posttoday

หนี้ครัวเรือนเริ่มมีปัญหา

29 ตุลาคม 2555

ธปท.เกาะติดหนี้ครัวเรือน หลังยอดผิดนัดชำระหนี้เกิน 1 เดือนพุ่ง จับตาวิกฤตเศรษฐกิจโลก บั่นทอนภาวะจ่ายหนี้

ธปท.เกาะติดหนี้ครัวเรือน หลังยอดผิดนัดชำระหนี้เกิน 1 เดือนพุ่ง จับตาวิกฤตเศรษฐกิจโลก บั่นทอนภาวะจ่ายหนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุในรายงานในแนวโน้มเงินเฟ้อประจำเดือน ต.ค. ว่า ธปท.เริ่มติดตามหนี้ภาคครัวเรือนอย่างใกล้ชิด หลังจากพบว่ากลุ่มที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง (รายได้ต่ำกว่า 2.5 หมื่นบาทต่อเดือน) ที่กู้เงินจากบริษัทบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เริ่มมีสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น เห็นได้จากสินเชื่อค้างชำระเกิน 1 เดือน มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลที่เร่งขึ้นในช่วง 6 เดือนล่าสุด

ทั้งนี้ มาตรการผ่อนคลายทางการเงินของประเทศหลัก เริ่มส่งผลให้เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของไทยมีความเสี่ยงสูงขึ้น โดยภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากการส่งออกหดตัวมีมากขึ้น และอาจบั่นทอนความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชนไทย และส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อได้

นอกจากนี้ ความสามารถในการชำระหนี้แล้ว ความเสี่ยงระยะต่อไปที่ ธปท.ต้องติดตาม คือผลกระทบของการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินของสหรัฐ (คิวอี 3) ต่อความผันผวนของตลาดการเงินไทยและค่าเงินบาท โดยไตรมาส 3 ปีนี้ค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 31.36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากไตรมาสก่อนหน้าเฉลี่ยอยู่ที่ 31.32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ธปท.คาดว่า คิวอี 3 มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากนัก เงินทุนน่าจะไหลเข้าน้อยกว่าช่วงที่มีคิวอี 1 และ 2 เมื่อปี 2551 และ 2553 ตามลำดับ เพราะเศรษฐกิจเอเชียอ่อนแอลงอย่างชัดเจน จากการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยไม่ได้ขึ้นกับเงินลงทุนจากต่างประเทศมากนัก เมื่อเทียบกับประเทศที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาฟองสบู่อย่างสิงคโปร์และฮ่องกง

ก่อนหน้านี้ ธปท.ระบุว่า สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ของภาคครัวเรือนเริ่มสูงขึ้นที่ระดับ 40-50% ของรายได้รวม เทียบกับอดีตอยู่ที่ 30% ขณะที่สัดส่วนที่เหมาะสมคือ 28%