posttoday

สินเชื่อเงินผ่อน:ที่พึ่งสุดท้ายหรือกับดักชีวิต

18 ตุลาคม 2555

หากท่านเป็นคนหนึ่งที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนใช้เงินเกินตัว ควรรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนี้ก่อนที่จะสายเกินไป

โดย...สาธิต บวรสันติสุทธิ์ CFP [email protected]

สินเชื่อเงินผ่อน:ที่พึ่งสุดท้ายหรือกับดักชีวิต

โลกเราทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากและรวดเร็ว ความคิดความเชื่อหลายๆ อย่างถูกปรับให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่สิ่งที่น่าห่วงสำหรับสังคมไทยที่ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ คือการเปลี่ยนมุมมอง แนวคิดและพฤติกรรมการใช้เงินของคนไทย ที่นับวันจะยิ่งใช้จ่ายมากขึ้น ก่อหนี้มากขึ้น จนคิดว่า “ใช้ก่อน ผ่อนทีหลัง” เป็นเรื่องปกติ หนักเข้าก็เริ่มมีแนวคิด “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” เข้ามาแทนที่ จนแทบจะลืมคำสุภาษิตของครูกวีอย่างสุนทรภู่ที่ว่า “มีสลึง พึงบรรจบ ให้ครบบาท” ที่ปู่ย่าตายายชอบนำมาใช้สอนลูกสอนหลานให้รู้จักเก็บออมกันไปเสียแล้ว

การเปลี่ยนแปลงแนวคิดและพฤติกรรมเหล่านี้ของคนไทย ส่วนหนึ่งถูกกระตุ้นโดยกระแสสังคมที่นิยมความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย อีกส่วนหนึ่งถูกกระตุ้นโดยส่งผ่านสื่อโฆษณาและโปรโมชันล่อใจต่างๆ ที่บรรดาเหล่าผู้ขายสินค้า ต่างแข่งขันกันออกมาประชันกันเพื่อกระตุ้นยอดขาย ไม่เว้นแม้แต่สถาบันการเงิน ที่ระยะหลังๆ คำโฆษณาของบริการเงินกู้บางประเภทก็นิยมใช้ถ้อยคำที่ดึงดูดให้ผู้ที่มีเงินไม่พอใช้และผู้ไม่มีเงินเห็นว่าการได้เงินมาใช้ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเหมือนเก่าอีกต่อไป ขอเพียงมีสินทรัพย์มาแลกเป็นเงินแป๊บเดียวก็ได้เงินไปใช้แล้ว จนผู้สมัครขอใช้บริการบางรายที่อยากได้เงินมาใช้ ไม่รู้แม้กระทั่งว่าสัญญาหรือเงื่อนไขการขอใช้บริการเขียนไว้ว่าอย่างไร หรือผูกมัดอะไรกับตนบ้าง

จริงอยู่แม้การก่อหนี้จะไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดีเสมอไป แต่พฤติกรรมสมัยใหม่แบบ “ใช้ก่อนแล้วค่อยคิด” โดยเฉพาะการใช้บัตรเครดิตหรือบัตรผ่อนสินค้าเพื่อซื้อสิ่งของเครื่องใช้ฟุ่มเฟือยต่างๆ ตามกระแสความนิยม โดยลืมนึกถึงความจำเป็นในชีวิต ลืมนึกว่าจะหาเงินจากไหนมาชำระหนี้ ทำให้คนไทยเราเริ่มมีพฤติกรรมที่ขาดวินัยทางการเงินมากขึ้น บางคนเงินเดือนที่หามาได้ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้หนี้เก่าของเดือนก่อน บางรายยังหนักกว่านั้นคือชักหน้าไม่ถึงหลัง ยืมโน่น โปะนี่ เวียนว่ายจ่ายหนี้กันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กลายเป็นกับดักชีวิตที่ยากจะหลุดพ้น เมื่อไปถึงจุดที่ “ไม่มี ไม่หนี แต่ไม่จ่าย” พอเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดและมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินจริงๆ เช่น น้ำท่วมบ้านตัวเอง หรือคนในครอบครัวเจ็บป่วยกะทันหัน จะหันหน้าไปขอกู้จากสถาบันการเงินแห่งเดิมก็ไม่ได้เพราะหนี้เก่ายังจ่ายไม่หมด แม้จะไปหาสถาบันการเงินแห่งใหม่ก็ยังไม่ได้อีก เพราะประวัติสินเชื่อไม่น่าเชื่อถือ สถาบันการเงินเห็นแล้วหนักใจไม่กล้าปล่อย หนักๆ เข้าไม่รู้จะไปพึ่งใคร ก็ต้องหันไปพึ่งเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ แม้จะรู้ว่าดอกเบี้ยแพงมหาโหด สัญญาไม่เป็นธรรม และอาจถึงเลือดตกยางออกถ้าไม่มีจ่ายก็ต้องจำยอมเพราะเข้าตาจน เรียกว่า ยอมไปตายเอาดาบหน้า

ปัญหาหนี้ของคนไทยเหล่านี้มีทางออก เพียงแต่ต้องอาศัยความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจาก “ใช้ก่อนแล้วค่อยคิด” เป็น “คิดก่อนแล้วค่อยใช้” หันมายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พ่อหลวง โดยเริ่มจากการสำรวจสถานะทางการเงินของตัวเอง ทั้งเงินเข้า เงินออก วางแผนการใช้เงินอย่างระมัดระวัง จัดสรรเงินสำหรับการใช้จ่ายที่จำเป็นจริงๆ แน่นอนต้องรวมถึงภาระหนี้สินที่มีด้วย พยายามตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกเพื่อเอาเงินนั้นมาปลดหนี้เก่าให้มากที่สุด โดยเฉพาะหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงๆ เช่น หนี้นอกระบบ หนี้บัตรผ่อนสินค้า (คิดไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี) หนี้บัตรเครดิต (ร้อยละ 20 ต่อปี) ถ้าเงินที่มีไม่พอ อย่าก่อหนี้เพิ่ม ลองหาทางเพิ่มรายได้ด้วยวิธีสุจริตอื่น ลด ละ เลิก ความอยากมี อยากได้ อยากเป็น และเมื่อปลดหนี้ได้แล้ว ก็หันมาเริ่มเก็บออมก่อนใช้จ่าย เริ่มออมทีละเล็กทีละน้อย แล้วค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนไปเรื่อยๆ ทำบ่อยๆ จนกลายเป็นความเคยชิน ในที่สุดก็จะกลายเป็นความภาคภูมิใจและหันมามีนิสัยรักการออมเข้ามาแทนที่

หากท่านเป็นคนหนึ่งที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนใช้เงินเกินตัว ควรรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนี้ก่อนที่จะสายเกินไป อาจเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการอ่านบทความหรือการพูดคุยกับบุคคลที่ช่วยเพาะบ่มนิสัยรักการออม หรือหากสนใจกระบวนการวางแผนทางการเงินแบบง่ายๆ รวมทั้งข้อควรรู้เกี่ยวกับสินเชื่อประเภทต่างๆ สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ที่ Website ธนาคารแห่งประเทศไทย (www.bot.or.th) ภายใต้หัวข้อ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หรือลองแวะมาเยี่ยมชมงาน “สัปดาห์ความรู้ทางการเงิน” ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22-31 ต.ค. 2555 เวลา 09.00-16.00 น. (เว้นวันหยุดราชการ) ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย วังบางขุนพรหม โดยภายในงานจะมีการบรรยายให้ความรู้ทางการเงินจากผู้ทรงคุณวุฒิ มีการแสดงนิทรรศการทางการเงินต่างๆ อาทิ การวางแผนทางการเงิน สินเชื่อและดอกเบี้ย ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.bot.or.th หัวข้อสัปดาห์ความรู้ทางการเงิน หรือสอบถามได้ที่เบอร์ 02-283-6723 m