posttoday

ศูนย์วิจัยเผยคนไทยออมเงินไม่พอเกษียณ

16 พฤศจิกายน 2555

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจการออมของแรงงาน ส่วนใหญ่ตั้งเป้าหมายเงินออมหลังเกษียณไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานในยามชรา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจการออมของแรงงาน ส่วนใหญ่ตั้งเป้าหมายเงินออมหลังเกษียณไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานในยามชรา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ การออมวัยเกษียณ...สร้างหลักประกันที่มั่นคงแก่ประชากรไทย ท่ามกลางการก้าวเข้าสู่สังคมชราภาพในระยะถัดไป ที่เห็นว่า การออมในระยะยาวเพื่อใช้ในยามเกษียณเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับประชากรวัยแรงงาน เนื่องจากทิศทางของประชากรไทยสูงวัยหลังเกษียณอายุ ถูกคาดหมายว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า รวมทั้งประชากรวัยชรายังคงมีแนวโน้มที่จะต้องเลี้ยงดูตนเองเพียงลำพังมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้สำรวจ “พฤติกรรมการออมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณของคนกรุงเทพฯ”  พบว่า  ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการออมเงินเพื่อใช้ในยามชราเป็นอับดับที่ 2 (25.2%) ขณะที่ให้ความสำคัญกับการออมเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันเป็นอันดับที่ 1 (31.1%) และเพื่อให้ได้ดอกผล เพื่อใช้ในยามเจ็บป่วย และเพื่อให้ลูกหลานในอนาคต

แรงงานให้ความตระหนักต่อการออมเพื่อใช้ในยามชรา ขณะที่รายได้เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการออม โดยผลสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างเห็นถึงความสำคัญของการออมเพื่อใช้ในวัยเกษียณ 85% ขณะที่ผู้ที่ออมรองรับการเกษียณอายุแล้ว 61.9% โดยมีสัดส่วนการออมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณที่ 6-10% ของรายได้ต่อเดือน

"รายได้เป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจออมเพื่อเกษียณ โดยผู้ที่มีรายได้ 2 หมื่นบาทขึ้นไป จะออมเพื่อเกษียณ เนื่องจากมีรายได้เพียงพอที่ออมได้หลังหักค่าใช้จ่าย และเมื่อจำแนกอาชีพที่ให้ความตระหนักต่อการออมเพื่อการเกษียณมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ รองลงมา ได้แก่ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานเอกชน ค้าขาย ขณะที่กลุ่มอาชีพรับจ้าง/เกษตรกร ตระหนักต่อการออมเพื่อการเกษียณน้อยที่สุด เนื่องจากมีรายได้ไม่เพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมทั้งยังไม่มีความรู้/ความเข้าใจเกี่ยวกับการออมเพื่อการเกษียณ" ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ

 

ศูนย์วิจัยเผยคนไทยออมเงินไม่พอเกษียณ

อย่างไรก็ตาม พบว่า แรงงานส่วนใหญ่วางเป้าหมายการมีเงินออมในยามเกษียณหลังอายุ 60 ปีต่ำกว่าประมาณ 2 ล้านบาท ซึ่งนำมาสู่คำถามถัดไปว่าเม็ดเงินดังกล่าวนั้นจะเพียงพอต่อการรองรับค่าใช้จ่ายสำหรับการดำรงชีพขั้นพื้นฐานหลังเกษียณหรือไม่ เพราะประเมินแล้ว ผู้ที่อายุ 61-80 ปี จะมีค่าใช้จ่ายในด้านอาหาร ยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ อยู่ที่ประมาณ 9.5 แสน -1.1 ล้านบาท หากเพิ่มค่าใช้จ่ายให้ครอบคลุมถึงค่าที่อยู่อาศัย ค่าตรวจรักษาพยาบาล (นอกเหนือจากค่ายารักษาโรคทั่วไป) ค่าเครื่องนุ่งห่ม และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะแล้ว คาดว่าเงินออมในยามชราที่จะรองรับกับค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานดังกล่าว จะอยู่ที่ประมาณ 2-3 ล้านบาทขึ้นไป

ศูนย์วิจัยเผยคนไทยออมเงินไม่พอเกษียณ

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างกว่า 50% ระบุว่า ยินดีที่จะออมเงินเพื่อยามเกษียณมากขึ้นหากรายได้ต่อเดือนของตนเพิ่มขึ้น ขณะที่ ปัจจัยที่กดดันให้แรงงานอยากลดเงินออมเพื่อยามเกษียณนั้น มาจาก 2 ปัจจัยใหญ่ อันได้แก่ สภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อและรายได้ที่ลดลง อีกปัจจัยหนึ่ง คือ ภาระค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่มากขึ้น โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า แรงงานกลุ่มที่มีภาระเลี้ยงดูบุตรมากขึ้นจะมีแนวโน้มในการลดเงินออมลง

 

ศูนย์วิจัยเผยคนไทยออมเงินไม่พอเกษียณ

 

ศูนย์วิจัยเผยคนไทยออมเงินไม่พอเกษียณ

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อเพิ่มเงินออมหลังเกษียณ ประกอบด้วย การขยายสัดส่วนเงินสะสมการออมแบบภาคบังคับ และอาจจะรวมถึงภาคสมัครใจ อาทิ กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และประกันสังคม รวมทั้ง การขยายระยะเวลาการเกษียณอายุการทำงานให้เพิ่มขึ้นจากอายุเกษียณที่ 60 ปี

ทั้งนี้ มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินตามลักษณะและเงื่อนไขการออมและการลงทุนเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป ที่แรงงานพิจารณาเลือกตัดสินใจลงทุนตามความเหมาะสมกับความสามารถและรสนิยมการออมของแต่ละบุคคล ซึ่งได้แก่ การออมผ่านประกันชีวิต การลงทุนผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ทางเลือกนี้ได้รับการตอบรับแก่กลุ่มวัยทำงานมากขึ้น สะท้อนจากจำนวนบัญชีผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF และ LTF ที่ขยายตัวมากขึ้นกว่า 20 เท่าในช่วงปี 2548 - เดือนมิ.ย. 2555

 

ศูนย์วิจัยเผยคนไทยออมเงินไม่พอเกษียณ

หากแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบต่างมีการวางแผนทางการเงินและจัดสรรการใช้เงินในช่วงที่อยู่ในวัยแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพแล้วนั้น จะทำให้การตอบโจทย์ภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพหลังเกษียณคงจะเป็นไปอย่างไม่ยากมากนัก ซึ่งนอกจากจะช่วยทำให้แรงงานสามารถก้าวเข้าสู่วัยเกษียณอายุได้อย่างมั่นคงและมั่นใจมากขึ้นแล้ว ก็ยังส่งผลดีต่อสังคมในภาพรวมทั้งการลดปัญหาเชิงสังคมและเศรษฐกิจได้ในระยะยาวอีกด้วย