posttoday

วัย40ขึ้นวางแผนเกษียณผิด

16 มกราคม 2556

ผลสำรวจพบคนวัย 40-60 ปี วางแผนเกษียณผิดพลาด ส่งผลให้เงินไม่พอใช้

ผลสำรวจพบคนวัย 40-60 ปี วางแผนเกษียณผิดพลาด ส่งผลให้เงินไม่พอใช้

สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจการเตรียมความพร้อมสำหรับการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณของกลุ่มแรงงานในระบบ ช่วงอายุ 40-60 ปี ใน กทม. และปริมณฑลแล้ว พบว่า คนวัยนี้วางแผนออมเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณผิดพลาด

ผลวิจัยระบุว่า ความผิดพลาดดังกล่าวมีอยู่ 7 ประการ ซึ่งทำให้คนที่อยู่วัยนี้มีเงินออมไม่พอใช้หลังเกษียณ กล่าวคือ 1.เริ่มวางแผนช้าเกินควร คือ มีเพียง 38% ที่เคยวางแผนเพื่อการเกษียณและปฏิบัติตามแผนได้อย่างสม่ำเสมอ 2. การวางแผนด้วยความมั่นใจมากเกินควร โดย 71% ของกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เคยวางแผนเพื่อการเกษียณมั่นใจว่าคุณภาพชีวิตหลังเกษียณจะใกล้เคียงหรือดีกว่าปัจจุบัน

3. การวางแผนโดยขาดความรู้ความเข้าใจที่เหมาะสม กลุ่มตัวอย่างคาดว่าจะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่สูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น และละเลยผลของเงินเฟ้อในอนาคต 4. การประมาณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณน้อยเกินควร ซึ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายในปีแรกหลังเกษียณต่อรายได้ในปีสุดท้ายก่อนเกษียณที่กลุ่มตัวอย่างใช้ในการวางแผนมีค่าเฉลี่ยเพียง 34% ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับ 70% ซึ่งเป็นค่าขั้นต่ำที่นิยมใช้ในการวางแผนทางการเงิน

5. การประมาณอายุขัยเฉลี่ยน้อยเกินควร จะพบข้อผิดพลาดนี้ในกลุ่มตัวอย่างเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งกลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้มีโอกาสที่เงินออมจะหมดก่อนสิ้นอายุขัย 6. การออมเงินไว้น้อยเกินควร ถ้าสินทรัพย์เพื่อการเกษียณไม่รวมอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะมีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับวัยเกษียณ แต่ถ้ารวมอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะมีเงินออมเพียงพอสำหรับวัยเกษียณ และ 7. การเกษียณอายุก่อนกำหนด ซึ่ง 28% ของกลุ่มตัวอย่างต้องการเกษียณก่อนกำหนด แต่ผู้ที่ต้องการเกษียณก่อนกำหนดส่วนใหญ่มีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับวัยเกษียณ

ผลจากการวิจัยดังกล่าวนำมาสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1. การจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อส่งเสริมการศึกษาทางการเงินขั้นพื้นฐานอย่างเร่งด่วนโดยต้องเข้าถึงกลุ่มคนทุกช่วงอายุ มิใช่เพียงคนใกล้วัยเกษียณเท่านั้น 2. การพัฒนานวัตกรรมทางการเงินประเภทสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แสดงความประสงค์ที่จะใช้ที่อยู่อาศัยของตนเป็นแหล่งรายได้หลังเกษียณ

3. การพัฒนาระบบเกษียณโดยการเพิ่มอายุเกษียณให้สูงขึ้น จากผลการศึกษาพบว่า ถ้าเลื่อนอายุเกษียณเป็น 65 ปี จะช่วยให้ 85% ของกลุ่มตัวอย่างมีเงินออมเพียงพอสำหรับวัยเกษียณ รวมทั้งการพัฒนาระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากปัจจุบันที่มุ่งเน้นทางเลือกนโยบายการลงทุน (Fund Supermarket Model) ไปสู่ระบบที่มุ่งเน้นรายได้หลังเกษียณ (Retirement Income Model) ซึ่งแสดงการคาดการณ์รายได้หลังเกษียณที่เป็นผลมาจากการออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้สมาชิกสามารถวางแผนการออมเพื่อเกษียณได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น