posttoday

จับตาลต.ปธน.สหรัฐมีผลต่อศก.ไทย

02 พฤศจิกายน 2555

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2012 มีผลต่อการค้าและเศรษฐกิจไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2012 มีผลต่อการค้าและเศรษฐกิจไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ ผลของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่มีผลต่อการค้าและเศรษฐกิจไทย โดยมองว่า นโยบายด้านเศรษฐกิจและต่างประเทศยังคงเป็นตัวชี้ชะตาผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 นี้ ระหว่างประธานาธิบดีคนปัจจุบัน นายบารัก โอบามา ตัวแทนจาก “พรรคเดโมแครต” ผู้มีแนวคิดจาก “สายพิราบ” และนายมิตต์ รอมนีย์ ตัวแทนจาก “พรรครีพับลิกัน” ผู้มีจุดยืนจาก “สายเหยี่ยว” ทุนนิยมเสรีสุดขั้วและแข็งกร้าว โดยผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมีคะแนนที่ค่อนข้างสูสีมากในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2012 

ผลการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ในครั้งนี้ อาจไม่ใช่เป็นเพียงตัวแปรเดียวที่จะเป็นตัวชี้ชะตาแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งมีนัยต่อเศรษฐกิจโลกในปีหน้า เนื่องจากการประคองทิศทางเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับ 1 ของโลกให้ผ่านพ้นบททดสอบความเสี่ยงต่อภาวะแรงฉุดครั้งใหญ่ทางการคลัง (Fiscal Cliff) ที่รออยู่ในช่วงรอยต่อสิ้นปี 2555-ต้นปี 2556 นั้น น่าจะเป็นโจทย์ที่ท้าทายและบ่งบอกถึงชัยชนะที่ยิ่งใหญ่กว่าสำหรับว่าที่ผู้นำคนใหม่แห่งทำเนียบขาวที่จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2556 ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่รอประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งครั้งที่ 57 มาเป็นผู้ชี้ชะตา (ซึ่งอาจเป็นสมัยที่ 2 ของนายบารัก โอบามา หรือ สมัยแรกของนายมิตต์ รอมนีย์) นับเป็นตัวแปรสำคัญที่จะมีผลต่อทิศทางตลาดเงิน-ตลาดทุนโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นดังนี้

คู่ชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ : จุดยืนที่แตกต่าง...แม้มีเป้าหมายเดียวกัน

แม้จะมีความแตกต่างระหว่างมุมมองสายพิราบของนายโอบามา และสายเหยี่ยวของนายรอมนีย์ แต่คู่ชิงประธานาธิบดีทั้ง 2 ท่าน ต่างก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันในช่วงหลังการเข้าบริหารประเทศ คือ การนำพาเศรษฐกิจของประเทศให้พ้นจากความเสี่ยงเฉพาะหน้าจากปัญหา Fiscal Cliff และการปรับเพิ่มเพดานการก่อหนี้ กระตุ้นการจ้างงานสำหรับชาวอเมริกัน พร้อมๆ กับรักษาสถานะการเป็นชาติมหาอำนาจของสหรัฐฯ ในประชาคมโลก อย่างไรก็ดี ความท้าทายของการแก้โจทย์การคลังในปี 2556 จะสะท้อนผ่านการต่อรองระหว่างสภาคองเกรสกับทีมบริหารเศรษฐกิจของทำเนียบขาว ซึ่งจะมีนัยต่อเนื่องมาที่การบรรลุเป้าหมายในการผ่านร่างกฎหมายด้วยกระบวนการที่ยาก-ง่ายแตกต่างกัน

อย่างไรก็ดี หากนายรอมนีย์ ชนะการเลือกตั้งเข้ามา ก็อาจทำให้กระบวนการต่างๆ ใช้เวลาสั้นลง เพราะพรรครีพับลิกันน่าจะครองเสียงข้างมากในสภาล่าง

เนื่องจากองค์ประกอบราวร้อยละ 66 ของปัญหา Fiscal Cliff ที่อาจฉุดรั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยรอบใหม่นั้น มาจากการเปลี่ยนแปลงของมาตรการทางด้านภาษี (โดยเฉพาะ “Bush-Tax Cut”) หลายมาตรการในช่วงเวลาพร้อมกัน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แนวทางสำคัญในการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง Fiscal Cliff ของทั้งนายโอบามาและรอมนีย์ จึงมุ่งเน้นไปที่นโยบายภาษีเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ความแตกต่างระหว่างมาตรการทางภาษีของนายโอบามาและรอมนีย์นั้น อยู่ที่ความครอบคลุมที่กระจายทุกกลุ่มรายได้และระดับอัตราภาษีที่ต่ำกว่า ซึ่งหากวัดกันที่จุดนี้ คงต้องยอมรับว่า นายรอมนีย์มีความได้เปรียบกว่า

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาประเด็นการรักษาเสถียรภาพการคลังระยะยาวแล้ว จะพบว่า ส่วนผสมของมาตรการภาษีและการใช้จ่ายของภาครัฐภายใต้แผนของนายโอบามาและรอมนีย์นั้น ยังคงสุ่มเสี่ยงต่อแนวทางการรักษาวินัยทางการคลังระยะยาวของสหรัฐฯ ทั้งคู่ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่เชื่อมโยงทางอ้อมมาที่นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่แตกต่างกันด้วยเช่นกัน โดยผลกระทบจากแนวทางการบริหารประเทศของนายรอมนีย์ อาจส่งผลให้ช่วงเวลาการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของเฟดสั้นลงกว่าแนวทางของนายโอบามา ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะมีนัยต่อเนื่องตามมาที่ทิศทางของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเพิ่มแรงกดดันต่อเงินหยวนของจีน

แต่กระนั้น ยังต้องติดตามประเด็นเหล่านี้ต่อไป เพราะจุดยืนนโยบายต่างๆ ในช่วงหาเสียง กับแนวทางและผลที่เกิดขึ้นในเชิงปฎิบัติอาจมีความแตกต่างกันตามเงื่อนไขของสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะสั้น “คาดหวังผลลัพธ์ในการประคองโมเมนตัมเศรษฐกิจจากปีแรกของการเป็นผู้นำประเทศ”

โอบามา : มีแผนที่จะขยายเวลาลดภาษีสำหรับกลุ่มรายได้กลาง-ล่าง แต่จะเพิ่มภาษีสำหรับกลุ่มคนรวย , ออกแบบอัตราภาษีกำไร-ปันผลจากการลงทุน ที่ซับซ้อนกว่า แต่ยังคงจุดยืนของระบบอัตราภาษีแบบก้าวหน้าที่กลุ่มคนรวยจะถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่า ขณะที่ อัตราภาษีสำหรับภาคธุรกิจอาจปรับลดเช่นเดียวกับนายรอมนีย์ แต่จะยังคงมีระดับที่สูงกว่า , นายโอบามาจะเข้ามายกเครื่องโอบามาแคร์ให้มีความครอบคลุมสวัสดิการในวงที่กว้างมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การชดเชยข้อด้อยของมาตรการภาษี (ที่นายรอมนีย์ผ่อนปรนกว่า) ด้วยการเพิ่มการใช้จ่ายทางด้านสังคมและการสาธารณะสุข ก็น่าจะทำให้นายโอบามาสามารถบรรลุเป้าหมายการประคองทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงปีแรกของการกลับเข้าดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 ได้ 

นายรอมนีย์ : มีแผนที่จะต่ออายุมาตรการ Bush-Tax Cuts โดยจะครอบคลุมการขยายเวลาการลดภาษีสำหรับทุกกลุ่มรายได้ และมีระดับของอัตราภาษีที่ต่ำกว่านายโอบามา , มีการออกแบบอัตราภาษีสำหรับภาคธุรกิจ ภาษีกำไร-ปันผลจากการลงทุน และการส่งกลับกำไรจากภายนอกประเทศของบริษัทสหรัฐฯ ที่ประกอบธุรกิจในต่างประเทศ ที่ผ่อนปรนกว่านายโอบามา , ยกเลิกระบบประกันสุขภาพของนายโอบามา และแทนที่ด้วยระบบอื่นที่ไม่สร้างภาระต่อรายจ่าภาครัฐและธุรกิจมากเท่าเดิม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ ก็น่าจะทำให้มีความเป็นไปได้ที่นายรอมนีย์จะช่วยสนับสนุนการประคองโมเมนตัมเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงปีแรกของการเข้าบริหารประเทศได้มากกว่า

ผลกระทบต่อเสถียรภาพสหรัฐฯ ในระยะกลาง-ระยะยาว "ทั้งคู่ยังเปิดความเสี่ยงต่อแนวทางการรักษาวินัยการคลังระยะยาว”

โอบามา : การปรับเพิ่มรายได้จากภาษีหลายด้านที่เน้นไปที่กลุ่มคนร่ำรวยของนายโอบามา แต่ในขณะเดียวกันก็ปรับเพิ่มรายจ่ายด้านสังคม/สวัสดิการ ซึ่งเป็นภาระผูกผันระยะยาวของรายจ่ายภาครัฐ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงหลายปีข้างหน้า จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ตัดสินว่า การบรรลุเป้าหมายเสถียรภาพการคลังในระยะกลาง-ยาวของนายโอบามาจะเป็นไปอย่างราบรื่นมากน้อยเพียงไร

รอมนีย์ : จะมีแนวทางการปรับลดรายจ่ายด้านสังคม/สวัสดิการมากกว่านายโอบามา แต่การปรับเพิ่มรายจ่ายทางการทหาร/ปกป้องประเทศ และการแสดงจุดยืนที่เน้นยำความแข็งแกร่งของสหรัฐฯ ในเวทีโลก ขณะที่ ยังขาดแนวทางการเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันของภาคธุรกิจที่ชัดเจนนั้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การบรรลุเป้าหมายเสถียรภาพการคลังในระยะกลาง-ยาวของนายรอมนีย์ จำเป็นต้องพึ่งพาความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นสำคัญ

ผลกระทบต่อนโยบายการเงินสหรัฐฯ “อาจมีผลทางอ้อมต่อช่วงเวลาการถอนตัวออกจากมาตรการ QE ของเฟด”

โอบามา : ไม่มีการวิพากษ์โดยตรงต่อการเลือกใช้เครื่องมือและแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่ง ณ เวลานี้ เฟดยืนอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่ระดับต่ำ และกำลังดำเนินมาตรการ QE3 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากนายโอบามาได้รับเลือกอีกสมัย ก็ยังน่าจะมีแนวทางเช่นเดิม 

รอมนีย์ : วิพากษ์การดำเนินมาตรการ QE3 ของเฟดที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างชัดเจน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดกระแสการคาดการณ์ว่า “ช่วงเวลาของการใช้ QE3 ของเฟดจะหมดวาระลงเร็วกว่ากรณีนายโอบามา” ซึ่งนั่นย่อมจะทำให้ “เงินดอลลาร์ฯ มีโอกาสผันผวนในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น” จากปัจจัยดังกล่าว  

ผลกระทบต่อบทบาทและท่าทีของสหรัฐฯ ในเวทีโลก "จุดยืนที่เข้มแข็งในระดับที่แตกต่างกัน อาจสะท้อนระดับความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างประเทศ”

โอบามา : มีท่าทีประนีประนอม ใช้วิธีการเจรจา และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าด้วยความรุนแรงในขั้นตอนเริ่มแรกของการแก้ปัญหา ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะมีแนวทางลดการสร้างศัตรูภายใต้การผลักดันเป้าหมายหลักของการคงสถานะความเป็นผู้นำในเวทีโลก

รอมนีย์ : เน้นย้ำจุดยืนที่เข้มแข็งและยิ่งใหญ่ และปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนอเมริกัน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในกรณีที่นายรอมนีย์ชนะการเลือกตั้งอาจทำมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดข้อพิพาททางการเมืองระหว่างประเทศมากกว่า และอาจถูกโดดเดี่ยวในเวทีโลก ซึ่งไม่น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมนัก นอกจากนี้ หากความเสี่ยงจากสถานการณ์ในตะวันออกกลางมีมากขึ้นแล้ว ก็อาจทำให้เกิดนัยที่สำคัญต่อเนื่องมาที่ทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก และทิศทางเงินเฟ้อในหลายๆ ภูมิภาค 

ผลกระทบต่อการสานความสัมพันธ์กับจีน

โอบามา : กดดันจีนพร้อมๆ กับสานสัมพันธ์กับจีนในเวลาเดียวกัน ดังนั้น การดึงจีนเข้าสู่กรอบการค้า-การลงทุน-การทูตที่มีแบบแผนสากล จึงเป็นไปอย่างประนีประนอม ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้ากับจีนในบางกรณีหากจำเป็น , นายโอบามาหลีกเลี่ยงการกล่าวหาโดยตรงว่า ควบคุมความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน (A Currency Manipulator) แม้จะต้องการให้ค่าเงินหยวนสะท้อนความแข็งแกร่งของปัจจัยพื้นฐานในระยะยาวก็ตาม     ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีความเป็นไปได้ที่นายโอบามาจะสานความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนให้มีความคืบหน้า แต่ยังคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และการคานอำนาจกับจีนในเวทีระดับโลก อาทิ กรอบการค้าโลก (WTO) ภายใต้สถานการณ์ที่เหมาะสม

รอมนีย์ : แสดงท่าทีที่กดดันจีนมากกว่า ดังนั้น จึงมีการตอบโต้กับจีนในระดับที่เข้มข้นมากกว่านายโอบามาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ , มีความเสี่ยงมากขึ้นที่นายรอมนีย์จะกล่าวหาว่า จีนเป็นผู้ควบคุมความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน (A Currency Manipulator)  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มุมมองจีนของนายรอมนีย์ทั้งในมิติความไม่เป็นธรรมทางการค้าและการลงทุน อาจจะส่งผลเชิงลบต่อธุรกิจและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (ชัดกว่าจุดยืนที่นุ่มนวลของนายโอบามา) เพราะมีความเสี่ยงที่จีนอาจเลือกที่จะตอบโต้กลับ ซึ่งในท้ายที่สุด ก็จะไม่เป็นผลดีต่อทั้ง 2 ประเทศ

การเลือกตั้งสหรัฐฯ 2012 : ผลต่อการค้าและเศรษฐกิจไทย

ภายใต้กรณีที่สภาคองเกรสและทำเนียบขาวภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จะคงไว้ซึ่งจุดยืนร่วมกันในการปลดล็อกเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกจากความเสี่ยงหน้าผาทางการคลัง (Fiscal Cliff) ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินในเบื้องต้นว่า ในปี 2556 ที่กำลังจะมาถึงนี้ สหรัฐฯ ไม่น่าจะเผชิญกับภาวะ Fiscal Cliff เต็มรูปแบบ (ที่จะฉุดให้เศรษฐกิจถดถอยครึ่งแรกของปี 2556 ที่ร้อยละ 2.9 ก่อนจะฟื้นกลับมาขยายตัวในครึ่งปีหลังด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 1.9 ซึ่งจะทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจปี 2556 หดตัวลงร้อยละ 0.5 ตามประมาณการของ CBO) หรือแค่เพียงเผชิญกับปัญหาแรงฉุดครั้งใหญ่จากหน้าผาการคลังแค่เพียงช่วงเวลาที่จำกัด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยขอนิยามในที่นี้ว่า “Mini Fiscal Cliff” เท่านั้น

ผลต่อการค้าของไทย

บทบาทที่สหรัฐฯ มีต่อภูมิภาคเอเชียเริ่มถูกทาบทับด้วยภาพที่แข็งแกร่งจากจีน และเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่จนสามารถบดบังสหรัฐฯ ภายในอีกราว 2 ทศวรรษข้างหน้า จึงเป็นตัวเร่งให้สหรัฐฯ หากลยุทธ์นำพาประเทศเข้าสู่เอเชียในเวทีระดับต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การหยิบยกประเด็นการสานสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจของว่าที่ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯผ่านกรอบการค้าทั้งในรูปแบบพหุภาคี/ทวิภาคี อันมีผลต่อไทย ดังนี้

โอบามา : มีแนวโน้มที่จะสานต่อนโยบายเดิม ที่ต้องการเพิ่มบทบาทสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งคาดว่าจะใช้แนวทางผลักดัน TPP หรือความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership Agreement) ให้บรรลุเป้าหมายได้โดยเร็ว ซึ่งแรงกระตุ้นสำคัญมาจากความคืบหน้าของ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership ต่อยอดมาจาก ASEAN+6) ที่จะกลายเป็นกรอบความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีความเป็นไปได้ในการรวมตัวเปิดเสรีในระยะอันใกล้นี้ (คาดว่าเริ่มเจรจาในปี 2556) 

รอมนีย์ : มีแนวทางผลักดันการค้าเสรีกับเอเชียต่อไปเช่นเดียวกัน แม้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะเป็นในรูปแบบพหุภาคีหรือทวิภาคีก็ตาม แต่มีแนวทางที่ปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯค่อนข้างมากด้วยท่าทีแข็งกร้าวกว่ารูปแบบของโอบามา ดังนั้นจึงมีนัยว่าประเทศคู่เจรจากับสหรัฐฯ อาจเผชิญแรงกดดันต่อการรับเงื่อนไขการเจรจาที่สหรัฐฯเป็นผู้กำหนด

เป็นที่น่าสังเกตว่า สหรัฐฯจะได้ประโยชน์ค่อนข้างสูงจากกรอบเจรจาการค้าเสรีไม่ว่าจะเป็น FTA หรือ TPP โดยในส่วนของ TPP นั้น สมาชิกที่เข้าร่วมต้องยอมรับในข้อตกลงที่มีความเข้มข้นสูงกว่าระดับ FTA ทั่วไป อาทิ การเปิดเสรีแรงงาน สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐบาล ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อประเทศพัฒนาแล้วค่อนข้างมาก หมายความว่าหากไทยจะเข้าร่วมก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงประเทศสมาชิก TPP พบว่าไทยมีการจัดทำ FTA กับประเทศในสมาชิกดังกล่าวแล้วเป็นส่วนใหญ่ยกเว้น แคนาดา เม็กซิโก และสหรัฐฯ ซึ่งหัวใจสำคัญคือ การเจรจาความตกลงกับสหรัฐฯนั้น ในด้านหนึ่งน่าจะเป็นผลบวกต่อผู้ส่งออกไทยในการเอื้อให้ขยายตลาดส่งออกไปยังสหรัฐฯได้ดีขึ้น แต่ประเด็นที่ไทยจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนคือผลกระทบที่มีต่อภาคบริการ และเกษตรกรรม เป็นต้น

วิสัยทัศน์ร่วมกันของผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีความเป็นไปได้ว่าบรรยากาศการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนน่าจะยังคุกรุ่นอยู่ ซึ่งในกรณีของรอมนีย์อาจมีความตึงเครียดที่สูงกว่าโอบามา โดยผ่านการกดดันค่าเงินหยวนให้สะท้อนค่าแท้จริงหรือแข็งค่ามากขึ้น รวมทั้งอาจมีการตอบโต้ทางการค้าอื่นๆเข้มข้นตามมา และรวมไปถึงการวางบทบาททางเศรษฐกิจและการทหารของสหรัฐฯกับนานาประเทศเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน ซึ่งอาจทวีความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯในระยะต่อไป แม้ไม่กระทบต่อการค้ากับไทยโดยตรงแต่ก็อาจส่งผลทางอ้อมต่อท่าทีของไทยในการดำเนินยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับทั้งสองประเทศ ซึ่งไทยจำเป็นต้องตระหนักอย่างมากในรักษาความสัมพันธ์กับทั้งสองประเทศ ไม่ว่าจะจีนที่เป็นผู้ประคองเศรษฐกิจการค้าของไทยในขณะนี้ หรือสหรัฐฯคู่ค้าที่แนบแน่นในภูมิภาคตะวันตกมาช้านาน 

ผลต่อเศรษฐกิจไทย

เนื่องจากผลต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก ภายใต้ช่วงเวลาของการเข้าบริหารประเทศของผู้นำสหรัฐฯ ที่มาจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจสำหรับสหรัฐฯ เพียงปัจจัยเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและนโยบายทางเศรษฐกิจ-การเงิน-การคลังของภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ (Geopolitical Risks) ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ท่าทีของผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ที่จะเข้าสาบานตนวันที่ 20 มกราคม 2556 คงจะเป็นตัวแปรหนึ่งที่มีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขอื่นๆ โดยเฉพาะสถานการณ์วิกฤตหนี้ของยุโรป ความสามารถในการประคองโมเมนตัมของเศรษฐกิจจีน และเสถียรภาพในตะวันออกกลาง ที่มีความสำคัญไม่น้อย ประกอบภาพเข้ามาด้วย

ผลกระทบในระยะสั้นต่อเศรษฐกิจไทย จะเชื่อมโยงเข้ากับความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา Fiscal Cliff ของสหรัฐฯ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สหรัฐฯ น่าจะไม่เผชิญกับภาวะ Fiscal Cliff เต็มรูปแบบในปี 2556 ไม่ว่าชัยชนะจากศึกเลือกตั้งจะเป็นของโอบามาหรือรอมนีย์ ก็ตาม

อย่างไรก็ดี กระบวนการขั้นตอน ความยากง่ายในการต่อรองระหว่างสภาคองเกรส-ทำเนียบขาว ที่ในอีกด้านหนึ่งจะสะท้อนผลของการคานอำนาจทางการเมืองของพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน อาจทำให้โอกาสของการเกิดภาวะ Mini Fiscal Cliff อยู่ในระดับที่แตกต่างกัน แต่โดยสุทธิแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีข้างหน้า น่าที่จะข้ามพ้น “บททดสอบเฉพาะหน้า” จากภาวะหน้าผาทางการคลังไปได้ ซึ่งไม่น่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยมากนัก อย่างไรก็ดี องค์ประกอบของมาตรการทางภาษีของนายรอมนีย์ที่ค่อนข้างผ่อนปรนและเอื้อต่อภาคธุรกิจมากกว่านายโอบามา ทำให้มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวสูงกว่ากรณีพื้นฐานที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.1 ซึ่งย่อมจะทำให้ผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านผู้นำของสหรัฐฯ อยู่ในกรอบที่ค่อนข้างจำกัดต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2556 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ร้อยละ 4.5-5.5 น่าจะยังเหมาะสมและสามารถรองรับสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นได้

ผลกระทบในระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หากมองภาพที่ไกลขึ้นหลังปี 2556 ไม่ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะเป็นเป็นสมัยที่ 2 ของนายโอบามา หรือสมัยแรกของนายรอมนีย์ ประธานาธิบดีที่คนที่ 45 ของสหรัฐฯ ก็น่าจะต้องรับมือกับ “โจทย์รักษาเสถียรภาพการคลังในระยะยาวของสหรัฐฯ” ที่ไม่แตกต่างกัน 

โดยการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในคนละรายการ (นายโอบามาเพิ่มในส่วนสวัสดิการ/ระบบประกันสุขภาพ ขณะที่ นายรอมนีย์เพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหม) ขณะที่ รายได้ของภาครัฐยังขึ้นอยู่กับผลสุทธิจากมาตรการภาษี (ซึ่งนายโอบามาเน้นอัตราก้าวหน้า แต่นายรอมนีย์ผ่อนปรนต่อภาคธุรกิจมากกว่า) ต่อการประคองทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาการว่างงาน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ  ยังคงต้องแบกหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งอาจมีผลต่อเนื่องให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพในช่วงหลายปีข้างหน้า ดังนั้น สำหรับไทยแล้ว โจทย์ในระยะยาวที่ทางการและภาคธุรกิจไทยจะต้องคำนึงถึงและผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ก็คือ การมุ่งสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่น่าจะเสริมสร้างอานิสงส์ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยได้อย่างมั่นคงในระยะยาว