posttoday

10สิทธิประหยัดภาษีที่ไม่ควรพลาด

31 ตุลาคม 2555

สำหรับสิทธิประหยัดภาษีในปีนี้ ถ้าให้สรุปก็มี 10 เรื่องด้วยกันโดยอาจแบ่งออกได้สองกลุ่มหลักๆ

โดย...อุมาพันธ์ เจริญยิ่ง ฝ่ายวางแผนการเงินส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย 

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการประหยัดภาษีกันแล้วนะคะ เหลืออีกเพียงสองเดือนก็จะหมดปีภาษี 2555 กันแล้ว ลองมาดูว่า เรายังเหลือสิทธิลดหย่อนอะไรบ้างที่ยังไม่ได้ใช้ค่ะ

10สิทธิประหยัดภาษีที่ไม่ควรพลาด

สำหรับสิทธิประหยัดภาษีในปีนี้ ถ้าให้สรุปก็มี 10 เรื่องด้วยกันค่ะ โดยอาจแบ่งออกได้สองกลุ่มหลักๆ กลุ่มแรก คือ กลุ่มมาตรการภาษีที่ออกมามีกำหนดระยะเวลาเฉพาะ ว่าสามารถหักลดหย่อนได้ภายในปีนี้เท่านั้น เช่น มาตรการบ้านหลังแรก รถคันแรก ซ่อมแซมบ้าน รถยนต์ รวมถึงการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดภาษีค่ะ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นมาตรการภาษีที่มีอยู่แล้ว สามารถใช้สิทธิได้ตลอดค่ะ แต่เป็นส่วนที่เราต้องมีการใช้จ่ายเงินเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว การซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต ไปจนถึงเงินบริจาค มาดูกันว่าแต่ละมาตรการมีรายละเอียดยังไงกันบ้างค่ะ

1.ลดหย่อนบ้านหลังแรก สำหรับการซื้อบ้านใหม่หลังแรกโดยต้องจ่ายค่าซื้อและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2555 นี้ บ้านหลังแรกต้องมีราคาบ้านไม่เกิน 5 ล้านบาท เจ้าของผู้ซื้อต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งผู้ซื้อสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ 10% ของราคาบ้านที่ซื้อ โดยต้องแบ่งยกเว้นภาษีภายใน 5 ปีภาษี ปีละเท่าๆ กัน สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปีค่ะ

2.ลดหย่อนรถคันแรก สำหรับการซื้อรถใหม่คันแรกภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2555 นี้ โดยต้องยื่นคำขอคืนเงินกับกรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ พร้อมเอกสารหนังสือยินยอมสละสิทธิ์การโอนภายใน 5 ปี ผู้ซื้อรถคันแรกต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไป ราคารถยนต์ต้องไม่เกิน 1 ล้านบาท และเป็นรถยนต์นั่งขนาดความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1500 ซีซี (รถยนต์กระบะไม่จำกัดขนาดความจุกระบอกสูบ) ผู้ซื้อจะได้รับเงินคืนเท่ากับค่าภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคัน การจ่ายเงินตามสิทธิจะจ่ายให้เมื่อครอบครองรถยนต์ 1 ปีไปแล้ว ทั้งนี้สามารถตรวจสอบรายละเอียดยี่ห้อ รุ่นรถยนต์ และจำนวนเงินที่มีสิทธิได้รับคืนทาง www.excise.go.th หรือตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ทั่วประเทศ สำหรับรถคันแรก เขาขยายเวลาการรับรถออกไป ผู้ที่จองรถคันแรกตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. 2555 เป็นต้นไป สามารถใช้ใบจองไปยื่นได้ค่ะ

3.ลดหย่อนซ่อมแซมบ้านน้ำท่วม สำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่บ้านเสียหายจากอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.-31 ธ.ค. 2554 ในพื้นที่ที่ราชการประกาศให้เป็นเขตประสบอุทกภัย เจ้าบ้านสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ในปี 2554 และหรือปี 2555 โดยรวมการใช้สิทธิแล้วต้องไม่เกิน 1 แสนบาท

4.ลดหย่อนรถยนต์ถูกน้ำท่วม สำหรับรถยนต์ที่เกิดความเสียหายจากเหตุอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.-31 ธ.ค. 2554 ในพื้นที่ที่ราชการประกาศเป็นเขตอุทกภัย เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ หรือผู้เช่าซื้อรถยนต์สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 2 คัน รวมกันแล้วไม่เกิน 3 หมื่นบาท สำหรับรถยนต์ที่ไม่สามารถซ่อมได้ สามารถใช้สิทธิรถคันแรกคืนภาษีไม่เกิน 1 แสนบาท โดยต้องยกเลิกรถคันเก่าเพื่อจำหน่ายเป็นซาก

5.ซื้อวัสดุอุปกรณ์หรือเครื่องจักรประหยัดพลังงาน สำหรับผู้ที่ซื้อวัสดุอุปกรณ์เครื่องจักรที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน ซึ่งได้รับการรับรองจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2555 เฉพาะบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้ตามมาตรา 40 (5)-(8) บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด และห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทวัสดุอุปกรณ์ หรือเครื่องจักรที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน แต่ไม่รวมถึงยานพาหนะและวัสดุอุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่ใช้กับยานพาหนะ เป็นจำนวนไม่เกินร้อยละ 25 ของค่าใช้จ่ายนั้น โดยมีเงื่อนไขดังนี้

1) ต้องเป็นทรัพย์สินที่ไม่เคยผ่านการใช้งานซึ่งได้ซื้อมาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2554 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2555 โดยได้รับการรับรองจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ว่าเป็นวัสดุอุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่มีผลต่อการประหยัดพลังงานภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2555

2) ต้องหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งาน

6.ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้เมื่อรวมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญแล้ว ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท

7.ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดต้องไม่เกิน 5 แสนบาท

8.ซื้อประกันชีวิต หักลดหย่อนสูงสุดได้ 1 แสนบาท ทั้งนี้ต้องเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีอายุ 10 ขึ้นไป และมีผลประโยชน์ตอบแทนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี

9.ซื้อประกันแบบบำนาญ หักลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท และเมื่อรวมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญแล้ว ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท

10.เงินบริจาค หักได้สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิหลังหักค่าลดหย่อนและค่าใช้จ่าย เช่น เงินบริจาคให้แก่วัดวาอาราม สภากาชาดไทย สถานพยาบาล และสถานศึกษาของทางราชการ ฯลฯ โดยสามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่า ตรวจสอบรายชื่อสถานศึกษาได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th/บริการข้อมูล/รายชื่อสถานศึกษาที่สามารถหักบริจาคหักลดหย่อนเงินบริจาคให้ได้

สำหรับท่านที่ใช้สิทธิดังกล่าวข้างต้นไปแล้ว อย่าลืมรีบยื่นใช้สิทธิและเก็บเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วนนะค่ะ