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบเศรษฐกิจในระยะยาว

นอกเหนือจากนั้น คงต้องพิจารณาปัจจัยด้านพัฒนาการทางเศรษฐกิจประกอบด้วย เนื่องจากหากสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักของไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างที่หลายฝ่ายคาดไว้ ก็จะส่งผลดีต่อรายได้ของผู้ที่กำลังผ่อนรถในวงกว้าง ซึ่งน่าจะช่วยคลายความกังวลต่อความเสี่ยงด้านคุณภาพหนี้ได้

เพราะคาดว่าผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ คงมีวิธีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ที่รัดกุมเพียงพอ โดยครอบคลุมไปถึงขั้นตอนการขายทอดตลาด ที่คงมีส่วนสูญเสียจำกัด ท่ามกลางความต้องการรถมือสองที่ยังเติบโตตามความต้องการเปลี่ยนรถใหม่

ท้ายที่สุดแล้ว น่าจะช่วยให้สามารถรับมือและบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้