posttoday

เอ็กซิมแบงก์โบ้ยคลังเรียกคืนค่าเสียหายปล่อยกู้พม่าเอง

23 มีนาคม 2553

เอ็กซิมแบงก์ ชี้ หากคลังเห็นว่าปล่อยกู้พม่าเสียหายก็เอาผิดได้ แต่ยืนยันยูเอ็นรับรองการปล่อยกู้และพม่ายังชำระเงินกู้เป็นปกติ

เอ็กซิมแบงก์ ชี้ หากคลังเห็นว่าปล่อยกู้พม่าเสียหายก็เอาผิดได้ แต่ยืนยันยูเอ็นรับรองการปล่อยกู้และพม่ายังชำระเงินกู้เป็นปกติ

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ เอ็กซิมแบงก์ กล่าวว่า ธสน.ไม่ได้รับความเสียหายจากการปล่อยกู้ 4,000 ล้านบาท ให้รัฐบาลพม่า เพราะได้รับคืนเงินต้นและดอกเบี้ยมาโดยตลอด แต่หากกระทรวงการคลังเห็นว่า การปล่อยกู้พม่ามีความเสียหายทำให้รัฐบาลต้องชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ย ก็เป็นหน้าที่กระทรวงการคลัง ที่จะไปดำเนินการเอาผิดเอง

“เงินชดเชยดอกเบี้ย ที่ผ่านมารัฐบาลอนุมัติจนถึงปี 2553 รวม 338 ล้านบาท โดยความเห็นของธสน. เงินส่วนนี้มองว่าเป็นเงินที่ช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน ที่พัฒนาช้ากว่า ซึ่งองค์การสหประชาชาติก็รับรองส่วนนี้มาแล้ว แต่ถ้าคลังเห็นว่าทำให้เกิดความเสียหาย ก็สามารถดำเนินการเอาผิดเรียกค่าเสียหายคืนได้” นายณรงค์ชัย กล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารอยู่ระหว่างรวบรวม คัดคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดียึดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวการอนุมัติเอ็กซิมแบงก์ ปล่อยกู้รัฐบาลพม่า อยู่ระหว่างสรุปประเด็นความเสียหายได้ เพื่อเสนอนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง พิจารณา ตัดสินใจดำเนินการต่อไป

นายณรงค์ชัย กล่าวว่า เงินกู้ 4,000 ล้านบาทให้กับรัฐบาลพม่า เป็นการสั่งซื้อที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่เกี่ยวกับอดีตนายกฯแค่ 600 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการสั่งซื้อจากบริษัท ผู้ประกอบการไทยรายอื่น แต่ถ้ารัฐเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องเรียกร้องค่าเสียหายคืนก็ดำเนินการได้

สำหรับการกู้พม่า รัฐบาลไทยอนุมัติรัฐบาลกู้ในปี 2547 วงเงิน 4,000 ล้านบาท 12 ปี ปลอดส่งต้น 5 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 3% ขณะที่ต้นทุนของธนาคารในขณะนั้นต้นทุนธนาคารอยู่ที่ 5% มีส่วนต่างดอกเบี้ย 2% ที่รัฐบาลต้องชดเชย หรือคิดเป็นวงเงินชดเชยดอกเบี้ยปีละ 80 ล้านบาท