posttoday

คลังบีบไอแบงก์ทำแผนแลกเพิ่มทุน

17 ธันวาคม 2555

ไอแบงก์จุกหนี้เน่าบานกว่า 5,000 ล้านบาท กระทรวงการคลัง ยันต้องส่งแผนฟื้นฟูก่อนอนุมัติเพิ่มทุน 445 ล้านบาท

ไอแบงก์จุกหนี้เน่าบานกว่า 5,000 ล้านบาท กระทรวงการคลัง ยันต้องส่งแผนฟื้นฟูก่อนอนุมัติเพิ่มทุน 445 ล้านบาท

นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า สคร.จะยังไม่พิจารณาอนุมัติเงินทุนให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ จนกว่าธนาคารจะสามารถเสนอแผนแก้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล และวิธีการปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพตรงตามยุทธศาสตร์รัฐบาลที่ชัดเจน เสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาได้

ทั้งนี้ ในช่วงปีที่ผ่านมาธนาคารอิสลามมียอดหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้นจนมีภาระในการตั้งสำรอง กระทบต่อผลดำเนินงานที่เคยมีกำไรกว่า 1,239 ล้านบาท ในเดือน ม.ค. 2555 กลับมาขาดทุนกว่า 5,751 ล้านบาท ในเดือน ต.ค. 2555

“เงินเพิ่มทุนอิสลามได้รับอนุมัติตามเอกสารงบประมาณแล้ว แต่มีเงื่อนไขว่า จะให้ต่อเมื่อมีการแก้ไขหนี้เสียและมีแผนปล่อยสินเชื่อที่ชัดเจน ที่ผ่านมา นายธานินทร์ อังสุวรังษี กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามคนใหม่ ได้เข้ามาหารือและเสนอแผนฟื้นฟูเบื้องต้นแล้ว ทำให้สบายใจว่าการแก้ปัญหาน่าจะมีความคืบหน้าในปีหน้า ส่วนปีนี้เชื่อว่าผลดำเนินงานยังต้องขาดทุนอยู่” นายประสงค์ กล่าว 

นายประสงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับปีงบประมาณ 2556 คลังได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับใช้เพิ่มทุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐรวม 3 แห่ง เป็นเงินรวม 1,755 ล้านบาท ประกอบด้วย ไอแบงก์ได้รับจัดสรร 445 ล้านบาท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้รับจัดสรร 750 ล้านบาท และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้รับจัดสรร 555 ล้านบาท 

ขณะที่ กระทรวงการคลังได้ส่งคณะทำงานเข้ามาช่วยเรื่องการวางแผนธุรกิจของธนาคาร ซึ่งล่าสุดธนาคารสามารถแก้หนี้ได้มากกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท จากที่เคยปรับตัวสูงสุดในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ถึง 2.3 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 18% ของสินเชื่อรวม โดยตั้งเป้าหมายสิ้นปียอดหนี้เอ็นพีแอลจะลดลงเหลือ 1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8-9% ของสินเชื่อรวม รวมทั้งคาดว่าจะส่งผลให้ยอดเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ของธนาคารในช่วงปลายปีกลับมาอยู่ที่ระดับ 8.45% จากที่ก่อนหน้านี้อยู่ที่ระดับ 6%

เมื่อธนาคารสามารถทำตามแผนที่วางไว้ ทางกระทรวงการคลังจะใส่เงินเพิ่มทุนให้ 445 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้น เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และผู้ถือหุ้นรายย่อย จะส่งผลให้มีเงินเพิ่มทุนเข้ามาอีกประมาณ 900 ล้านบาท ภายในปี 2556