posttoday

แนะใช้จังหวะบาทแข็งเสริมแกร่งรุกเออีซี

17 มกราคม 2556

ศูนย์วิจัยฯ ชี้เงินบาทแข็งค่าทะลุ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทย

ศูนย์วิจัยฯ ชี้เงินบาทแข็งค่าทะลุ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้มุมมองกรณีเงินบาททะยานข้ามแนว 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 17 เดือน เป็นผลจากกระแสเงินทุนไหลเข้า ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ซึ่งผลกระทบจะแตกต่างกันในรายประเภทอุตสาหกรรมขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ก็ยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพ ควรอาศัยจังหวะนี้ ในการขยายกิจการหรือการลงทุนไปยังต่างประเทศ  เพื่ออำนวยประโยชน์ในอนาคต โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

ทั้งนี้ ขอบเขตของผลกระทบเป็นรายอุตสาหกรรม/ภาคธุรกิจจะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย โดยการสำรวจผลกระทบได้แบ่งประเภทของอุตสาหกรรมอย่างกว้างได้ 4 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจที่มีสายการผลิตยาว และมีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศค่อนข้างสูง ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน ผลกระทบจะอยู่ในขอบเขตที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากสายการผลิตของอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ อาศัยการพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นหลัก จึงไม่ถูกกระทบมาก อีกทั้งได้รับอานิสงส์จากต้นทุนนำเข้าที่ต่ำลงตามการแข็งค่าของเงินบาท

สำหรับธุรกิจบริการในประเทศ ที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศค่อนข้างน้อย แต่มีจุดแข็งด้านคุณภาพสูงและตลาดมีความหลากหลาย ได้แก่ ท่องเที่ยว โรงแรม อยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้ แม้พึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศในสัดส่วนที่จำกัด แต่จุดแข็งด้านคุณภาพ และการพึ่งพาแหล่งธรรมชาติที่หลากหลาย ประกอบกับปัจจัยแวดล้อมในประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ น่าจะสามารถปรับตัวทั้งในด้านคุณภาพและราคา เพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันไว้ได้

ส่วนธุรกิจที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศค่อนข้างน้อย และประสบปัญหาการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันอยู่แล้ว ได้แก่ สินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตร อาหารแปรรูป สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ จะได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่อค่าเงินของสองคู่แข่งหลัก คือ เงินด่องเวียดนาม และเงินรูเปียะห์อินโดนีเซีย มีทิศทางอ่อนค่าลง ประกอบกับต้นทุนอื่นๆปรับสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ยังคงประสบกับความยากลำบากในการแข่งขันต่อเนื่อง และคงจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการเน้นพัฒนาคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง    

ด้านธุรกิจที่พึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลัก ได้แก่ ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่ได้พึ่งพาตลาดต่างประเทศ แรงกดดันจากประเทศคู่แข่งที่ได้เปรียบจากการปรับตัวของค่าเงิน จึงมีน้อย ดังนั้น ผลกระทบโดยตรงจากเงินบาทที่แข็งค่า จึงคงจะมีไม่มาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวในระยะสั้น ผ่านการกระจายตลาดส่งออก การนำเข้าวัตถุดิบจากแหล่งที่มีต้นทุนถูกกว่า การใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านต่างๆ และการบริหารจัดการต้นทุนและสายการผลิต ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องแล้ว การแสวงหาโอกาสขยายกิจการ/การลงทุนไปยังต่างประเทศ คงจะเป็นหนึ่งในแนวทางที่เอื้อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถตอบโจทย์การรักษาความสามารถทางการแข่งขันไว้ได้ในระยะยาว