posttoday

ขึ้นค่าแรง300กระทบลูกจ้างระดับล่าง

01 ธันวาคม 2555

ทีดีอาร์ไอ หวั่นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ทำลูกจ้างระดับล่างถูกเลิกจ้าง จี้รัฐเร่งหามาตรการช่วยเหลือรองรับ

ทีดีอาร์ไอ หวั่นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ทำลูกจ้างระดับล่างถูกเลิกจ้าง จี้รัฐเร่งหามาตรการช่วยเหลือรองรับ  

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า  การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ที่จะเริ่มมีผลในปีหน้า จะส่งผลให้มีแรงงานระดับล่างจำนวนหนึ่งถูกเลิกจ้างในทันที เนื่องจากในบางจังหวัดต้นทุนค่าแรงมีการปรับขึ้นถึง 80 % ทำให้ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนไม่ได้ โดยคาดว่าธุรกิจไทยบางส่วนอาจต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน 

"แม้ว่านโยบายนี้จะดีในระยะยาว แต่ผลกระทบในระยะสั้นยังน่าเป็นห่วง สิ่งที่เกิดขึ้นในสภาอุตสาหกรรมตอนนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของภาคธุรกิจ เพราะรอบนี้แรงกระทบจะเป็นวงกว้าง ต่างจากการนำร่องใน 7 จังหวัดแรก ซึ่งจ่ายค่าแรงขั้นต่ำใกล้เคียง 300 บาทอยู่แล้ว ทำให้ตัวเลขว่างงานเพิ่มขึ้นไม่มาก" นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลขณะนี้คือรัฐบาลยังไม่มีมาตรการหรือนโยบายช่วยเหลือออกมารองรับกลุ่มแรงงานที่จะได้รับผลกระทบ ทั้งนี้เห็นว่าวิธีการที่เหมาะสมในขณะนี้คือควรปรับขึ้นค่าแรงประมาณ 40-50 % ในแต่ละพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องขึ้นค่าแรงให้เป็นไปในอัตราเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ

นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า  การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 300 บาท จะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมีต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.6% โดยธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบทางตรงมากที่สุดคือธุรกิจในภาคเกษตร ธุรกิจก่อสร้างและธุรกิจภาคบริการ ซึ่งจะมีต้นทุนสูงขึ้นถึง 6 % เนื่องจากมีค่าแรงเป็นต้นทุนหลัก

จากการสอบถามไปยังภาคธุรกิจ พบว่าส่วนใหญ่แสดงความกังวลต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงานมากกว่า การต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงในบางจังหวัด เช่น ภูเก็ต ซึ่งปัจจุบันจ่ายค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาทต่อวัน เมื่อมีการขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาททั่วประเทศ จะทำให้แรงงานบางส่วนกลับบ้านเกิดซึ่งมีค่าครองชีพถูกกว่า